‘กรมพระศรีสวางควัฒนฯ’ ทรงบรรยายรายวิชา ผ่านระบบออนไลน์พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ศิริราชพยาบาล ครั้งที่ 5

‘กรมพระศรีสวางควัฒนฯ’ ทรงบรรยายรายวิชา ผ่านระบบออนไลน์พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ศิริราชพยาบาล ครั้งที่ 5

“กรมพระศรีสวางควัฒนฯ” ทรงบรรยายรายวิชา ผ่านระบบออนไลน์ พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 4 และ 5 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2564 เป็นครั้งที่ 5 ณ ตำหนักทิพย์พิมาน จังหวัดนครราชสีมา

วันนี้  (18 ส.ค.64) เวลา  12.51 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ตำหนักทิพย์พิมาน ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทรงบรรยายรายวิชา ผ่านระบบ Online พระราชทานแก่ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 และ 5 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2564 เป็นครั้งที่ 5  

162929297531

ต่อเนื่องจากทรงบรรยายครั้งที่ผ่านมาเรื่อง อองโคยีน หรือยีนก่อมะเร็ง ชึ่งในครั้งนี้จะทรงบรรยายถึงยีนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ทิวเมอร์-ซัพเพรสเซอร์-ยีนส์ ที่ทำหน้าที่ตรงข้ามกับอองโคยีน และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการการเกิดมะเร็งในภาวะปกติ ยีนกลุ่มนี้ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ในหลายลักษณะ โดยจะสร้างโปรตีนที่มีหน้าที่ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์ไม่ให้มีปริมาณมากเกินไป และยังมีบทบาทในการควบคุมการตายของเซลล์เมื่อเซลล์สิ้นอายุขัย หรือเมื่อมีความผิดปกติของ ดีเอ็นเอ หรือโครโมโซม  ซึ่งไม่สามารถซ่อมแซมได้แล้ว ดังนั้น เมื่อยีนเหล่านี้เกิดความผิดปกติ  เช่น การกลายพันธุ์หรือสูญหายไปจากเซลล์ ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ในยับยั้งหรือควบคุมการเจริญของเซลล์ เซลล์จึงจะมีการเพิ่มจำนวนอย่างไม่หยุดยั้ง และจะทำให้เกิดมะเร็งขึ้นในที่สุด ระหว่างการบรรยาย ทรงยกตัวอย่างยีนยับยั้งการเกิดมะเร็งที่มีความสำคัญ และมีการศึกษาเป็นอย่างมาก ได้แก่ 

162929297549

ยีน p53 ซึ่งพบว่า มีการกลายพันธุ์ของยีนนี้บ่อยที่สุดในมะเร็งที่พบในคน โดยที่ยีน p53 จะสร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่จำเพาะในการป้องกันการเกิดเซลล์ที่ผิดปกติ คือมีบทบาทเสมือนตำรวจคอยตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้น ผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน และเป็นกลไกการป้องกันไม่ให้เกิดการแบ่งตัวหากมีความผิดปกติขึ้นในสารพันธุกรรมในเซลล์นั้น 

จากนั้นทรงบรรยายถึงกลไกการควบคุมการทำงานของยีนนี้ในรายละเอียดและทรงยกตัวอย่างการศึกษาการเกิดการกลายพันธุ์ของยีน p53  ในโรคมะเร็งหลอดอาหาร และ มะเร็งลำไส้ ในตอนท้าย ได้ทรงสรุป  เปรียบเทียบคุณลักษณะของอองโคยีน (Oncogenes )และ ทิวเมอร์-ซัพเพรสเซอร์-ยีนส์ (Tumor Suppressor Genes) ให้นักศึกษาเข้าใจชัดเจนมากยิ่งขึ้น เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งในระดับโมเลกุล อันจะนำไปสู่การพัฒนายาและการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น 

162929297675

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมุ่งมั่น และมีพระวิริยะอุตสาหะ ทรงบรรยายรายวิชาดังกล่าว ด้วยความตั้งพระทัย โดยมีพระประสงค์ พระราชทาน ความรู้แก่นักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2564 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถนำไปต่อยอดช่วยเหลือประชาชนได้ต่อไป นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่มีต่อนักศึกษาแพทย์ เป็นล้นพ้น