ล้มประมูลดาวเทียม ประเทศต้องไม่เสียประโยชน์

ล้มประมูลดาวเทียม ประเทศต้องไม่เสียประโยชน์

การที่ "กสทช." ลงมติ "ล้มประมูลดาวเทียม" ครั้งนี้ มีเหตุผลหลัก ๆ คือต้องการให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม แต่หากต้องรอการประมูลรอบใหม่ไปอีก 1-2 ปี อาจทำให้ประเทศต้องเสียประโยชน์หรือไม่

การอนุญาตให้ใช้สิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมลักษณะจัดชุด (Package) ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. กำหนดประมูล 28 ส.ค.นี้ ถูก “ยกเลิก” เรียบร้อย ภาษาบ้านๆ คือ “ล้มประมูล”

ประมูลครั้งนี้หากเกิดขึ้นจะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของไทยที่กิจการดาวเทียม ซึ่งถูกสัมปทานครอบงำมากว่า 30 ปี จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ใบอนุญาต” บอร์ด กสทช.ให้เหตุผลว่าที่ต้องล้ม เพราะต้องกลับไปทบทวนหลักเกณฑ์ประมูลให้เปิดกว้าง เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม เพราะครั้งนี้แม้มีผู้สนใจขอรับเอกสารประมูลไป 3 ราย คือ มิวสเปซ, ทีซี สเปซ คอนเน็ค ซึ่งเป็นบริษัทลูกของไทยคม และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ "เอ็นที" แต่สุดท้ายมีเพียงบริษัทลูก "ไทยคมบริษัทเดียว" ที่ยื่นเอกสารขอเข้าประมูล

ผลครั้งนี้ทำให้ “ไทยคม” ไม่ได้สิทธิให้บริการช่วงรอยต่อเพราะสัมปทานดาวเทียมที่ทำไว้กับกระทรวงดีอีเอส หรือกระทรวงไอซีทีในสมัยนั้นจะสิ้นสุดลงวันที่ 10 ก.ย.นี้ หลังจากนั้นกิจการดาวเทียมทั้งหมดของไทย จะตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐผ่านบริษัท “เอ็นที” ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงของดีอีเอส และเอ็นที จากมติคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติและบอร์ดดีอีที่เห็นชอบให้ เอ็นทีรับช่วงบริหารจัดการทรัพย์สินดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศหลังสิ้นสุดสัมปทานกับไทยคม เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องการให้บริการ รวมทั้งรักษาสิทธิตำแหน่งวงโคจรของไทย โดยเฉพาะดาวเทียมไทยคม 4 และดาวเทียมไทยคม 6 ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล

การเปลี่ยนมือบริหารกิจการดาวเทียมจาก “เอกชน” มาสู่รัฐวิสาหกิจอย่าง “เอ็นที” ที่เกิดจากการรวมร่างระหว่าง ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม จะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือชั้นดีว่า “เอ็นที” จะทำงานนี้ “รุ่ง” หรือ “ร่วง” เพราะแม้ช่วงต้นอาจยังมีไทยคมเป็นพี่เลี้ยง แต่ระยะยาว เมื่อได้ทรัพย์สินมาบริหารเอง เอ็นทีต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ามีฝีมือที่จะทำให้เกิดดอกผลงอกเงยได้มากน้อยเพียงใด หรือท้ายที่สุดอาจจะจบลงที่การให้สิทธิเอกชนซึ่งอาจเป็น “ไทยคม” หรือรายอื่น เข้ามาเช่าและบริหารแทน ส่วน “เอ็นที” ก็เก็บ “ค่าต๋ง” เหมือนเช่นอดีต

อีกเหตุผลสำคัญที่บอร์ด กสทช.ลงมติล้มประมูลครั้งนี้ คือ จดหมายทักท้วงจาก “ดีอีเอส” ขอให้รอบอร์ด กสทช.ตัวจริงที่อยู่ระหว่างเฟ้นหาจะแล้วเสร็จในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า หากไม่เจออุบัติเหตุใด ๆ เสียก่อน เพราะการอนุญาตให้ไลเซ่นประกอบธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งย่อมกินเวลานานมากกว่า 15 ปี มีภาระผูกพันในประเด็นข้อกฎหมายนับไม่ถ้วน บอร์ดรักษาการคงหวั่นใจไม่น้อยหากยอมให้เกิดการประมูลแล้วพบว่ามีเพียงรายเดียว สุ่มเสี่ยงจะเกิดคดีความฟ้องร้องกันอีก

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การล้มประมูลดาวเทียมครั้งนี้ หากเลื่อนไปเพื่อรอบอร์ดกสทช.ใหม่อีก 2 เดือน คงไม่ถือว่าเป็นปัญหาอะไร แต่หากลากยาวไปอีก 1-2 ปี หรือเจอเรื่องไม่คาดฝัน เช่น ล้มการสรรหาบอร์ดกสทช.ชุดใหม่อีกรอบ จะเกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า ใครกันที่ทำให้เกิดสุญญากาศจากการไม่มี “ดาวเทียมดวงใหม่” ยิงขึ้นสู่บนอวกาศ หรือไทยต้องเสียสิทธิวงโคจรที่ได้รับอนุญาตจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ....เมื่อถึงเวลานั้นใครจะเป็นผู้ยืดอกรับผิดชอบ!!