โลกใบนี้เล็กไปสำหรับ ‘เจฟฟ์ เบโซส์’

โลกใบนี้เล็กไปสำหรับ ‘เจฟฟ์ เบโซส์’

เมื่อมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกวางมือจากการบริหารบริษัทการค้ายักษ์ใหญ่อย่าง Amazon แล้วหันมานั่งยานออกไปนอกโลก บุกการท่องเที่ยวอวกาศ สานฝันวัยเยาว์

หากคุณเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก คุณจะเลือกใช้เงินของคุณไปกับอะไร

เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ซีอีโอบริษัท Amazon เจ้าของตำแหน่งบุคคลที่มั่งคั่งที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ เลือกทุ่มเททรัพย์สินเงินทองไปกับการจัดตั้งบริษัท Blue Origin เพื่อปูทางไปสู่อนาคตที่มนุษยชาติอาจโยกย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ในอวกาศแทน

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ได้เกิดก้าวเล็กๆ แต่เป็นก้าวที่สำคัญของบริษัท Blue Origin ที่ก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า 20 ปีขึ้น เมื่อยาน New Shepard นำพามนุษย์โลก 4 คนออกไปนอกชั้นบรรยากาศ นอกจาก เจฟฟ์ เบโซส์ เจ้าของบริษัทแล้วยังมี มาร์ค เบโซส์ น้องชายของเขา วอลลี ฟังค์ (Wally Funk) นักบินหญิงอเมริกันวัย 82 ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักบินอวกาศมาตั้งแต่เด็ก และโอลิเวอร์ แดเมน (Oliver Daemen) เด็กหนุ่มชาวเนเธอร์แลนด์ วัย 18 ปี รวมอยู่ด้วย

162804881961

ภาพ : https://www.blueorigin.com

เมื่อยานลอยออกไปที่ระดับความสูง 351,210 ฟุตเหนือพื้นโลก ทั้ง 4 คนก็พากันปลดเข็มขัดรัดตัวเองกับเก้าอี้ออกเพื่อลอยตัว สัมผัสสภาวะไร้น้ำหนักที่จะเกิดขึ้นเมื่ออยู่นอกชั้นบรรยากาศของโลก แถมยังได้มองออกไปนอกหน้าต่างบานใหญ่ เห็นดาวเคราะห์โลกในมุมที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้เห็น

ทว่า ประสบการณ์อันหาได้ยากยิ่งกินเวลาเพียงแค่ราวๆ 3-4 นาทีก่อนที่ยานจะตกลงมายังพื้นโลก นับรวมแล้ว New Shepard ใช้เวลา 10 นาที 10 วินาที นับจากปล่อยยานออกจากฐานจรวดในรัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งกลับมาอย่างปลอดภัย

162804829385

162804831848

162804821969

ภาพ : https://www.blueorigin.com

เจฟฟ์ เบโซส์ เติบโตมาในยุคอพอลโลที่การสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกาก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทำให้เขามีความหลงใหลใฝ่ฝันในเรื่องนี้

“อวกาศเป็นสิ่งที่ผมหลงรักมาตั้งแต่ตอนที่มีอายุได้ 5 ขวบ ผมดู นีล อาร์มสตรอง เหยียบลงไปบนพื้นผิวของดวงจันทร์ ผมว่ามันคงฝังใจมาตั้งแต่นั้น” เบโซส์ให้สัมภาษณ์เอาไว้ในปี 2557

อย่างไรก็ตาม เบโซส์ต้องใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะได้สานฝันในวัยเยาว์ เขาเริ่มงานที่วอลสตรีทเป็นที่แรก ก่อตั้ง Amazon ในปี 2537 อีกหกปีต่อมา Blue Origin จึงได้ถือกำเนิดขึ้น แต่ถึงกระนั้นความรับผิดชอบส่วนใหญ่ของเบโซส์คือการก่อร่างสร้าง Amazon จากบริษัทขายหนังสือออนไลน์ให้กลายมาเป็นกลุ่มค้าปลีกที่ทรงพลังเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในปัจจุบัน

เมื่อ Amazon มั่นคงแล้ว เบโซส์ก็ค่อยๆ วางมือ มอบอำนาจการบริหารงานรายวันให้กับผู้ที่มีตำแหน่งรองลงมา แล้วแบ่งเวลาหนึ่งวันต่อสัปดาห์ให้กับการดูแล Blue Origin โดยเฉพาะ แถมยังประกาศเมื่อปี 2560 ว่าจะขายหุ้น Amazon ปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำเงินไปใช้ในธุรกิจอวกาศ

ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เบโซส์ขยับไปอีกขั้นด้วยการก้าวลงจากตำแหน่ง CEO ของ Amazon อย่างเป็นทางการโดยมอบหมายให้ แอนดี้ แจสซี รับหน้าที่แทน เขากล่าวเอาไว้ในจดหมายที่เขียนถึงพนักงานว่า การเป็นซีอีโอของ Amazon นั้นเป็นความรับผิดชอบที่หนักหนา และกินเวลามาก

