‘วังค้างคาว’ พระประเสริฐวานิช (เขียว) สายสัมพันธ์ราชสกุล ‘ลดาวัลย์’

‘วังค้างคาว’ พระประเสริฐวานิช (เขียว) สายสัมพันธ์ราชสกุล ‘ลดาวัลย์’

ความเป็นมา “วังค้างคาว” หรือบ้าน “พระประเสริฐวานิช” (เจ้าสัวเขียว) โบราณสถานบนที่ดินราชพัสดุ กับสายสัมพันธ์ราชสกุล “ลดาวัลย์” เจ้าของบทประพันธ์ลือลั่น “ดาวพระศุกร์”

“วังค้างคาว” เป็นชื่อลำลองที่ กรมธนารักษ์ และชาวบ้านในละแวกแขวงคลองสาน กรุงเทพฯ ใช้เรียกอาคารเก่าแก่ที่ถูกปิดร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์มาหลายสิบปี ทำให้มีค้างคาวเข้าไปทำรังและอาศัยอยู่บริเวณใต้ตึกเป็นจำนวนมาก จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้มีคนเรียกอาคารเก่าหลังนี้ว่า “วังค้างคาว

ชื่อ “วังค้างคาว” กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งเมื่อ “กรมธนารักษ์” แถลงข่าวเดินหน้าเปิด ประมูลสิทธิการเช่า “วังค้างคาว” อาคารซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุ มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 30 ปี

162829588166

“บ้าน” ของ เจ้าสัวเขียว เหล่าประเสริฐ ที่ถูกทิ้งร้าง จนค้างคาวเข้าไปทำรัง

ดังที่กล่าวข้างต้น “วังค้างคาว” เป็นเพียงชื่อเรียกลำลอง ความจริงอาคารแห่งนี้มิได้เป็นพระตำหนักใดๆ แต่เป็น “บ้าน” ของ เจ้าสัวเขียว เหล่าประเสริฐ ซึ่งเข้ารับราชการอยู่ใน ‘กรมท่าซ้าย’  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทำหน้าที่ดูแลการค้าขายในส่วนของคนจีนในเวลานั้น

สำหรับพ่อค้าเอกชนที่เข้ารับราชการไทยในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานตำแหน่ง พระประเสริฐวานิช ให้เป็นยศศักดิ์ในกรมท่าซ้าย

พระประเสริฐวานิช หรือ เจ้าสัวเขียว เหล่าประเสริฐ เป็นบุตรของจีนเตี๋ยมกับอำแดงเพ็ง  บ้านอยู่บริเวณปากคลองวัดทองธรรมชาติ  บ้านของเจ้าสัวเขียวที่เป็นอาคารหลังนี้สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 มีลักษณะและรูปแบบเป็นกลุ่มอาคารเก๋งจีน 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง หน้าจั่วปูนปั้น

ตัวบ้านประกอบด้วย อาคารสองหลังตั้งขนานกัน หันหน้าออกแม่น้ำเจ้าพระยา มีระเบียงเชื่อมถึงกัน ล้อมลานโล่งตรงกลางขนาดใหญ่ พื้นที่บริเวณใต้ถุนอาคารถูกแบ่งเป็นสัดส่วนทั้งสองฝั่ง เพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่เก็บสินค้า

162829905930

บ้านพระประเสริฐวานิช (เขียว เหล่าประเสริฐ)สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5

พระประเสริฐวานิช (เขียว เหล่าประเสริฐ) เจ้าของอาคารโบราณหลังนี้ ยังมีความเกี่ยวพันกับ วงการวรรณกรรมไทย อีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสู่ขอ คุณห่วง ธิดาคนหนึ่งของ พระประเสริฐวานิช (เขียว เหล่าประเสริฐ) ให้ หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระนามเดิม ‘หม่อมเจ้าลดาวัลย์ พระราชโอรสลำดับที่ 15 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)

คุณห่วงซึ่งได้กลายเป็นหม่อมเอกในนาม หม่อมห่วง ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2449

หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ และหม่อมห่วง มีโอรส-ธิดาด้วยกันหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ม.ร.ว.สนั่น ลดาวัลย์ บิดาของ ม.ล.ศรีฟ้า มหาวรรณ และ ม.ล.ศรีทอง ลดาวัลย์

162829802993

ม.ล.ศรีฟ้า มหาวรรณ (ภาพ : art.culture.go.th)

ม.ล.ศรีฟ้า มหาวรรณ (สมรสกับนักธุรกิจ บุญทัศน์ มหาวรรณ) เป็นนักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น และสารคดีชีวิตเจ้านายในวัง เจ้าของนามปากกา ศรีฟ้า ลดาวัลย์, สีฟ้า, ภัฏฏินวดี และ จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพ.ศ.2539 ผลงานเขียน อาทิ ปราสาทมืด, ริษยา, ขมิ้นกับปูน, อรุณสวัสดิ์, ใครกำหนด, พรหมไม่ได้ลิขิต, กนกลายโบตั๋น, อีสา, ข้าวนอกนา ฯลฯ นวนิยายหลายเรื่องได้รับการนำมาถ่ายทอดเป็นละครโทรทัศน์

ม.ล.ศรีทอง ลดาวัลย์ เป็นนักเขียนเช่นกัน เจ้าของนามปากกา ข.อักษราพันธ์ ผู้เขียนนวนิยายเรื่อง ภาพอาถรรพณ์, ดอกโศก และอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง ดาวพระศุกร์ ที่ประพันธ์ไว้เมื่อปีพ.ศ.2504 เมื่อได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ครั้งแรกในปี 2523 นำแสดงโดย พล พลากร และ มนฤดี ยมาภัย ก็ได้รับความนิยมอย่างมากเป็นที่จดจำถึงวันนี้

162829717669

บ้านพระประเสริฐวานิช (เจ้าสัวเขียว เหล่าประเสริฐ) พ.ศ.2564

สำหรับประวัติเรือนโบราณที่เคยเป็นบ้านของ พระประเสริฐวานิช (เจ้าสัวเขียว เหล่าประเสริฐ) กรมธนารักษ์ยังมีข้อมูลด้วยว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2450-2460 บริษัท หลักสุงเฮง ของนายเหียกวงเอี่ยม อดีตประธานหอการค้าไทย-จีน ได้เคยเช่าอาคารและพื้นที่เป็นสำนักงานและท่าเรือซึ่งดำเนินกิจการ รับ-ส่งสินค้าทางเรือ

จากนั้นห้างฮั่วจั่นได้มาขอเช่าต่อ โดยใช้พื้นที่ใต้ตึกเป็นที่เก็บสินค้า เมื่อเลิกเช่าแล้ว ตัวอาคารจึงถูกปิดร้างไม่ใช้ประโยชน์มาหลายสิบปี จึงทำให้มี ค้างคาว เข้ามาอาศัยอยู่บริเวณใต้ตึกเป็นจำนวนมาก  เวลาพลบค่ำพวกค้างคาวมักบินออกจากตึกไปหากิน  คงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีคนเรียกชื่ออาคารเก่าหลังนี้ว่า “วังค้างคาว” นั่นเอง

162829825090

ชั้นบนของบ้าน พระประเสริฐวานิช (เจ้าสัวเขียว)

จากหลักฐานตามโฉนดที่ดินเลขที่ 999 ออกเมื่อ 31 ธันวาคม ร.ศ.125 (พ.ศ.2495)  อาคารเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลังนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของ พระประเสริฐวานิช (เจ้าสัวเขียว) ต่อมาบ้านและที่ดินตกเป็นของนาย เว้น (บุตรชาย) และได้บริจาคให้ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2464

ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 กรมศิลปากร ได้ประกาศรายชื่อโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานครตามนัยราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 165 ง ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 โดยมี บ้านพระประเสริฐวานิช (เขียว) (วังค้างคาว) ในประกาศดังกล่าว

