ย้อนรอย 'แชร์ลูกโซ่' 'ออมกินดอก' บทเรียน 'หลอกลงทุน' รู้ทันก่อนเป็นเหยื่อ

ย้อนรอย 'แชร์ลูกโซ่' 'ออมกินดอก' บทเรียน 'หลอกลงทุน' รู้ทันก่อนเป็นเหยื่อ

5 คดี "แชร์ลูกโซ่" "ออมกินดอก" บทเรียน "หลอกลงทุน" จากอดีตถึงปัจจุบัน ที่ต้องรู้ทันเท่านั้นจึงจะไม่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการเหล่านี้

กลลวงหลอกให้ "ออมเงิน" และ "ลงทุน" ผลตอบแทนสูงลิ่ว เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัย และยังมีให้เห็นไม่ขาด

ขบวนการเหล่านี้ นอกจากจะอาศัยความไม่รู้ไม่เข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนแล้วยังอาศัยความโลภของคนที่ทำให้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการเหล่านี้อยู่เนืองๆ 

ด้วยเล่ห์การหลอกลวงเหล่านี้มักจะมากับ "ผลตอบแทนสูง" ที่น่าสนใจ แบบไม่ต้องลงแรงหรือใช้เวลานานๆ เป็นกับดักให้คนที่อยาก "รวยเร็ว" ยอมทุ่มเงินหรือสินทรัพย์ที่มี ไปลงทุนจำนวนมากเพื่อเปลี่ยนเป็นกำไรงดงามอย่างที่คาดหวังไว้ 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไป ย้อนดู กลเม็ดการหลอกล่อลงทุนรูปแบบต่างๆ ที่จบลงในฐานะคดีฉ้อโกงหรือแชร์ลูกโซ่ เพื่อถอดรูปแบบก่อนตกเป็นเหยื่อโดยเฉพาะในช่วงนี้ "เงิน" หายากท่ามกลางวิกฤติแบบนี้ 

 

  •  แชร์แม่ชม้อย 

เป็นกรณีศึกษาที่เมื่อพูดถึง "แชร์ลูกโซ่" แล้วจะไม่พูดถึงไม่ได้ แชร์วงนี้สามารถหลอกเงินนักลงทุนไปได้มากถึง 4,043 ล้านบาท มีผู้เสียหาย 13,248 คน 

แรงจูงใจที่ทำให้คนสนใจลงทุนจำนวนมาก คือการชักชวนให้ลงทุนรถบรรทุกน้ำมันคันรถละ 160,500 บาท ให้ผลตอบแทนเดือนละ 12,000 บาท ซึ่งจะทำให้ได้รับผลตอบแทน 6.5% ต่อเดือน หรือ 78% ต่อปี

สิ่งที่ทำให้หลายคนหลงเชื่อ และยอมร่วมลงทุนคือการสร้างโปรไฟล์ของ "แม่ชม้อย" ที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้ดำเนินกิจการค้าน้ำมันทั้งในและนอกประเทศ มีเรือเดินทะเลสำหรับขนส่งน้ำมันทั้งในและนอกประเทศ ชักชวนประชาชนให้มาเล่นแชร์น้ำมันร่วมธุรกิจ ทำให้คนที่เชื่อยอมลงทุนด้วยและเมื่อได้รับผลตอบแทนในช่วงแรกจึงทุ่มเงินลงทุนเพิ่มไป เพื่อหวังกำไรงามๆ อย่างที่อวดอ้าง

 

  •  แชร์ยูฟัน 

แชร์ลูกโซ่ "ยูฟัน" เป็นรูปแบบการชักชวนให้นำเงินมาลงทุนเป็นเครือข่าย มีทั้งการขายหน่วยการลงทุน "ยูโทเคน" เป็นหน่วยลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย แต่บริษัทอ้างว่าเป็นสกุลเงินมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คล้ายกับการลงทุนหุ้น แต่ได้ผลตอบแทนเร็วและมีมูลค่าสูงกว่าหุ้น

สาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียหายมากคือหากสามารถหาสมาชิกมาเพิ่มได้ จะให้ส่วนแบ่ง 7-12% จากเงินที่สมาชิกใหม่นำมาลงทุนใหม่ ซึ่งก็มีการนำเงินหมุนเวียนจากสมาชิกเก่ามาจ่ายให้สมาชิกใหม่ให้ตายใจเหมือนแชร์ลูกโซ่ที่ผ่านๆ มา โดยมีผู้เสียหาย 2,451 คน รวมเป็นเงิน 352 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังปรากฏข้อมูลว่า มีการให้ลงทุนเป็น 5 ระดับ หรือ 5 ตำแหน่ง คือ ระดับ 1 ดาว 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทย 17,500 บาท ระดับ 2 ดาว 1,000 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทย 35,000 บาท ระดับ 3 ดาว 5,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 175,000 บาท ระดับ 4 ดาว 10,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 350,000 บาท และระดับ 5 ดาว 50,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 1,750,000 บาท

 

  •  แชร์แม่มณี 

แชร์แม่มณีเป็นแชร์ลูกโซ่ที่เริ่มต้นจาก "แม่มณี" แม่ค้าออนไลน์ ที่เปิดวงแชร์ชวนคนมาออมและลงทุน ผ่านโซเชียลมีเดียโดยอ้างว่าให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 93% ในระยะสั้น เช่นให้ลงทุนวงละ 1,000 บาท จะได้รับผลตอบแทน 930 บาท/วง เมื่อครบกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ลงทุนหรือวันที่ฝากเงินมายังบัญชีที่พวกจำเลยแจ้ง ผู้ลงทุนจะได้รับเงินที่ลงทุนพร้อมผลตอบแทนกลับไปจำนวนวงแชร์ละ 1,930 บาท

