6 แรงกดดันสิ่งแวดล้อม เร่งตั้งรับผลกระทบ “อีอีซี”

6 แรงกดดันสิ่งแวดล้อม เร่งตั้งรับผลกระทบ “อีอีซี”

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมจัดทำแผนสิ่งแวดล้อมอีอีซี ฉบับที่ 2 เผย ต้องตอบ  6 โจทย์ใหญ่ในอีอีซี ด้านปธ.หอภาคตะวันออก ชงปัญหาน้ำ ขยะ สภาวะทางทะเลเข้าแผนสิ่งแวดล้อมระยะที่ 2

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อยู่ระหว่างทำแผนสิ่งแวดล้อมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ระยะที่ 2) ปี 2565-2569 เพื่อใช้ดูแลสิ่งแวดล้อมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ต่อจากแผนระยะที่ 1 (2561-2564) 

ทั้งนี้ แผนระยะที่ 2 จะมีความชัดเจนในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นการวางแผนในช่วงที่มีการประกาศใช้แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดการใช้พื้นที่ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม การพัฒนาเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ดิจิทัล และการป้องกันสาธารณภัย

รายงานข่าวจาก สผ.ระบุว่า ขณะนี้การจัดทำแผนอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใน จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง โดยได้มีการสรุปปัจจัยที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมในอีอีซี 6 ด้าน คือ

162824125456

1.ความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งในเขตเกษตรกรรม มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อการพัฒนา ส่งผลให้พื้นที่ทางการ เกษตรถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่สิ่งปลูกสร้างและทิ้งร้างว่างเปล่าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการลดลงของผลผลิตอาหารในพื้นที่ ส่วนในเขตเมืองและชุมชน เขตอุตสาหกรรมความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น เพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มจาก 4.15 ล้านคน ในปี 2562 เป็น 5.85 ล้านคน ในปี 25670 โดยประชากร 53% อาศัยอยู่ในเขตเมือง (ปี 2562) ซึ่งผลิตอาหารเองไม่ได้และต้องพึงพาแหล่งอาหารจากพื้นที่เกษตรกรรม 

2.สุขภาพ เขตเมืองและชุมชน เขตอุตสาหกรรมมีพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไปเป็นแบบเมือง ได้แก่ การกิน การสูบบุหรี่ มลพิษทางอากาศ การดื่มแอลกอฮอล์ และพฤติกรรม เนือยนิ่ง ส่งผลต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยอีอีซีมีพฤติกรรมการบริโภคแบบเมืองเพิ่มจาก 11.12% ในปีงบประมาณ 2556 เป็น 14.89% ในปีงบประมาณ 2563 และหากอัตรการเพิ่มยังไม่เปลี่ยนแปลงคาดการณ์ว่าปี 2570 จะเพิ่มเป็น 18.66% 

ขณะที่สถานการณ์ด้านมลภาวะทางอากาศเป็นส่วนหนึ่งของผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมลพิษภาพรวมอยู่ระดับมาตรฐาน แต่มีเกินค่ามาตรฐานบ้างในบางพื้นที่และบางเวลา โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโรงงานหนาแน่น โดยพื้นที่สีเขียวที่เป็นแนวทางการลดและบรรเทามลภาวะในพื้นที่เมืองที่มีความหนาแน่นสูงมีสัดส่วนพื้นที่ที่น้อยกว่าค่าที่ควรจะเป็นสำหรับการสร้างสภาพอากาศที่ดีในเมือง

3.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้นไม้ทั่วไป 1 ต้น ดูดซับ CO2 ได้ 21 กิโลกรัมต่อปี แต่หากต้นไม้มีอายุ 100 ปี จะ ดูดซับ CO2 ได้ 1 ตันต่อปีต่อต้น พื้นที่ป่าไม้ในเขตอีอีซีจาก 12.50% ในปี 2556 เป็น 12.39% ในปี 2563 นั่นหมายถึงประสิทธิภาพการกักเก็บ คาร์บอนในอีอีซีต่ำลง โดยแนวทางการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำจำเป็นต่อการพัฒนาพื้นที่ ในขณะที่ไทยมีเป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20-25% ภายในปี 2573 เท่ากับเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอีอีซีอยู่ที่ 6.9-8.6 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

