เปิดข้อมูลวัคซีนชิลี ‘ซิโนแวค’ได้ผลน้อยสุด

เปิดข้อมูลวัคซีนชิลี ‘ซิโนแวค’ได้ผลน้อยสุด

หน่วยงานสาธารณสุขชิลีเผยผลการใช้วัคซีนในโลกจริง ซิโนแวคป้องกันการเจ็บป่วยแบบมีอาการได้ 58.5% น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับไฟเซอร์ 87.7% แอสตร้าเซนเนก้า 68.7%

หน่วยงานสาธารณสุขชิลีเผยผลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19ในประเทศ ที่ถือเป็นข้อมูลในโลกจริงชุดล่าสุด ถึงประสิทธิผลการใช้วัคซีนชนิดต่างๆ ในหมู่ประชาชนชิลี ประเทศหนึ่งทีี่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เร็วที่สุดในโลก เริ่มตั้งแต่เดือน ธ.ค.63 ขณะนี้ประชากรกว่า 60% ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว หลักๆ คือวัคซีนโคโรนาแวคของซิโนแวค

นายแพทย์ราฟาเอล อราออส แถลงเมื่อวันอังคาร (3 ส.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นว่า ระหว่างเดือน ก.พ.-ก.ค.วัคซีนโคโรนาแวคมีประสิทธิภาพป้องกันการเข้าโรงพยาบาล 86% ป้องกันการเข้าห้องไอซียู 89.7% ป้องกันการเสียชีวิต 86%

ในเดือน เม.ย. พบว่า โคโรนาแวคป้องกันการเจ็บป่วยแบบมีอาการ67% ป้องกันการเข้าโรงพยาบาล 85% ป้องกันการเสียชีวิต 80% ชี้ให้เห็นว่า ความสามารถของโคโรนาแวคในการป้องกันผลกระทบรุนแรงจากไวรัสแข็งแกร่งขึ้น ขณะที่ความสามารถในการหยุดยั้งการเจ็บป่วยแบบมีอาการลดลง

นายแพทย์อราออสกล่าวด้วยว่า เมื่อเวลาผ่านวัคซีนย่อมปกป้องได้น้อยลง โดยเฉพาะเมื่อสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างสายพันธุ์เดลตากระจายไปมากขึ้น เขาจึงเห็นว่าควรมีการฉีดกระตุ้นเข็ม 3

นอกจากนี้นายแพทย์อราออสยังเผยข้อมูลประสิทธิผลวัคซีนไฟเซอร์ในช่วงเวลาเดียวกัน ป้องกันการเจ็บป่วยแบบมีอาการ 87.7% ป้องกันการเข้าห้องไอซียู 98% และป้องกันการเสียชีวิต 100%แอสตร้าเซนเนก้าป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการ 68.7% ป้องกันการเข้าห้องไอซียู 98% ป้องกันการเสียชีวิต 100%

การศึกษาครั้งนี้ทดสอบประสิทธิผลวัคซีนในประชาชนกลุ่มต่างๆ หลังจากฉีดวัคซีนครบสองโดส โดสเดียว หรือไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย โดยกลุ่มประชากรที่ศึกษาฉีดโคโรนาแวค 8.6 ล้านคน ฉีดไฟเซอร์-ไบออนเทค 4.5 ล้านคน และฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2.3 ล้านคน