ฟ้าผ่า 'ไทยคม' บอร์ด 'กสทช.' ลงมติล้มประมูลดาวเทียม 28 ส.ค.นี้

ฟ้าผ่า 'ไทยคม' บอร์ด 'กสทช.' ลงมติล้มประมูลดาวเทียม 28 ส.ค.นี้

ล้มประมูลดาวเทียม ดับฝัน "ไทยคม" !! บอร์ด "กสทช." ลงมติล้มประมูลดาวเทียม 28 ส.ค.นี้แล้วหลังมีเอกชนรายเดียวยื่นซองประมูล ชี้ต้องทบทวนหลักเกณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องสถานการณ์ ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรมมากที่สุด

หลังฝุ่นตลบอยู่นานกว่า 1 เดือนในที่สุด “บอร์ดกสทช.” มีมติหลังจากประชุมให้ยกเลิกการประมูลวงโคจรดาวเทียม ที่ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ในประเทศไทย เปลี่ยนผ่านจากระบบ “สัมปทาน” ไปสู่ “ใบอนุญาต” ทำให้เอกชนเพียงรายเดียวที่ยื่นความจำนงขอเข้าเสนอราคาคือ “ไทยคม” จะไม่ได้สิทธิในการให้บริการในช่วงรอยต่อ เพราะไทยคมเองมีกำหนดสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับกระทรวงดีอีเอส หรือ กระทรวงไอซีทีในสมัยนั้นลงในวันที่ 10 ก.ย.นี้ และในวันที่ 11 ก.ย.เป็นไปต้นไป การดูแลกิจการดาวเทียมทั้งหมดของประเททศไทย จะตกอยู่ภายในอำนาจของรัฐผ่านบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงใหม่เกี่ยวกับการประมูล จึงได้มีมติให้ทบทวนมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 13/2564 วาระที่ 5.2.17 เรื่อง การดำเนินการตามกระบวนการคัดเลือกและวันจัดการประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package)

162927352088

จากนั้นที่ประชุม กสทช. ได้มีมติยกเลิกการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ที่กำหนดจัดประมูลในวันที่ 28 ส.ค. 2564 ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอเนื่องจากมีผู้ยื่นขอรับอนุญาตฯ เพียงรายเดียว คือบริษัทลูกของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) อาจไม่ทำให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรมในการประมูล อย่างไรก็ดี ไทยคมจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 11 ก.ย.นี้ 

พร้อมให้คืนค่าหลักประกันการประมูลและค่าพิจารณาคำขอรับอนุญาตแก่ผู้รับเอกสารการคัดเลือกทุกราย รวมถึงให้สำนักงานฯ ไปปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ให้มีความเหมาะสม เพื่อรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรมในการประมูล

ด้านไทยคมเองนั้น ไม่ขอออกความเห็นใดๆในขณะนี้ รอจนกว่าจะได้เอกสารชี้แจงจากบอร์ดกสทช.อย่างเป็นทางการ

162927320437

สิ้นสุดอายุสัมปทาน30ปี

ทั้งนี้ ชุดข่ายงานดาวเทียมทั้ง 4 ชุด ที่จะนำมาประมูลในครั้งนี้ ได้แก่ ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาขั้นต่ำ 676.914 ล้านบาท ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาขั้นต่ำ 366.488 ล้านบาท ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาขั้นต่ำ 392.950 ล้านบาท และชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และ วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาขั้นต่ำ 364.687 ล้านบาท

โดยการประมูลวงโคจรดาวเทียมดังกล่าวนี้ จะเป็นครั้งแรกที่จะเกิดการอนุญาตและเปิดตลาดเสรีดาวเทียมไทย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบการอนุญาต โดยสัมปทานดาวเทียมไทยคมถือเป็นสัมปทานด้านการสื่อสารสุดท้ายของประเทศไทยที่จะสิ้นสุดในวันที่ 10 ก.ย. 2564 นี้รวมระยะเวลา 30 ปี 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา ได้มีมติเลื่อนประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (แพคเก็จ) เป็นวันที่ 28 ส.ค.2564 จากเดิมวันที่ 24 ก.ค.2564

หลังจากมี บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 100% เข้ามายื่นคำขอรับอนุญาตเพียงรายเดียว จากที่มีผู้สนใจขอรับเอกสารการคัดเลือกการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุดไปจำนวน 2 ราย คือ บริษัท มิวสเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด และ บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด

ประกอบกับก่อนหน้านี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้ส่งหนังสือถึง กสทช.ชุดรักษาการ เพื่อขอให้ชะลอการเปิดประมูลออกไป และรอ กสทช.ชุดใหม่ ที่อยู่ในกระบวนการสรรหา เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการนั้น เพราะการประมูลมีความเกี่ยวพันกับการให้ใบอนุญาตมากกว่า 15 ปี จึงควรเป็นหน้าที่ของบอร์ดใหม่ดีกว่าให้บอร์ดรักษาการเป็นผู้ดำเนินการประมูล

จับตาเอ็นทีรับช่วงบริหารแทน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมาได้มีการลงนามในสัญญามอบสิทธิบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศภายหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ระหว่างดีอีเอสกับเอ็นทีตามมติของคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เห็นชอบให้ เอ็นที เป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ จนสิ้นสุดอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียม หลังจากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับไทยคม

การมอบสิทธิให้เอ็นทีเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินของโครงการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ ที่จะมีการโอนคืนมาให้กับรัฐ หลังการสิ้นสุดสัมปทานไทยคม จะสร้างความต่อเนื่องในการให้บริการ รวมทั้งเป็นการรักษาสิทธิในตำแหน่งวงโคจรของประเทศไทย ทั้งดาวเทียมไทยคม 4 (119.5 องศาตะวันออก) และดาวเทียมไทยคม 6 (78.5 องศาตะวันออก) ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงไว้ได้

ส่วนดาวเทียมอีก 2 ดวงที่เป็นของไทยคมคือ ไทยคม 7 (120 องศาตะวันออก) และ ไทยคม 8 (78.5 องศาตะวันออก) เป็นดาวเทียมที่อยู่ในข้อพิพาทว่าเป็นดาวเทียมตามสัญญาสัปมทานหรือดาวเทียมที่ได้รับใบอนุญาตจากกสทช.ตามพ.ร.บ องค์การจัดสรรฯ (พ.ร.บ.กสทช.) ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการมากว่า 2 ปีแล้ว ยังไม่ได้ข้อยุติแต่อย่างใด