162829849397

อธิบดีกรมธนารักษ์ นำทีมผู้บริหารกรมธนารักษ์ ลงพื้นที่ตรวจสภาพอาคารราชพัสดุบ้านพระประเสริฐวาณิช (เขียว) 10 ก.พ.2564 (ภาพ : กรมธนารักษ์)

162829841370

ยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ สำรวจที่ราชพัสดุบ้านพระประเสริฐวาณิช (เจ้าสัวเขียว)

เพื่อเป็นการอนุรักษ์อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ และเพื่อพัฒนาที่ราชพัสดุให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ กรมธนารักษ์ จึงมีนโยบายที่จะเปิดประมูลสิทธิการเช่าอาคารราชพัสดุบ้านพระประเสริฐวาณิช (เขียว) หรือ วังค้างคาว ปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.2723 (บางส่วน) โฉนดเลขที่ 3249 (เดิม 999)

โดยเมื่อวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 นาย ยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ พร้อมด้วยผู้บริหารกรมธนารักษ์ ลงพื้นที่ตรวจสภาพอาคารราชพัสดุบ้านพระประเสริฐวาณิช (เขียว) แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ทั้งแปลง 0 - 3 - 29 ไร่ และเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ได้แถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการ เปิดประมูลสิทธิการเช่าอาคารราชพัสดุบ้านพระประเสริฐวานิช (เขียว) โดยพร้อมเปิดซองประมูลในวันที่ 23 กันยายน 2564

162829933176

กรมธนารักษ์เปิดประมูลสิทธิการเช่าอาคารราชพัสดุบ้านพระประเสริฐวานิช (ภาพ : FB/PRTREASURY)

สำหรับเงื่อนไขการประมูลสิทธิการเช่าอาคารราชพัสดุ (วังค้างคาว) มีรายละเอียด ดังนี้

     1. คุณสมบัติผู้เข้าประมูล

1.1 เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลตามกฎหมายไทย

1.2 จะต้องไม่เคยเป็นผู้ทิ้งงานก่อสร้างของทางราชการตามหนังสือแจ้งเวียนรายชื่อผู้ทิ้งงานของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุกรมบัญชีกลางมาก่อนจึงจะมีสิทธิได้รับการพิจารณา

      2. สถานที่ติดต่อขอซื้อเอกสารผังประมูล

สามารถติดต่อขอซื้อเอกสารผังประมูล ในราคาชุดละ 1,500.- บาท ณ ส่วนรายได้ กองบริหารที่ราชพัสดุกรุงเทพมหานคร กรมธนารักษ์ ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ทุกวันในเวลา 09.00 – 15.00 น.เว้นวันหยุดราชการ

      3. กำหนดวัน-เวลารับฟังคำชี้แจงและดูสถานที่ประมูลสิทธิการเช่าอาคารราชพัสดุ ผู้เข้าประมูลสามารถรับฟังคำชี้แจงรายละเอียดการประมูล ในวันที่ 9 กันยายน 2564 โดยพร้อมกัน ณ กรมธนารักษ์ เวลา 10.00 น.

      4. การเสนอเงินค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า ไม่ต่ำกว่า 9,475,200.- บาท

      5. หลักประกันซองผู้เข้าประมูล จะต้องวางหลักประกันซอง เป็นเงิน 947,520.- บาท พร้อมกับการยื่นซองประมูล

      6. กำหนดวัน เวลาเปิด-ปิดรับซองประมูล และเปิดซองประมูลผู้เข้าประมูลต้องยื่นซองประมูลต่อคณะกรรมการ ณ ห้องประชุม 702 อาคารกรมธนารักษ์ ในวันที่ 23 กันยายน 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00 ถึง 10.00 น. และคณะกรรมการจะปิดรับซองประมูล ในเวลา 10.00 น. และจะเปิดซองประมูล เวลา 10.30 น. ในวันและสถานที่เดียวกัน ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารที่ราชพัสดุกรุงเทพมหานคร โทร.0 2618 6328 ในวันและเวลาราชการ และ Call center โทร.0 2059 4999