"ขยะพลาสติก" คุ้มค่าต่อการนำเข้าหรือ? 

"ขยะพลาสติก" คุ้มค่าต่อการนำเข้าหรือ? 

เมื่อรัฐเปิดทางให้นำเข้า“ขยะพลาสติก” ได้ ก่อนจะห้ามนำเข้าอีก 5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้นประเทศไทยอาจกลาย‘ถังขยะโลก’

ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศเกณฑ์เศษพลาสติกที่นำเข้าว่า ต้องไม่ใช่ ขยะพลาสติก และอนุญาตนำเข้าได้เฉพาะประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาบาเซล (Basel Convention) เท่านั้น 

ต่อมาปี 2551 มีประกาศกฎกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับใหม่ ตัดข้อความนำเข้าเฉพาะประเทศที่ให้สัตยาบันฯออกไป แล้วเปิดเสรีให้นำเข้าได้

ในปี 2561 หลังจากประเทศจีนประกาศห้ามนำเข้า ขยะพลาสติก โดยเด็ดขาด ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ประเทศไทยตรวจสอบพบการนำเข้าขยะพลาสติกโดยสำแดงเท็จจำนวนมากจากจีน ทำให้เกิดกระแสคัดค้าน มีการรณรงค์และยื่นหนังสือถึงสภาอุตสาหกรรม รัฐบาลมีมติประกาศห้ามไม่ให้นำเข้าขยะพลาสติกอีกต่อไปในเดือนสิงหาคม

แต่แรงกดดันจากภาคอุตสาหกรรม ทำให้คณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปรับเปลี่ยนมาตรการ ‘ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกโดยเด็ดขาด’ ตามมติเดือนสิงหาคม 2561 เปิดทางให้นำเข้าได้ตามมติใหม่วันที่ 25 มกราคม 2563

แล้วค่อยห้ามนำเข้าในอีก 5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ระหว่างนี้ก็นำเข้าได้แต่ลดสัดส่วนลงทุกปีแล้วเพิ่มสัดส่วนในประเทศแทน โดยปี 64 นำเข้าได้ไม่เกิน 250,000 ตัน

162870722592

  •  สุขภาพและสิ่งแวดล้อมสำคัญกว่า

ในเรื่องนี้ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ มีความคิดเห็นว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญในเรื่องของคนและสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม pm 2.5 ระบบนิเวศเสื่อมโทรม จึงออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะทุกประเภท เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและคุ้มครองสุขภาพประชาชน จีนทำหนังสือไปที่องค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 เพื่อชี้แจงว่าจีนไม่ได้ขัดต่อหลักการค้าเสรีหรืออนุสัญญาต่างๆ แต่การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและคนสำคัญกว่า

ปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 กระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่าโรงงานมีความต้องการเศษพลาสติกอย่างน้อย 46 โรงงาน ที่มีกำลังการผลิตรวมกัน 530,000 ตันต่อปี ต้องการนำเข้า 680,000 กว่าตัน กรมควบคุมมลพิษ เสนอมาตรการนำเข้าเศษพลาสติกต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

จากห้ามนำเข้าเด็ดขาดตั้งแต่สิ้นเดือนกันยายน 2563 มาผ่อนผันให้นำเข้าได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ถึง สิงหาคม 2563  แล้วค่อยๆ ลดปริมาณลงปีละ 20% จนถึงมกราคม 2569 จึงจะห้ามนำเข้าเศษพลาสติกโดยสิ้นเชิง

โรงงานจีนมีความพยายามเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เช่น ต.น้ำพุ จ.ราชบุรี ก็มีการคัดค้านเรื่องนี้อยู่ มีโรงงานที่มีกำลังผลิต 30,000 กว่าตัน ทำหนังสือถึงกรมควบคุมมลพิษ ขอออกใบอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติก ทางด้านกรมอุตสาหกรรมพลาสติกก็กดดันให้ขยายการนำเข้าพลาสติกออกไปอีก 5 ปี”

  • นำเข้าขยะ ซาเล้งอาจขาดรายได้

ทางด้าน ชัยยุทธ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและรับซื้อของเก่า ผู้ได้รับผลกระทบอย่างหนักกับการนำเข้า ขยะพลาสติก บอกว่า ทำให้ระบบการรับซื้อขายขยะขาดทุน และคนก็ไม่แยกขยะอีกต่อไป

