เปิดแผนจัดหาวัคซีน 168 ล้านโดส ทยอยส่งมอบถึงเดือน มี.ค.65

เปิดแผนจัดหาวัคซีน 168 ล้านโดส ทยอยส่งมอบถึงเดือน มี.ค.65

“สาธารณสุข” ชงแผนจัดหาวัคซีน 168 ล้านโดส ครม.อนุมัติงบ 9.3 พันล้าน ซื้อไฟเซอร์ 20 ล้านโดส พร้อมให้สั่งเพิ่มอีก 10 ล้านโดส นำเข้าไตรมาส 4 กรมควบคุมโรคเจรจาให้เร่งเร็วกว่าแผน

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ส.ค.2564 มีการพิจารณาจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อฉีดให้กับประชาชนหลังจากที่กรมควบคุมโรคได้ลงนามกับไฟเซอร์และไบออนเทค เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2564 เพื่อซื้อวัคซีนไฟเซอร์ให้ประชากรกลุ่มเป้าหมาย 20 ล้านโดส ในขณะที่ ครม.ล่าสุดให้กระทรวงสาธารณสุขซื้อวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มอีก 10 ล้านโดส รวมเป็น 30 ล้านโดส

แหล่งจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่ามีแผนที่จะฉีดวัคซีนให้ประชากรที่อยู่ในประเทศไทย 70% ภายในปี 2564 ซึ่งมีการเสนอแผนการจัดหาวัคซีน 168 ล้านโดส โดยมีระยะเวลาการส่งมอบตั้งแต่เดือน ก.พ.2564-มี.ค.2565 แบ่งการจัดหาเป็น 5 กลุ่ม คือ

1.วัคซีนซิโนแวค 19.5 ล้านโดส มีระเวลาการส่งมอบตั้งแต่ ก.พ.-ส.ค.2564 ใช้งบกลางจัดหา 7.6 ล้านโดส ใช้งบจาก พ.ร.ก.กู้เงินจัดหา 10.9 ล้านโดส และรับบริจาคจากจีน 1 ล้านโดส

2.วัคซีนแอสตร้า เซเนก้า 62.46 ล้านโดส มีระยะเวลาการส่งมอบตั้งแต่ ก.พ.-ธ.ค.2564 เป็นการใช้งบกลางจัดหา 26 ล้านโดส ใช้งบจาก พ.ร.ก.กู้เงินจัดหา 35 ล้านโดส รับบริจาคจากญี่ปุ่น 1.05 ล้านโดส รับบริจาคจากสหราชอาณาจักร 415,000 โดส

3.วัคซีนไฟเซอร์ 31.5 ล้านโดส มีระยะเวลาการส่งมอบตั้งแต่ ส.ค.-ธ.ค.2564 เป็นการใช้งบจาก พ.ร.ก.กู้เงินจัดหา 30 ล้านโดส และรับบริจาคจากสหรัฐ 1.5 ล้านโดส

4.วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 5 ล้านโดส ระยะเวลาการส่งมอบ ธ.ค.2564 โดยทั้งหมดเป็นการใช้งบจาก พ.ร.ก.กู้เงินจัดหา

5.วัคซีนซิโนแวค วัคซีนแอสตร้า เซเนก้า และวัคซีนอื่นๆ 50 ล้านโดส ระยะเวลาการส่งมอบ ม.ค.-มี.ค.2565 โดยทั้งหมดเป็นการใช้งบจาก พ.ร.ก.กู้เงินจัดหา

162920698649

อนุมัติซื้อไฟเซอร์30ล้านโดส

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วันที่ 17 ส.ค.2564 มีมติเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในไทยโดยให้มีการอนุมัติงบประมาณจากเงินกู้ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงิน 9.37 พันล้านบาทเพื่อซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส 

โดยกรอบวงเงินดังกล่าวแบ่งเป็นค่าวัคซีน 8.44 พันล้านบาท และการบริหารจัดการ 933.6 ล้านบาท มีช่วงระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ ส.ค.-ธ.ค. โดยกลุ่มเป้าหมายสามารถปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรค โดยโครงการนี้อยู่ภายใต้โครงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม ของกรมควบคุมโรค ตามนโยบายรัฐบาลที่จะจัดหาวัคซีนให้แก่ประชาชน 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 สำหรับสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

“ขณะนี้มีผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่หลากหลาย รัฐบาลจึงเห็นควรให้มีจัดหาวัคซีนที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่แตกต่างกันให้สามารถครอบคลุมการกลายพันธุ์ของไวรัส โควิด-19 ที่มีอยู่ทั่วโลกทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แก่คนไทยได้อย่างแท้จริง ลดอัตราการป่วย การเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว”นายอนุชา กล่าว 

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้มีการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติมอีก 10 ล้านโดส  พร้อมมอบให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามกับผู้แทนบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัดและไบออนเทค ทำให้การจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA เพิ่มอีก 10 ล้านโดสจำนวนเป็น 30 ล้านโดส ซึ่งจะเริ่มทยอยจัดส่งในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 นี้ 

เร่งไฟเซอร์ส่งมอบเร็วขึ้น

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ให้ ครม.รับทราบว่า การพิจารณาเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2564 ได้ให้กรมควบคุมโรคเร่งปรับแผนการจัดหาวัคซีนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันทั้งประเภทและปริมาณของวัคซีน และระยะเวลาที่คาดว่าจะได้รับมอบวัคซีนในช่วงที่เหลือของปี 2564 และในช่วงปี 2565 เพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนได้ประสิทธิภาพสูงสุด และไม่มีปัญหาการเข้าถึงวัคซีนเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ประชาชนได้อย่างน้อย 70% ภายในปี 2564 ตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรครายงานว่าจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ได้ในเดือน ต.ค.2564 ตามสัญญาที่ลงนามไว้กับบริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด แต่กรมควบคุมโรคได้ประสานเพื่อเร่งรัดการส่งมอบวัคซีนให้เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ รวมทั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ต้องการให้กรมควบคุมโรคจัดหาวัคซีนที่มีเทคโนโลยีหลากหลาย เพื่อให้ครอบคลุมการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่มีอยู่ทั่วโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง

รวมทั้งต้องการให้กรมควบคุมโรควางแผนความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายตามแผนที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