“เวลาที่คุณมีความรับผิดชอบแบบนั้น มันยากที่จะให้ความสนใจกับเรื่องอื่น” เบโซส์กล่าว พร้อมเสริมว่าจะกลับไปทำหน้าที่นักประดิษฐ์ ทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคิดค้นอะไรใหม่ๆ ให้กับ Amazon แทน โดยการก้าวลงจากตำแหน่ง CEO นี้ไม่ใช่การเกษียณ เพราะตอนนี้เขามีพลังล้นเหลือแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วยซ้ำ

หลังจากนั้นไม่นาน เบโซส์ก็แสดงให้เห็นว่าเขาหันไปทุ่มเทกับอะไร เพราะพอก้าวลงจากตำแหน่ง CEO ได้เพียง 2 สัปดาห์ เขาก็บินออกไปนอกโลกพร้อมกับยานอวกาศของ Blue Origin อย่างที่ได้เห็นกัน

162804838628

162804839956

ภาพ : https://www.blueorigin.com

คาริสสา คริสเตนเซน ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Bryce Space and Technology ที่ปรึกษาด้านอวกาศสัญชาติสหรัฐ บอกว่า เธอเชื่อทุกคำพูดของเบโซส์ที่ประกาศต่อสาธารณชนว่าตั้ง Blue Origin ขึ้นมาเพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญ และคุณค่าของการที่มนุษย์จะได้ออกไปในอวกาศ ตลอดจนขยับขยายโอกาสในการออกไปนอกโลก ทำให้มนุษย์สามารถอยู่อาศัยและทำงานในอวกาศได้ในอนาคต

“เจฟฟ์ เบโซส์ มีหนทางมากมายที่จะใช้เวลาและทรัพย์สินเงินทองของเขา แต่เขาเลือกที่จะเอาเงินส่วนตัวมาเปิดบริษัทนี้” คริสเตนเซนกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยที่กังขาว่าการนั่งยานออกไปนอกโลกที่ระดับ suborbital space (ถือว่าเข้าสู่อวกาศแล้ว แต่ยังไม่เข้าสู่วงโคจรของโลก) ที่กินเวลาเพียงชั่วอึดใจนี้จะเป็นเพียงการหาประสบการณ์แปลกใหม่ของกลุ่ม super ultra-rich ที่ไม่ได้มีผลอะไรต่อการพัฒนาอวกาศเลยหรือไม่

“อวกาศยังคงเป็นสถานที่ของกลุ่มคนที่ร่ำรวยมาก เป็นที่ๆ ยากจะไป เป็นที่ๆ 99 เปอร์เซนต์ของประชากรมนุษย์ไม่สามารถเอื้อมถึง และดูเหมือนว่าความชอบของพวกอีลิทกำลังเปลี่ยนไป ทำให้ตอนนี้การไปอวกาศเป็นเรื่องของการมีเส้นสาย และเงินในบัญชีไปแล้ว ไม่ใช่การมองอวกาศว่าเป็นยูโทเปีย หรือโลกในอุดมคติอีกต่อไป” จอร์แดน บริมม์ นักประวัติศาสตร์อวกาศจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ให้ความเห็น

ปัจจุบันมี 3 บริษัทชั้นนำกำลังแข่งกันทำธุรกิจสร้างยานอวกาศเชิงพาณิชย์ นั่นคือ SpaceX ของอีลอน มัสก์ Virgin Galactic ของเซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน และ Blue Origin ของเจฟฟ์ เบโซส์

โดยบริษัทของแบรนสันได้ปล่อยยาน V.S.S. Unity ออกสู่อวกาศที่ระดับความสูง 46,000 ไปเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในยานมีนักบิน 2 คน และผู้โดยสาร 4 คน รวมถึงตัวแบรนสันเองขึ้นไปด้วย และกลับลงมาอย่างปลอดภัย

162804995684

162804915752

ริชาร์ด แบรนสัน บนยาน V.S.S. Unity     credit : ทวิตเตอร์ @virgingalactic

ในส่วนของ Blue Origin หลังจากที่เบโซส์เดินทางออกไปนอกโลกพร้อมกับยานของตัวเองเป็นผลสำเร็จ ทางบริษัทก็ประกาศว่ามีแผนจะเปิดเที่ยวบินท่องอวกาศ 2 เที่ยวบินปลายปี 2564 นี้ โดยแต่ละเที่ยวบินจะมีคน 6 คนได้ขึ้นไปสัมผัสสภาวะไร้น้ำหนักในอวกาศนาน 4 นาที

Blue Origin ยังไม่ได้ตั้งราคาค่าตั๋วเดินทางท่องอวกาศ ขณะที่ทาง Virgin Galactic ประกาศขายตั๋วที่ใบละ 250,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 8.2 ล้านบาท) ซึ่งตอนนี้มีคนจองแล้วอย่างน้อย 600 ใบ ตามการเปิดเผยของบริษัทที่แย้มว่าอาจเพิ่มราคาค่าตั๋วขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ

ส่วน SpaceX ของ อีลอน มัสก์ นั้นมีภารกิจท่องอวกาศรออยู่ 2 ภารกิจในช่วง 12 เดือนข้างหน้า นั่นคือการพา จาเร็ด ไอแซคแมน (Jared Isaacman) ผู้ก่อตั้งบริษัท Shift4 Payments พร้อมนักบินอวกาศอีก 3 คน ขึ้นยาน Inspiration4 ออกไปโคจรรอบโลกในเดือนกันยายน

162804947212

นักบินยาน Inspiration4                credit : ทวิตเตอร์ @inspiration4x

ภารกิจที่สองเกี่ยวข้องกับบริษัท Axiom Space ที่จะพามหาเศรษฐี 3 คน และนักบินอวกาศที่ทำงานให้บริษัท 1 คน ขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ซึ่งแม้จะมาทีหลัง แต่ SpaceX มีข้อได้เปรียบตรงที่จะพาคนออกสู่วงโคจรจริงๆ แถมยังได้อยู่ในอวกาศหลายวัน ไม่ใช่ออกไปสัมผัสเพียงไม่กี่นาทีแบบของ Blue Origin และ Virgin Galactic

นอกเหนือจาก 3 บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ระดับโลกนี้แล้วยังมีอีกหลายองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนาการเดินทางท่องอวกาศ เช่น สำนักงานอวกาศรัสเซีย Roscosmos และบริษัทกระจายเสียง Channel One ของรัสเซีย ที่อยู่เบื้องหลังแผนการส่งนักแสดงหญิง Yulia Peresild และผู้สร้างหนัง Klim Shipenko ไปถ่ายหนังเรื่อง Challenge บนสถานีอวกาศ โดย Peresild จะรับบทศัลยแพทย์ที่ถูกส่งตัวไปนอกโลกเพื่อช่วยชีวิตนักบินอวกาศรัสเซีย

นอกเหนือจาก 2 คนนี้แล้วยังมีผู้ประกอบการแฟชั่นชาวญี่ปุ่น Yusaku Maezawa และ Yozo Hirano ผู้ช่วยฝ่ายผลิต ที่จะออกเดินทางไปร่วมการถ่ายหนังเรื่องนี้ในเดือนธันวาคมกับยานโซยูสของรัสเซีย ในทริปที่กินเวลาถึง 12 วัน

นอกจากนี้ยังมีช่อง Discovery Channel ที่ประกาศทำรายการเรียลลิตี้ Who Wants to Be an Astronaut? ซึ่งผู้ชนะจะได้เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ รายการนี้จะมีทั้งหมด 8 ตอน คาดว่าจะออกอากาศได้ในปีหน้า

162804957266

ภาพการปล่อยยาน New Shepard เมื่อวันที่ 20 กค. 2564          ภาพ : https://www.blueorigin.com

การเดินทางท่องอวกาศเชิงพาณิชย์เหล่านี้มีเป้าประสงค์ทางวิทยาศาสตร์อยู่ด้วย หรือเป็นไปเพื่อความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว?

เป็นคำถามที่หลายคนต้องการคำตอบ

เท่านั้นไม่พอ เที่ยวบินท่องอวกาศของ Virgin Galactic และ Blue Origin ยังเป็นเพียงการพาคนไปอวกาศที่ระดับ suborbital space ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่อะไร เพราะนาซาทำเรื่องนี้สำเร็จมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 60 แล้ว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะยังไม่ชัดเจนว่าทริปท่องอวกาศเหล่านี้จะให้อะไรใหม่ๆ ในทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ แต่อย่างน้อยก็น่าจะมีข้อมูลที่อาจเป็นประโยชน์ในการสำรวจอวกาศในอนาคตก็ได้ เช่น เที่ยวบินล่าสุดของ Virgin Galactic มีการนำพืชหลายชนิดขึ้นไปด้วยเพื่อทดสอบว่าพวกมันตอบสนองต่อสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำอย่างไร

นอกจากนี้ บริษัทเอกชนเหล่านี้ยังวางแผนจะนำยานอวกาศกลับมาใช้ซ้ำเพื่อลดต้นทุนในการทัวร์อวกาศ ซึ่งนี่อาจจะเป็นการพัฒนายานที่จะนำพามนุษย์เดินทางสู่อวกาศกันจนเป็นเรื่องปกติในอนาคตก็เป็นได้

เช่นที่เบโซส์กล่าวเอาไว้ว่า การออกไปนอกโลกที่ระดับ suborbital space ของยาน New Shepard เป็นการเตรียมพร้อมรับภารกิจในอนาคตของ Blue Origin หนึ่งในนั้นคือการสร้างจรวด New Glenn ที่จะออกไปสู่วงโคจรของโลกได้อย่างแท้จริง

“มันต้องใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะสำเร็จ แต่คุณต้องเริ่มต้น สิ่งใหญ่ๆ เริ่มต้นด้วยก้าวเล็กๆ นั่นคือสิ่งที่การท่องเที่ยวระดับ sub-orbital เปิดโอกาสให้เราทำ มันเปิดโอกาสให้เราได้ฝึกฝนครั้งแล้วครั้งเล่า”

162804986639