การนำเข้าขยะพลาสติกส่งผลกระทบต่อพวกเรามาก ในการประชุมวันที่ 15 สิงหาคม 2561 มีมติยกเลิกนำเข้าเศษพลาสติกอย่างชัดเจนภายใน 2 ปีคือ แต่ผ่อนผันนำเข้าได้ตามที่กำหนด 2561-2563 โดยในปี 2561 อนุญาตให้นำเข้าได้ไม่เกิน 70,000 ตัน ต่อมาปี 2562 นำเข้าได้ไม่เกิน 40,000 ตัน และปีที่ 3 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 ก็ห้ามนำเข้าเด็ดขาด นั่นคือข้อกำหนด 

พอปี 2559 จีนปิดประเทศไม่นำเข้าขยะจากต่างประเทศ ปี 2560 ก็มีการนำเข้าขยะพลาสติกแบบก้าวกระโดด จากปี 2558 นำเข้าเฉลี่ย 50,000 กว่าตัน มาปี 2560 เพิ่มเป็น 500,000 กว่าตัน ถึงสิบเท่าตัว 

ซึ่งในช่วง 3 ปีนี้มีการนำเข้าทั้งสิ้น 1,026,000 กว่าตัน ส่งออก 412,000 กว่าตัน สิ่งที่เหลืออยู่ 3 ปีที่ยังอยู่ในแผ่นดินไทย 614,600 กว่าตัน ขวดเพ็ทใสๆ ที่ราคา 3-4 บาท แต่ซาเล้งรับซื้อจากชาวบ้านได้เพียงกก.ละ 1 บาท-1.50 ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เก็บขาย ทิ้งขว้าง ทำให้มีขยะเพิ่มขึ้น ปกติแล้วในเมืองไทยมีค่ากำจัดขยะ ตันละ1,700 บาท นั่นคือเงินภาษีของประชาชน ส่วนซาเล้งเองก็ไม่มีรายได้"

162870728054

  •  ข้อเสนอภาคประชาชน

ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน พีรดา ปฏิทัศน์ ประธานบริหาร วิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรี และอีก  72 องค์กร ได้จัดงานแถลงข่าวในวันที่ 5 สิงหาคม 2564 เพื่อประกาศว่า จะไปยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ต่อรัฐบาลในเร็วๆ นี้ 

เธอเห็นว่า หมดระยะเวลานำเข้าแล้ว และไม่ควรต่ออายุ ทำให้พวกเราต้องกลับมาคัดค้านอีกครั้ง

"ในช่วงโควิด พี่น้องซาเล้งที่ทำมาหากินก็ลำบากอยู่แล้ว ยังมีกระบวนการเอากฎหมายมาเป็นอุปสรรคอีก ประชาชนระดับฐานรากก็เจอปัญหา ในฐานะเครือข่ายองค์กรประชาสังคม เรารู้สึกผิดหวังกับคณะอนุกรรมการที่ประกาศ ณ วันที่ 25 มกราคม 2563 มันส่งผลกระทบกับพี่น้อง

การทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการแปรรูปเศษวัสดุจากต่างประเทศ แล้วส่งออก การลงทุนแบบนี้สร้างความไม่เป็นธรรมและสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงต่อประเทศไทย ทิ้งกากของเสียและมลพิษให้กับประชาชนคนไทย ขอให้มีการทบทวนกฎหมาย ที่มีการกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตปลอดอากร เขตประกอบการเสรี"

  • เขตปลอดอากร คือ ช่องโหว่ทางกฎหมาย

เพ็ญโฉม มีความคิดเห็นว่า เขตปลอดอากร ทำให้เขาได้รับสิทธิพิเศษในการประกอบกิจการมากขึ้น

กรณีของธาตุทองที่เป็นเขตต้นน้ำ ถ้ามันถูกทำลายไปเรื่อยๆ เราก็จะไม่มีเขตต้นน้ำดีๆ ให้ลูกหลาน การประกาศให้บริษัทเค็นยูไนเต็ดมาประกอบกิจการได้ เพราะเป็นเขตปลอดอากร เมื่อเขาได้รับสิทธิพิเศษ อาจหมายถึงไม่ต้องทำตามมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม ทำ EIA หรือรับฟังความคิดเห็นก็ได้ น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทมีความแข็งกร้าว ฟ้องหมิ่นประมาทชาวบ้าน ที่มาคัดค้านการตั้งโรงงานของเขา

