‘วันแม่’ กับเรื่องเล่า 3 นักอนุรักษ์ “แม่ไม่ได้สอนอะไร แต่ทำให้ดู”

‘วันแม่’ กับเรื่องเล่า 3 นักอนุรักษ์ “แม่ไม่ได้สอนอะไร แต่ทำให้ดู”

บางทีแม่ก็ไม่ได้สอนอะไรมากมาย แต่ทำให้เห็นในทุกๆ วัน เนื่องใน "วันแม่" 12 สิงหาคม 2564 ลองดูสิว่า แม่ของนักอนุรักษ์เหล่านี้ อาทิ ดร.ธรณ์ ,นิคม พุทธา และดาบวิชัย ฯลฯ สอนพวกเขาอย่างไร

ถ้าจะเล่าถึง แม่ ของใครหลายคนที่รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คงไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม ยังรวมถึงเรื่องราวการใช้ชีวิต ลูกๆ ได้เห็นสิ่งที่แม่ทำตั้งแต่เด็ก

นั่นทำให้เขาและเธอมีวันนี้ที่งดงาม โดยแม่ของนักอนุรักษ์หลายคน ไม่ได้สอนอะไรมากมาย แต่ทำให้เห็น เพื่อให้ลูกสัมผัสกับสิ่งรอบตัวด้วยหัวใจ

ดังนั้น คนเป็นลูก ไม่ว่าหญิงหรือชาย ต่างมีวิธีการเรียนรู้ได้มากมาย ไม่เว้นแม้กระทั่งการติดสอยห้อยตามแม่ไปตามที่ต่างๆ

                   

ตาม"แม่"เข้าป่า

 "พ่อแม่ผมยากจน พวกเขาไม่ได้สอนอะไรมากมาย  พวกเขาไม่ได้บอกว่า ลูกต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะความยากจน แม่เก็บของในป่า ผมก็ต้องตามไปด้วย 

พวกเขาออกไปหาปลาปู ผัก ผลไม้ หรือเห็ด ผมก็ต้องติดไปด้วย ตอนผมเป็นเด็ก ผมก็ได้เรียนรู้ไปโดยปริยาย " นิคม พุทธา นักอนุรักษ์ อ.เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เคยเล่าให้ฟัง

การทำงานด้านอนุรักษ์มานาน เขาเคยเล่าถึงความฝันว่า

"ผมอยากให้ผืนป่าเมืองไทย เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชน เป็นเรื่องที่ผมใฝ่ฝันมาก สวนสัตว์ที่มีอยู่ ควรเปิดให้เด็กๆ เข้าชมฟรี อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์ป่า ไม่ควรเก็บเงินเด็กๆ

อีกอย่างคือ ควรจัดรูปแบบการเรียนรู้ให้เด็กๆ ไม่อย่างนั้นเด็กๆ ก็รู้แค่อุทยานแห่งชาติเป็นแหล่งที่ผู้ใหญ่ไว้พบปะดื่มเหล้ากัน ถ้าเขาผ่านการเรียนรู้ที่ดี เราก็จะไว้วางใจได้ว่าธรรมชาติจะไม่ถูกคุกคามตลอดเวลา"

นิคม ย้อนถึงชีวิตวัยเด็กที่ติดสอยห้อยตามแม่ไปท้องนาและในป่าว่า ทำให้ได้เรียนรู้ว่า พืชชนิดไหนกินได้ และชนิดไหนมีพิษ

และนั่นทำให้เขาเป็นคนที่รักการเดินป่าเป็นชีวิตจิตใจ

"ฤดูไหนต้องกินอะไร ผมได้เรียนรู้ตอนที่ผมตามแม่เข้าป่า รวมถึงวิธีการเก็บเกี่ยวเพื่อใช้ประโยชน์จากต้นไม้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ  เมื่อเติบโตขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็อยู่ในใจผมตลอด ผมมองว่า นี่เป็นการเรียนรู้โดยธรรมชาติจากวิถีชีวิต" 

นอกจากนี้ แม่ของเขายังตอกย้ำบ่อยๆ ว่า เมื่อเราเกิดมาเป็นคนยากจน เราต้องประหยัด อดออม

"แม่บอกอีกว่า เราต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจ ผมจำคำสอนของแม่ประโยคนี้ได้ ซึ่งมันตรงข้ามกับคนสมัยนี้ที่ค่อนข้างรีบเร่ง อยากได้อะไรก็ซื้อ "

 

แม่ผมซื่อสัตย์มาก

เวลาสังคมไทย มีปัญหาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตทั้งเล็กและใหญ่ในท้องทะเล หนึ่งในนักวิชาการที่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็คือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ 

ทุกครั้งเราคุยกับเขาเรื่องการอนุรักษ์ท้องทะเล แต่คนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อชีวิตเขาก็คือ "แม่"

"แม่ผมเป็นคนไม่มีนอก มีใน แม่ซื่อสัตย์มาก จนเรียกว่า มหาศาล แม่เคยเป็นภรรยารัฐมนตรี (ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ ) ผมจำได้ว่า แม้กระทั่งดอกไม้ที่คนเอามาให้แม่ แม่ก็ไม่เอา แม่จะเข้มงวดกับตัวเองมาก

แม้กระทั่งการกินข้าว ลูกน้องพ่อจะเลี้ยงข้าว แม่ก็ไม่ยอม เรื่องเหล่านี้ผมเห็นมาตลอด" ดร.ธรณ์ เคยเล่าเรื่องแม่ให้ฟัง และบอกว่า แม่ควรเป็นคุณหญิงนานแล้ว  แต่แม่ไม่เอา และไม่สนใจ แม่ก็ทำงานการกุศลไปเรื่อยๆ

"เพราะแม่มีความสุขและพอใจกับตัวเอง จะเรียกว่า โคตรจะพอเพียงเลยก็ได้ ไม่สนใจลาภ ยศ สรรเสริญ ผมเเองก็ได้เรื่องความซื่อสัตย์จากแม่"

 

 

 ต้นไม้ คือ ชีวิต 

"ต้นไม้เป็นคำตอบของทุกสิ่ง"

หมวดวิชัย สุริยุทธ หรือดาบวิชัยที่คนรู้จัก นักปลูกต้นไม้กว่าสองล้านต้นในอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ จนสามารถทำให้อำเภอปรางค์กู่ อำเภอที่เคยจัดว่าแห้งแล้งที่สุดแห่งหนึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ 

หมวดวิชัย เคยเล่าว่า แม่จากไปตั้งแต่เด็กๆ แต่วงศ์ตระกูลของเขาคลุกคลีกับท้องไร่ ท้องนา และชนบทมานาน 

"ผมชอบชนบทมากกว่าในเมือง ตั้งแต่ปี 2548 ผมปลูกไปสองล้านต้น ตอนนี้ปลูกไปเท่าไหร่ ผมไม่รู้ ผมจะปลูกต้นไม้จนกว่าผมจะตาย ผมเคยพูดกับคนไทยยังไง ผมก็ทำอย่างนั้น"

เขาเชื่อเสมอมาว่า ถ้าโลกขาดต้นไม้ เหมือนขาดลมหายใจ ต้นไม้คือ สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต 

"ต้นไม้เป็นคำตอบของทุกสิ่ง เป็นปัจจัยสี่ อาหาร เครื่องนุ่มห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และอากาศ ผมจึงมีความผูกพันกับต้นไม้"