แนะทางรอดท่องเที่ยวไทย! พลิกวิกฤติชูจุดขายใหม่-ลงทุนทันยุค 5.0

แนะทางรอดท่องเที่ยวไทย! พลิกวิกฤติชูจุดขายใหม่-ลงทุนทันยุค 5.0

ถึงเวลาภาคท่องเที่ยวไทยต้องปรับโฉมใหม่! ปรับให้ไฉไลกว่าเดิม พลิกสถานการณ์จากวิกฤติโควิด-19 ด้วยการบูรณาการความร่วมมือ เฟ้นหาโอกาส สร้างจุดขายตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวที่ปรับเปลี่ยนก้าวสู่ยุคดิจิทัล

ภายในงานเสวนาออนไลน์ “ถอดบทเรียนการป้องกันโควิด-19 จากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สู่พื้นที่พิเศษและเมืองรอง ครั้งที่ 1” จัดโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ได้ร่วมถอดบทเรียนภาคท่องเที่ยวไทย โดยชี้ว่าควร “วางตำแหน่ง” ของประเทศไทยใหม่!

เพราะก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 ภาคท่องเที่ยวไทยเติบโตดีมาก เมื่อปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนมากเป็นอันดับ 8 ของโลก สร้างรายได้ท่องเที่ยวสุทธิเป็นอันดับที่ 3 ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวอยู่อันดับที่ 31 ของโลก

“ภาคท่องเที่ยวไทยมีรายได้อยู่ในยุค 5.0 แต่การลงทุนเพื่อการท่องเที่ยวกลับยังอยู่ในยุค 2.0 !!

ทั้งที่ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเทียบเคียงกับประเทศพัฒนาแล้ว แต่มีโครงสร้างฝั่งซัพพลายเท่ากับประเทศด้อยพัฒนา ประเทศไทยจึงควรลงทุนเพื่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะสาธารณูปโภคด้านขนส่ง โทรคมนาคม เทคโนโลยีดิจิทัล และพัฒนาเมืองเพื่อให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ได้แนะ “ทางรอด” ของเศรษฐกิจและท่องเที่ยวไทยว่า ต้องเพิ่มเสาเข็ม! และไม่ควรพึ่งพาภาคท่องเที่ยวเป็นเสาเดียวเหมือน “เสาฐานพระภูมิ” อย่างกรณี จ.ภูเก็ต ปัจจุบันอาศัยรายได้จากภาคท่องเที่ยวมากกว่า 70% จำเป็นต้องหารายได้จากภาคอื่นมาเสริม เช่น ชูจุดขายใหม่ความเป็นศูนย์กลางของคริปโตเคอเรนซี่ ควบคู่กับการขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยวที่มีอยู่ให้ขายได้ตลอดทั้งปี

พร้อมบูรณาการ “เศรษฐกิจฐานราก” ทั้งในเมืองและชนบท ไม่โฟกัสเฉพาะท่องเที่ยวชุมชนเท่านั้น ผสมผสานกับ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” หลอมรวมให้ภาคท่องเที่ยวกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์ผนึกเป็นส่วนเดียวกัน โดยอาศัย “เศรษฐกิจดิจิทัล” เป็นฐานรากใหญ่ อินเทอร์เน็ตต้องแรง เพราะจะสามารถดึงกลุ่มดิจิทัลนอแมด ไปท่องเที่ยวและพำนักตามชุมชนต่างๆ ในไทยได้

ขณะเดียวกันต้อง “เพิ่มห่วงโซ่การผลิต” ด้วยการเพิ่ม Design Thinking ให้สินค้าพบนักท่องเที่ยวเร็วที่สุด ซอยห่วงโซ่อุปทานให้มาก ยิ่งมากยิ่งดี เพราะนั่นหมายความว่านักท่องเที่ยวจะมีกิจกรรมให้ทำอีกมากระหว่างมาเที่ยวไทย นอกจากนี้ต้องพัฒนาเมืองให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาด้วย

สำหรับข้อเสนอแนะ “เชิงปฏิบัติการและนโยบาย” ทาง ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ มองว่าภาคท่องเที่ยวไทยควรใช้สื่อออนไลน์นำสินทรัพย์ในโลเกชั่น (Asset on Location) ที่เป็น One Time Product เปลี่ยนเป็น All Time Product นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้มัคคุเทศก์ท้องถิ่นเป็นยูทูปเบอร์ หรือสร้างเวทีให้บล็อกเกอร์หรืออินฟลูเอ็นเซอร์ท้องถิ่น เพื่อสร้างฐานแฟนคลับนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อย่าจำกัดตัวเองด้วยการขายโปรแกรมท่องเที่ยวแบบแค่วันเดียว (One Day Stand) แต่ควรมุ่งขายมิตรภาพนิรันดร์กาล (Life Time Friendship) ขณะเดียวกันมัคคุเทศก์จำเป็นต้องเพิ่มทักษะ (Re-skill) ให้สามารถเข้าสู่อาชีพใหม่ได้ เช่น การลงเป็นเล่นในสนามค้าขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ

ด้านข้อเสนอแนะ “งานวิจัยเมืองท่องเที่ยว” สิ่งสำคัญคือการวางแผนระดับเมืองสำหรับการท่องเที่ยวของจังหวัดเมืองเอกที่มีศักยภาพสูง เช่น ภูเก็ต พบว่าไม่ได้มีการลงทุนในโครงสร้างขนส่งสาธารณะมากพอ ยกเว้นการลงทุนพัฒนาสนามบินที่โดดเด่นเพียงอย่างเดียว ทำให้ภูเก็ตมีปัญหาการเดินทางภายในจังหวัด โดยเฉพาะค่าแท็กซี่ที่ราคาแพงเกินไปจนรู้สึกเหมือน “ถูกฟันราคา” คนไทยไปเที่ยวภูเก็ตจึงคิดว่าค่าแท็กซี่ไปสถานที่ต่างๆ เมื่อรวมๆ แล้วแพงกว่าค่าที่พักด้วยซ้ำ

อีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม คือการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับเมืองท่องเที่ยวให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำข้อมูลไปแขวนบนแพลตฟอร์มเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงสะดวกขึ้น รวมถึงการบูรณาการวางแผนเมืองระหว่างการอนุรักษ์เมืองเก่า เมืองอัจฉริยะ และเมืองเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งในปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละด้านต่างแยกกันทำงานอย่างเป็นอิสระ

ส่วนมิติข้อเสนอแนะ “ด้านฐานข้อมูล” ควรมีการบูรณาการฐานข้อมูลที่มีอยู่ของทะเลสาบข้อมูล (Data Lake) ด้านการท่องเที่ยวไทย พร้อมส่งเสริมให้มีการใช้ฐานข้อมูลจากโซเชียลมีเดียในการศึกษาวิจัยมากยิ่งขึ้น

ปิดท้ายด้วยข้อเสนอแนะ “ด้านการตลาด” เริ่มด้วยการรีแบรนด์บางจังหวัด เช่น ชลบุรี และระยอง ให้บางส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือบางพื้นที่เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) อย่างแท้จริง ขณะที่การศึกษาวิจัยด้านดีมานด์ ควรให้ความสำคัญมากขึ้นกับการศึกษาตามกลุ่ม เช่น ตามไลฟ์สไตล์ และเจเนอเรชั่น โดยพบว่าหลังจากวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายแล้ว ตลาดนักท่องเที่ยวที่น่าจับตามองคือกลุ่มที่ให้ความสนใจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความสุข และความยั่งยืนมากขึ้น! ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มครอบครัว และกลุ่มวัยเกษียณ