SIMAT เตรียมลุยลงทุนธุรกิจใหม่ หนุนรายได้โต !

SIMAT เตรียมลุยลงทุนธุรกิจใหม่ หนุนรายได้โต !

'ไซแมท เทคโนโลยี' ลุยปรับทัพธุรกิจโฉมใหม่ปีหน้า จ่อสร้าง 'นิวเอสเคิร์ฟ' พุ่งเป้าอุตสาหกรรมคมนาคมสื่อสาร' พร้อมดันบริษัทย่อย 'ฮินซิซึ' ขายไอพีโอ-เข้าเทรดในเอ็มเอไอปี 65

18 พ.ค.ที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ บริษัท ไซแมท เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SIMAT หลังคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) มีมติแต่งตั้ง 'ธีรวุฒิ กานต์นิภากุล' อดีตรองผู้อำนวยการอาวุโสฝ่าย Equity Derivative บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เข้ามารับตำแหน่ง 'ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุน' และเป็นกรรมการ แทน 'ทองคํา มานะศิลปพันธ์' หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 สัดส่วน 5.97% ( ณ วันที่ 15 ก.ค.2564) ที่ลาออกเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา 

ใช้เวลาตัดสินใจไม่นานก่อนตกปากรับคำมาทำงาน !! 'ธีรวุฒิ กานต์นิภากุล' ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุน บริษัท ไซแมท เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SIMAT ให้สัมภาษณ์พิเศษ 'หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ' ว่า ได้เข้ามาทำงานได้ราว 4 เดือนแล้ว ภารกิจแรกคือ การปรับโครงสร้างองค์กรแห่งนี้ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น สะท้อนผ่านแผนการลดต้นทุนและเตรียมความพร้อมในแง่ของฐานะทางการเงินให้แข็งแกร่งจากปัจจุบันมี 'หนี้สินต่อทุน' (D/E) อยู่ที่ 1.4 เท่า ซึ่งเป้าหมายในระยะ 2 ปี บริษัทอยากให้ D/E ลดลงต่ำกว่า 1 เท่า 

โดยเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อมองหาโอกาสลงทุนและสร้างการเติบโตครั้งใหม่ !! ใน 'ธุรกิจใหม่' ที่เป็น New S-Curve โดยเฉพาะในธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมคมนาคมสื่อสารที่เป็นความเชี่ยวชาญและเป็นเทรนด์ของโลกในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าบริษัทจะมีธุรกิจ New S-Curve เข้ามา หลังจากในปีนี้ที่บริษัทมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่เสร็จแล้ว นี่ถือเป็น 'ความท้าท้าย' ของตนเองในการดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุน 

หลังจากที่บริษัทต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่มาแล้ว ในแง่ของผลการดำเนินงานหนักสุดในปี 2561 'ขาดทุนสุทธิ' 492.52 ล้านบาท แต่ในปี 2562- 2563 ธุรกิจยังสามารถเติบโตได้ บ่งชี้ผ่านกำไรสุทธิอยู่ที่ 69.03 ล้านบาท และ 40.78 ล้านบาท ตามลำดับ และในปี 2564 คาดรายได้เติบโตไม่มากอยู่ที่ 5-10% จากปีก่อน แต่ที่เป็นไฮไลท์อยู่ที่ 'อัตรากำไร' จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการผลักดันของบริษัทลูกเป็นหลัก นั่นคือ บริษัท ฮินซิซึ (ประเทศไทย) หรือ HST ที่ SIMAT ถือหุ้น 70% และ 'ธุรกิจไอทีโซลูชั่น' (SI) ที่ปีนี้จะเปลี่ยนแปลงจากงานก่อสร้างมาเป็นงานให้บริการและซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นส่วนที่มีอัตรากำไรที่สูงขึ้นเป็นตัวเลขสองหลักจากเดิมเป็นงานก่อนสร้างที่อัตรากำไรเป็นตัวเลขหลักเดียว 

เขา แจกแจงแผนธุรกิจของ SIMAT ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า (2564-2568) แบ่งธุรกิจออกเป็น 3 ธุรกิจหลัก คือ 1.ธุรกิจให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร (SI) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 26% ถือเป็นธุรกิจที่กำลังจะสร้างรายได้ประจำเข้ามาในปีนี้ เนื่องจากบริษัทเริ่มรับรู้รายได้โครงการบริการอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่าง ไกล (USO) ในระยะที่ 2 ที่เป็นงานให้บริการและบำรุงรักษา ในพื้นที่ 7 จังหวัดโซนภาคอีสาน มูลค่ารวม 1,430 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ประจำปีละ 270 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปีต่อเนื่อง 

แม้ว่าในช่วงเฟสแรกของโครงการ USO บริษัทมีผลดำเนินงารนขาดทุน เนื่องจากเป็นงานก่อสร้างที่บริษัทไม่ถนัด ทำให้ได้รับส่วนต่างกำไรน้อย แต่เมื่อเข้าสู่เฟสปัจจุบัน ซึ่งเป็นการให้บริการจัดการและบำรุงรักษาโครงการ USO ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเป็นรายได้ประจำต่อเนื่อง 5 ปี โดยเริ่มทยอยรับรู้รายได้เข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2564 เป็นต้นไป ดังนั้น เชื่อว่าธุรกิจ SI หลังจากนี้จะมีความสามารถอัตราทำกำไรดีขึ้นเมื่อเข้าสู่งานให้บริการ 

