ระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystems)

ระบบนิเวศทางธุรกิจ   (Ecosystems)

ผศ.ดร.ธีทัต ตรีศิริโชติ หัวหน้าศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาการบริหารจัดการ วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ระบบนิเวศ (ecosystem) หมายถึง ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในแหล่งที่อยู่อาศัย ณ ที่ใดที่หนึ่ง ความสัมพันธ์มี 2 ลักษณะ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิตและระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิตด้วยกันเอง โดยมีการถ่ายทอดพลังงานและสารอาหารในบริเวณนั้น ๆ สู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นความหมายที่เรารู้จักกันใน การศึกษานิเวศวิทยา (ecology) ซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งว่าด้วยการศึกษาสิ่งมีชีวิตในแหล่งอาศัย รวมถึง การศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ความสัมพันธ์ทั้งสองลักษณะนี้ เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน และเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ไม่สามารถอยู่ได้เพียงลำพังโดยไม่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบต่าง ๆ ความสัมพันธ์ภายในระบบนิเวศนั้น มีความสมดุลอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ยกเว้นว่าจะมีสิ่งใดมารบกวนระบบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ขึ้น แต่ก็มีการปรับตัวมาเหมือนเดิมได้ใหม่ยกเว้นกรณีที่สิ่งที่มารบกวนนั้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ระบบนั้นก็จะถูกทำลายลงได้

ในปัจจุบันนี้ ในด้านธุรกิจ ก็มีการพูดถึง Ecosystems เช่นเดียวกัน นั่นก็คือระบบนิเวศทางธุรกิจ ที่มีความเชื่อมโยงกันเหมือนระบบนิเวศของสัตว์ป่า ซึ่งต้องอาศัยประโยชน์ของกันและกันในการดำรงอยู่ โดยระบบนิเวศธุรกิจก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ ซึ่งระบบนิเวศเศรษฐกิจจะประกอบไปด้วย ระบบนิเวศธุรกิจ ระบบนิเวศเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภค และระบบนิเวศของหน่วยงานรัฐที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับระบบนิเวศของธุรกิจของเราดำเนินการไปได้ด้วยดี

การทำธุรกิจในอดีตส่วนใหญ่จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบของ One-Sided Business โดยเริ่มตั้งแต่จัดการเรื่องเงินทุนด้วยตนเอง จัดหาวัตถุดิบด้วยตนเอง ตั้งโรงงานด้วยตนเอง ไปจนถึงการหาทางเข้าถึงลูกค้าด้วยตนเอง แบบนี้เรียกว่าการทำธุรกิจแบบทิศทางเดียว ในปัจจุบันหากเราต้องการที่จะแข่งขันกับธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในยามวิกฤติ เราต้องหันไปพึ่งพาพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพมากพอที่จะช่วยเราฝ่าฟันวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ เช่น การทำธุรกิจแบบระบบนิเวศ เป็นต้น

ดังนั้น การออกแบบระบบนิเวศทางธุรกิจ จึงมีความสำคัญ เสมือนการสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ที่อัดแน่นไปด้วยบริการ และการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า (User Experience) ที่มีกลไกกระตุ้น (Trigger) ที่ทำให้เรา ลูกค้า หรือกลุ่มเป้าหมายต้องเกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในวังวนของธุรกิจ ที่หากเราค้นไปลึกๆ ธุรกิจเหล่านั้นก็คือ เจ้าของหรือเครือเดียวกัน

ธุรกิจประเภท Ecosystem Businesses จะเกิดการได้เปรียบในการแข่งขัน ถ้าเปิดธุรกิจต้อนรับคู่ค้าหรือพาร์ทเนอร์รายอื่นที่มีศักยภาพที่ดีพอที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจของเราเติบโตขึ้นได้

Ecosystem Business แบ่งได้เป็น 2 แบบ ดังนี้ 1. Ecosystem Partnerships คือ การหาพาร์ทเนอร์ธุรกิจที่ตอบโจทย์การดำเนินงานของเราได้ เช่น ธุรกิจ E-Commerce มีพาร์ทเนอร์เป็นธุรกิจโลจิสติกส์ที่เอื้ออำนวยต่อการขนส่งสินค้า หรือการเป็นพาร์ทเนอร์กับบัตรเครดิต เป็นต้น และ 2. Ecosystem Corporate Sustainability คือ การสร้างทรัพยากรทางธุรกิจขึ้นมาเอง โดยให้ลูกค้าเข้ามาใช้เครือข่ายบริการที่เราสร้างขึ้นมาทั้งหมด เช่น Facebook ที่มีทั้ง live streaming, messenger, marketplace หรือ Facebook page เป็นต้น

สรุปได้ว่า หากเราต้องการทำธุรกิจให้เติบโตในอุตสาหกรรมและประหยัดต้นทุนด้านทรัพยากร การทำธุรกิจแบบ Ecosystem Businesses คืออีกหนึ่งแนวคิดในการทำธุรกิจให้เป็นทางรอดขององค์กรในยุคใหม่