ศาลแพ่งสั่ง 'คุ้มครอง' ชั่วคราว ห้ามนายกฯ ใช้กฎหมาย 'ปิดปากสื่อ'

ศาลแพ่งสั่ง 'คุ้มครอง' ชั่วคราว ห้ามนายกฯ ใช้กฎหมาย 'ปิดปากสื่อ'

ด่วน!ศาลแพ่งสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้าม"นายกฯ"บังคับใช้ข้อกำหนดข้อ 29 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดปากสื่อ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

จากกรณีเมื่อวันที่ 2 ส.ค.64 สื่อมวลชนและประชาชนนำโดย The Reporters, Voice, THE STANDARD, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, echo, PLUS SEVEN และประชาชนเบียร์ พร้อมทีมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รวมตัวยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ต่อศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก

โดยตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ศาลแพ่งมีคำสั่งให้รับคำฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ พ 3618/2564 ที่บริษัท รีพอร์ตเตอร์ โปรดักชั่น จำกัด กับพวกรวม 12 คน ยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29  กรกฎาคม 2564

พร้อมรับคำร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินโดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวและห้ามมิให้นำมาตรการ คำสั่ง หรือการกระทำใดๆที่สั่งการตามประกาศดังกล่าวมาใช้กับฝ่ายโจทก์ ประชาชนและสื่อมวลชนไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีนี้ และศาลนัดฟังคำสั่งวันที่  6 สิงหาคม 2564 เวลา 13.30 น.นั้น

บัดนี้ ศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ พ 3618/2564  ได้ออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานแล้วมีคำสั่งอันสรุปใจความได้ว่า “ข้อกำหนดฯ ข้อ 1 ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว มิได้จำกัดเฉพาะข้อความอันเป็นเท็จดังเหตุผลและความจำเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกำหนดดังกล่าว ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของโจทก์ทั้งสิบสองและประชาชนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติคุ้มครองไว้

ทั้งยังไม่ต้องด้วยข้อกำหนดฯ ที่ระบุว่า จำเป็นต้องมีมาตรการที่กำหนดให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผล ถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวตามข้อกำหนดข้อดังกล่าวนั้น มีลักษณะไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้าง ทำให้โจทก์ทั้งสิบสอง ประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 34  วรรคหนึ่ง และมาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติคุ้มครองไว้

นอกจากนี้ ยังเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ต้องด้วยมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญฯ ทั้งข้อกำหนดดังกล่าวก็ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่โจทก์ทั้งสิบสองหรือประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ตามความในมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 

ส่วนข้อกำหนดฯ ข้อ 2 ที่ให้อำนาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ไม่ปรากฏว่ามาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดให้ดำเนินการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต จึงเป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease : COVID-19) และรัฐสั่งปิดพื้นที่หรือล๊อกดาวน์จำกัดการเดินทางหรือการพบปะระหว่างบุคคล

ทั้งข้อกำหนดข้อดังกล่าวมิได้จำกัดเฉพาะการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตสำหรับการกระทำครั้งที่เป็นเหตุแห่งการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคตด้วย ปิดกั้นการสื่อสารของบุคคล และเป็นการปิดกั้นสุจริตชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าว ไม่ต้องด้วยมาตรา 36  วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญฯ

การให้ข้อกำหนดทั้งสองข้อดังกล่าวมีผลบังคับใช้ต่อไปอาจทำให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้ กรณีมีเหตุจำเป็นเห็นเป็นการยุติธรรมและสมควรในการนำวิธีชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้เพื่อเป็นการระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดทั้งสองข้อดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2) มาตรา 255  (2) (ง) ประกอบมาตรา 267 วรรคหนึ่ง

และการระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่น่าเป็นอุปสรรคแก่การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐหรือแก่ประโยชน์สาธารณะ เพราะยังมีมาตรการทางกฎหมายหลายฉบับให้สามารถดำเนินการเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ อีกทั้งรัฐสามารถใช้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ในการกำกับเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้เพื่อการรู้เท่าทัน สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนแก่ประชาชนได้ด้วย

จึงมีคำสั่งห้ามจำเลยดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 ก.ค. 2564 ความว่า …อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ข้อ 2. ในกรณีมีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารตามข้อ 1 ในอินเทอร์เน็ต ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมทุกรายทราบ

และให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวทุกรายมีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมีที่มาจากเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดตามที่สำนักงาน กสทช. กำหนด ให้สำนักงาน กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP Address) นั้นทันที

ให้สำนักงาน กสทช. ส่งรายละเอียดตามที่ได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่งให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยเร็วเพื่อดำเนินคดีต่อไป ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต และให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไปโดยข้อกำหนดมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป

162824008080