ฟ้าผ่า‘ไทยคม’ล้มประมูลดาวเทียม ยังไม่หมดหวัง! รอลุ้น‘เอ็นที’ให้บริหารต่อ

ฟ้าผ่า‘ไทยคม’ล้มประมูลดาวเทียม ยังไม่หมดหวัง! รอลุ้น‘เอ็นที’ให้บริหารต่อ

เหมือนฟ้าผ่าดังเปรี้ยง! หลังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สั่งล้มประมูลวงโคจรดาวเทียม ทั้งๆ ที่เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 10 วันเท่านั้น จากกำหนดการเดิมที่จะจัดประมูลในวันที่ 28 ส.ค. นี้

โดยให้เหตุผลว่าอาจไม่ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี หลังมีผู้ยื่นประมูลเข้ามาเพียงรายเดียว คือ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM จึงตัดสินใจยกเลิกการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด

การประมูลดาวเทียมครั้งนี้ถือเป็นการประมูลครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่จะเปลี่ยนผ่านจากระบบ “สัมปทาน” ไปสู่ “ใบอนุญาต” โดยที่ผ่านมามี 3 บริษัทที่แสดงความสนใจและมาขอรับเอกสารการประมูล ได้แก่ บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด ที่ไทยคมถือหุ้น 100%, บริษัท มิวสเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (เอ็นที)

แต่สุดท้ายมีแค่กลุ่มไทยคมที่ยื่นประมูลเข้ามาเพียงรายเดียว แม้ว่าจะมีการขยายเวลาเปิดรับเอกสารและยื่นคำขอรับใบอนุญาตออกไปแล้วก็ตาม จนต้องยกเลิกการประมูลในที่สุด

ก่อนหน้านี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ส่งหนังสือไปถึง กสทช.ชุดรักษาการ ขอให้ชะลอการเปิดประมูลดาวเทียมออกไปก่อน และรอ กสทช. ชุดใหม่ ที่อยู่ระหว่างการสรรหาเข้ามาดำเนินการ

ขณะเดียวกันบอร์ดนโยบายอวกาศแห่งชาติและบอร์ดดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้ “เอ็นที” เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ หลังสัญญาสัมปทานกับไทยคมกำลังจะสิ้นสุด

ดังนั้น เมื่อการประมูลยังไม่เกิดขึ้น คนที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนี้ไม่พ้น “ไทยคม” เพราะสัมปทานดาวเทียมไทยคม 4 หรือ ไอพีสตาร์ และดาวเทียมไทยคม 6 ที่รับโอนย้ายลูกค้ามาจากดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งถูกปลดระวางตั้งแต่ปีก่อน กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 10 ก.ย. นี้

ทำให้ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. 2564 เป็นต้นไป การดูแลกิจการดาวเทียมทั้งหมดของประเทศไทยจะอยู่ภายใต้การกับดูแลของ “เอ็นที” ส่วนดาวเทียมของไทยคมอีก 2 ดวง คือ ไทยคม 7 และ ไทยคม 8 ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการ หลังมีข้อพิพาทว่าจะจัดเป็นดาวเทียมตามสัญญาสัมปทานหรือดาวเทียมที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ตาม พ.ร.บ.กสทช. กันแน่

เท่ากับว่าหลังวันที่ 10 ก.ย. นี้ รายได้จากการบริการดาวเทียมของไทยคมจะเหลือเพียงแค่ 2 ดวงเท่านั้น คือ ไทยคม 7 และ ไทยคม 8 ส่วนไทยคม 4 ซึ่งเป็นรายได้หลักจากการให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการใน 14 ประเทศ เช่นไทย ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฯลฯ และไทยคม 6 จะไม่มีเข้ามาแล้ว

ส่วนที่หวังว่าจะมีรายได้จากวงโคจรใหม่ที่จะเปิดประมูลเข้ามาชดเชย ต้องเลื่อนออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด ยังไม่รู้ว่า กสทช. จะกลับมาเปิดประมูลเมื่อไหร่? รวมทั้งจะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหลักเกณฑ์ด้วยหรือไม่?

แต่ใช่ว่าจะมีแค่ข่าวร้ายอย่างเดียว พราะบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่าเมื่อ “เอ็นที” เข้ามารับหน้าที่บริหารจัดการดาวเทียมทั้งหมดของประเทศ มีโอกาสที่จะดึงไทยคมเข้ามารับช่วงต่อ เพราะต้องยอมรับว่าในประเทศไทย ไทยคมมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้มากที่สุด

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า การที่ กสทช. ยกเลิกประมูลดาวเทียมชั่วคราวถือเป็นจิตวิทยาเชิงลบต่อ THCOM แต่จะยังไม่มีผลต่อประมาณการและปัจจัยพื้นฐานของฝ่ายวิจัย เพราะวงโคจรที่นำมาประมูลตามกำหนดต้องใช้เวลาสร้าง 1-2 ปี โดยจะเริ่มสร้างรายได้บริการเชิงพาณิชย์ในปี 2566 ขึ้นไป 

ขณะที่สมมติฐานของฝ่ายวิจัยยังไม่ได้รวมปัจจัยบวกจากการประมูลและการเจรจาเป็นพันธมิตรเพื่อบริหารดาวเทียมสัมปทานต่อไว้ในประมาณการ โดยมีราคาเป้าหมายของปี 2565 ในกรณี Worst Case ที่ 5.20 บาท ยังคงคำแนะนำขายทำกำไร

ทั้งนี้ มองว่าหากมีความคืบหน้าในการเจรจาเป็นพันธมิตรกับ “เอ็นที” เพื่อบริหารดาวเทียมสัมปทานต่อ ซึ่งคาดมีความชัดเจนในช่วงปลายเดือนนี้ และกำหนดการประมูลใหม่หากไม่เกิน 1 ปี ฝ่ายวิจัยประเมินว่าจะไม่มีผลต่อราคาเป้าหมายในกรณี Best Case ที่ 10 บาท อย่างมีนัยสำคัญ โดยมองว่าช่วงดังกล่าวจะเป็นโอกาสของการขายทำกำไรอีกครั้ง