โดยแม่มณีและพวกมีการอ้างจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนมากถึง 1,116–3,040.45% ต่อปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในตลาดเงินตลาดทุนในช่วงนั้น โดยในช่วงแรกๆ ก็มีการจ่ายผลตอบแทนตามปกติจนทำให้หลายคนตายใจและคิดว่าในอนาคตก็จะได้รับผลตอบแทนง่ายๆ แบบนี้อีกจึงนำเงินมาลงทุนโดยมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักล้าน

ในระยะต่อมาเมื่อนำเงินที่ได้จากผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ มาจ่ายเป็นผลประโยชน์หมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมหรือผู้ร่วมลงทุนรายก่อน แล้วเมื่อไม่มีผู้ให้กู้ยืมหรือผู้ร่วมลงทุนเพิ่ม ก็ไม่สามารถได้รับผลตอบแทนและเงินร่วมลงทุนกลับคืน จากคดีแชร์แม่มณีในครั้งนี้ ดีเอสไอ เผยวงเงินความเสียหายรวม 1,376 ล้านบาท

162870378824

 

  •  Forex 3D 

อีกหนึ่งกลลวงหลอกลงทุนสำหรับสายเทรด คือให้บริการ ชักชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมลงทุนโดยอ้างว่าจะนำเงินไปซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Forex)

โดยเสนอผลตอบแทน 60-80% ของเงินผลกำไรที่ได้จากการนำไปลงทุนเทรดค่าเงิน โดยชักชวนผ่านทางเว็บไซต์ www.forex-3d.com อ้างว่ามีเทรดเดอร์มืออาชีพเป็นผู้เทรดให้กับผู้ลงทุน โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเทรดเงินก็สามารถทำกำไรได้ง่ายๆ เพียงแค่นักลงทุนฝากเงินเข้ามาก็สามารถที่จะรอรับเงินปันผลได้เลย 

อ้างว่ามีมืออาชีพอย่าง บริษัทอาร์เอ็มเอสฯ เทรดให้ เริ่มต้นลงทุนประมาณ 5,000 บาท แถมมีการประกันเงินต้น 100% ไม่มีการขาดทุน ซึ่งเป็นไปได้ยากมากๆ ในมิติของการลงทุนที่มีความเสี่ยง การหลอกลวงในครั้งนี้เป็นเหตุให้มีผู้เสียหาย จำนวน 8,436 ราย มูลค่าความเสียหาย 1,908 ล้านบาท

 

  •  บ้าน milk milk 

ที่ถูกเรียกว่า "บ้านออมเงิน" ซึ่งอีกหนึ่งเคส ที่ใช้การออมเงินดอกเบี้ยสูง หรือที่เรียกกันว่า "ออมกินดอก" มาจูงใจ นักศึกษาวัย 22 ปี เปิดเพจเฟซบุ๊คเพื่อให้สมาชิกนำเงินเข้ามาออมไว้ตัวเองแล้วให้ผลตอบแทนการันตีเป็นราย 10 วัน 20 วันหรือ 30 วัน ซึ่งจะมากหรือน้อยนั้นก็ลดหลั่นกันไปตามจำนวนเงินที่นำมาฝาก เช่น ฝาก 10,000 บาทเป็นเวลาหนึ่งเดือนหรือ 30 วันจะได้รับเงินกลับไปเป็นเงิน 13,000 บาท

โดยการอ้างเป็นการฝากเงิน ออมเงิน เป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายและรู้สึกว่าไม่มีความเสี่ยงใดๆ ไม่ต้องศึกษาอะไรเพิ่มเติมทำให้หลายคนตัดสินใจนำเงินมาฝากไว้กับ บ้าน milk milk เพื่อหวังผลตอบแทนสูงลิบเมื่อเทียบกับการฝากในบัญชีออมทรัพย์ หรือฝากประจำ ทำให้หลายคนนำเงินมาร่วมออม ก่อนจะประกาศล้มวงแชร์ ครั้งนี้มีผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 1,000 สูญเงินรวมกันมูลค่าทั้งหมดราว 300-400 ล้านบาท

…นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคดีที่เกี่ยวกับการหลอกลวงเงินลงทุนและฉ้อโกงเท่านั้น ทว่า เมื่อมองโมเดลภาพรวมก็จะมีความคล้ายคลึงกัน สิ่งที่แตกต่างกันออกไปคือชื่อ ลักษณะสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วงเวลาเท่านั้น

ในทางตรงกันข้ามสิ่งที่แทบทุกคดีมีเหมือนกัน คือรูปแบบของการชักจูงที่ชวนให้คล้อยตามได้ง่าย ผ่านความน่าเชื่อถือของบุคคลที่ชักชวน เงินหรือผลตอบแทนที่หาไม่ได้จากที่ไหน โอกาสรวยเร็วแบบสบายๆ รวมถึงกลยุทธ์ในการพยายามกดดันให้รีบตัดสินใจ

ซึ่งนี่น่าจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการจับผิดกลุ่มแชร์ลูกโซ่หรือการลงทุนที่ไม่ชอบมาพากล ก่อนที่จะทุ่มเงินลงทุนถลำลึก ที่อาจเหลือไว้แค่ความเจ็บใจ เมื่อเวลาผ่านไปเท่านั้น

บทความที่เกี่ยวข้อง : 

   

ที่มา: Phitsanulokhotnews กรุงเทพธุรกิจ Nation TV Bangkokbiznews Thaipbs