2.ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านระบบโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber optic) คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 7% ซึ่งช่วงที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานกระทบหนักมากจากการแข่งขันในตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรม แต่ล่าสุดบริษัทจัดตั้งทีมใหม่เข้ามาบริหารงาน โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท เอฟโอ ที เอ็มเอสโอ จำกัด (FOT) ในเครือเจริญเคเบิลทีวี ซึ่งเป็นเคเบิลทีวีอันดับ 1 ของประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมพัฒนาธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในโครงการ SINET ในพื้นที่กรุงเทพฯ,เชียงใหม่ , นครราชสีมา และขอนแก่น เป็นต้น 

โดยเชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะเพิ่มขีดความ สามารถด้านการแข่งขันได้ดีขึ้น ซึ่งจะมีความชัดเจนในไตรมาส 3 หรือ ไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งบริษัทต่อยอดธุรกิจออกไปจากโครงข่ายโครงการ USO ด้วยการลากสายโครงข่ายออกไปในพื้นที่ห่างไกลออกไปจากเดิมอีกประมาณ 30 กิโลเมตร เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะกลับมาเติบโตเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทได้อย่างชัดเจนปีหน้า

'ถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ Synergy ครั้งสำคัญ ในส่วนของการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สามารถปรับเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตให้ลูกค้าได้สูงขึ้น รวมทั้งการเสริมบริการเคเบิลทีวีที่มีช่องรายการในระบบดิจิทัลกว่า 150 ช่องรายการ รวมไปถึงการเพิ่มบริการจากทางเจริญเคเบิลทีวี' 

และ 3.ธุรกิจการลงทุน ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 64% โดยเมื่อ 3 ปีก่อนบริษัทซื้อหุ้นจำนวน 70% ใน บริษัท ฮินซิซึ (ประเทศไทย) หรือ HST ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลาเบลและซิลค์สกรีน ซึ่งวันนี้ผลประกอบการได้เข้าสู่การเติบโตรอบใหม่ 'โดดเด่น' ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการเร่งตัวของความต้องการ (ดีมานด์) กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า , เครื่องใช้สำนักงาน , และกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 

รวมทั้งได้ประโยชน์จาก 'สงครามการค้า' (Trade War) ระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการย้ายฐานการผลิตออกมาจากประเทศจีนเพื่อหนีสงครามการค้าดังกล่าว ซึ่งส่วนหนึ่งย้ายเข้ามาในอาเซียน ทำให้กลุ่มลูกค้ามี 'คำสั่งซื้อ' (ออเดอร์) ให้กับ HST เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น เป้าหมาย 3 ปี (2564-2566) HST เติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปี

162825696061

ทั้งนี้ ความโดดเด่นของ HST คือ เป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งน้อยรายในอุตสาหกรรมเดียวกัน และแต่ละรายก็เป็นรายเล็กเมื่อเทียบกับความสามารถใน การผลิตของ HST ที่มีเครื่องจักรมากกว่า 20 เครื่อง ทำให้รองรับกับออเดอร์ของลูกค้าที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามต่างชาติ ซึ่งเป็นผู้ผลิต เครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ดังได้เป็นปริมาณมาก และล่าสุดเพิ่งได้ลูกค้ารายใหม่ อย่าง ซัมซุง และ แอลจี (LG) และอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าสัญชาติสหรัฐอีกด้วย 

แต่ที่สำคัญคือ 'จุดแข็ง' ที่ลอกเลียนแบบได้ยาก คือ เทคโนโลยีการผลิตทำให้ธุรกิจของ HST มีศักยภาพทำกำไรค่อนข้างสูง สะท้อนจากอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ย 40% ซึ่งเชื่อมั่นว่าในช่วงถัดไปก็จะยังรักษาอัตรากำไรขั้นต้นระดับสูงตามแนวโน้มดีมานด์ส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ดังนั้น บริษัทจึงมีแผนนำ HST เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ปีหน้า โดยคาดว่าปีนี้จะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อระดมทุนมาใช้ขยายการลงทุนด้วยการก่อสร้างโรงงานใหม่ ขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่าตัว และเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวเนื่องในต่างประเทศ 

'โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่รุนแรง แต่เราก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะโครงการ USO มีการใช้งานที่สูงขึ้น ขณะที่ธุรกิจ HST ยังมียอดออเดอร์จากลูกค้าเข้ามาต่อเนื่องเพราะฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติที่มียอดขายที่เน้นส่งออกเป็นหลัก'

ท้ายสุด 'ธีรวุฒิ' ฝากไว้ว่า อนาคตบริษัทเติบโตผ่านการลงทุนใหม่ๆ แต่ก่อนที่ทำแบบนั้นได้ เริ่มต้นต้องทำตัวเองให้พร้อมทั้งองค์กรและฐานะการเงินที่พร้อมจะคว้าโอกาสที่เข้ามาทันที แต่ระหว่างทางอาจจะเห็นการหยอดกระปุกเล็กๆ น้อยๆ ด้วยการต่อยอดจากความถนัดธุรกิจเดิมไปก่อน และในปีหน้าจะเห็นโฉมใหม่ การต่อยอดธุรกิจเมื่อมีความพร้อมทางด้านการเงินแล้ว