4.นโยบายหรือโครงการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในอีอีซีพบว่า พื้นที่เกษตรกรรมลดลง 4.9% ในช่วงปี 2556-2563 ในขณะที่พื้นที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 27.41% พื้นที่พาณิชยกรรมเพิ่มขึ้น 35.64% และพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 28.98% นับว่าเป็นแรงกดดันของทุกภูมินิเวศ ทั้งนี้ขึ้นกับทำเลที่ตั้งของโครงการพัฒนาต่างๆ

5.ประชากร นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านคน ในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านคนในปี 2562 ส่งผลต่อการบุกรุกและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในพื้นที่ธรรมชาติหากขาดการบริหารจัดการที่ดีพอ ในขณะที่ประชากรแฝงในพื้นจังหวัดชลบุรีเพิ่มขึ้นจาก 538,000 ในปี 2562 เป็น 1.15 ล้านคน ในปี 2570 ซึ่งหมายถึงความต้องการบริโภคทรัพยากรและการปล่อยของเสียออกสู่พื้นที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและแรงงานที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อความเปราะบางของพื้นที่ในการเปลี่ยนแปลง และความมีอยู่ของอาหารในพื้นที่

6.สถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขตพื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งน้ำมีคุณภาพเสื่อมโทรม คือ คลองนครเนื่องเขต คลองท่าไข่ จ.ฉะเชิงเทรา , คลองตำหรุ คลองพานทอง จ.ชลบุรี และแม่น้ำประแสร์ แม่น้ำระยอง จ.ระยอง ในขณะที่พื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชุมชน เขตอุตสาหกรรม 168,166 ไร่ คิดเป็น 10.06% และน้ำต้นทุนอยู่ที่ 1,215 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งไม่พอความต้องการที่มากถึง 2,375 ล้าน ลบ.ม.

 

ปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า แผนสิ่งแวดล้อมอีอีซีจะไปผูกพันกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในโครงการในอีอีซี ซึ่งต้องพิจารณาถึงระยะเวลาการศึกษาให้สั้นลงและให้คนมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งบางครั้งไม่สอดคล้องกับงบประมาณ เช่น การพัฒนาถนนเลียบชายฝั่ง การสร้างสะพานข้ามคลองหรือแหล่งน้ำ

ทั้งนี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในอีอีซีจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมใหม่ คือ ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขยะจากกระบวนการการผลิต ขยะชีวภาพ ซึ่งต้องมีกระบวนขจัดให้ถูกต้อง ดังนั้นต้องพิจารณากระบวนการจัดขยะให้ชัดเจนในแผนจัดการสิ่งแวดล้อม และต้องไม่เพิ่มขั้นตอนอีกเพราะจะทำให้ผู้ลงทุนลังเลและไม่อยากลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาเกิดขึ้นหลายโรงงาน ดังนั้นจึงอยากให้มีความชัดเจนในแผนการขจัดขยะทั้งระบบ

ส่วนการบริหารจัดการแหล่งน้ำที่ปัจจุบันใช้น้ำรวมกันทั้งการบริโภคและอุตสาหกรรม เช่น อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ซึ่งแหล่งน้ำในภาคตะวันออกที่ดีที่สุด คือ อ่างเก็บน้ำประแสร์ เพราะต้นน้ำไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมทำให้ไม่มีปนเปื้อน ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างแหล่งน้ำผลิตประปาเพื่ออุปโภคบริโภคและแหล่งน้ำอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมาหอการค้าไทยเสนอโครงการเดินท่อน้ำจากแหล่งน้ำเพื่อเป็นระบบปิดเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเมื่อถึงโรงกรองน้ำสำหรับผลิตน้ำประปา

นอกจากนี้การบริหารทรัพยากรทางชายฝั่งที่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาการรั่วไหลน้ำมันจากเรือบรรทุกน้ำมัน หรือเรือบรรทุกสินค้า หรือเรือบรรทุกของเสียทำของเสียรั่วลงทะเลและซัดมาเกยตื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งควรมีแนวทางจัดการเรื่องนี้ ส่วนปัญหาอากาศต้องการให้รัฐบาลปัดฝุ่น พ.ร.บ.อากาศสะอาดกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าปัจจุบันหลายโรงงงานดูแลจัดการเรื่องนี้แล้วก็ตาม