สิ่งที่เราเป็นห่วงคือ มีการประกาศเขตปลอดอากรในหลายพื้นที่ ซึ่งจะต้องมีชุมชนเป้าหมายอีกหลายแห่งที่จะเดือดร้อน การที่จะมาประกาศว่าพื้นที่ไหนเป็นเขตปลอดอากร มันทำได้ง่ายๆ อย่างนั้นหรือ ต้องมีการทบทวน เราในฐานะเจ้าของแผ่นดินมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรต้องให้สิทธิ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม"

 แถลงการณ์ คัดค้านการผ่อนปรนการนำเข้าเศษพลาสติก ภายในปี 2564 มีข้อเสนอ ดังนี้

1)ขอให้คณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ทบทวนและยกเลิกมติ “มาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564” และประกาศนโยบายที่จะห้ามนำเข้าเศษพลาสติกภายในสิ้นปี 2564 โดยเร็ว

พร้อมกันนี้ขอให้กรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการจัดเวทีการพบกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ต้องการขายเศษพลาสติก โดยสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่ายินดีให้ความร่วมมือในการจัดหาผู้ที่ต้องการขายเศษพลาสติก

2)ให้มีการแก้ไขกฎหมายในเขตประกอบการเสรีและกฎหมายเขตปลอดอากร โดยห้ามการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ แต่ให้มีการใช้เศษพลาสติกในประเทศแทน

3)ให้กรมการค้าต่างประเทศ ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก เฉกเช่นเดียวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในปี 2565

4)ต้องเข้มงวดการตรวจสอบในการนำเข้า เช่น กรมศุลกากรต้องจัดทำพิกัดย่อยของพิกัดศุลากร 39.15 สำหรับใช้กำกับการตรวจสอบการนำเข้าเศษพลาสติกและพลาสติกอื่น ๆ เพื่อป้องกันการสำแดงเท็จ เพิ่มบทลงโทษผู้นำเข้าและผู้แทน (shipping) ที่สำแดงเท็จ รวมทั้งเผยแพร่ความคืบหน้าของการดำเนินคดีการจับกุมคดีลักลอบนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเมื่อพ้นช่วงผ่อนผันแล้ว ต้องห้ามนำเข้าเศษพลาสติกพิกัดศุลกากร 39.15 ทั้งหมด

5)ในระหว่างที่ยังเปิดให้นำเข้าเศษพลาสติกได้ ให้นำเข้าได้เฉพาะที่เป็น “เม็ดพลาสติก” สำเร็จรูปพร้อมนำไปผลิตเป็นชิ้นงานเท่านั้น ผู้ประกอบการที่จะนำเศษพลาสติกได้จะต้องได้รับการรับรอง ISO14001 เป็นขั้นต่ำและต้องมีหลักฐานในการแสดงเพื่อพิสูจน์ว่าข้อมูลเหล่านี้มีความสอดคล้องกันตามความเป็นจริง ดังนี้

(1) แสดงงบดุลการซื้อ, งบดุลการขาย, งบดุลการเสียภาษีสรรพากร ย้อนหลัง 3 ปี และ (2) แสดงตัวเลขการส่งออกและตัวเลขกำลังการผลิตที่แท้จริง ย้อนหลัง 3 ปี และ (3) อนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกจากประเทศที่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาบาเซลแล้วเท่านั้น

6)กระทรวงอุตสาหกรรมต้องไม่มีนโยบายรับการลงทุนอุตสาหกรรมรีไซเคิลจากต่างประเทศที่ใช้ไทยเป็นฐานการแปรรูปเศษวัสดุจากต่างประเทศแล้วส่งออก การลงทุนแบบนี้สร้างความไม่เป็นธรรมและสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงต่อประเทศไทยเพราะทิ้งกากของเสียและมลพิษให้กับประชาชนไทย

ให้มีการทบทวนกฎหมายเขตปลอดอากรและเขตประกอบการเสรีและเร่งรัดประเมินมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมโรงงานและแสดงหลักฐานว่า โรงงานที่มีการนำเข้าเศษพลาสติกและเศษวัสดุต่าง ๆ ได้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติมากน้อยเพียงใดทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีการเสียภาษีอย่างครบถ้วนหรือไม่

7)ขอให้คณะอนุกรรมการฯ เพิ่มผู้แทนสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าและองค์กรภาคประชาสังคมเข้าร่วมเป็นกรรมการหรือคณะทำงานด้วย เพื่อสร้างความสมดุลของนโยบาย โดยคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้ผู้แทนภาคประชาสังคมร่วมในการติดตามตรวจสอบการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วย