'ผ่อนบ้าน' ไม่ไหว ทำยังไงไม่ให้ 'โดนยึด' ?

'ผ่อนบ้าน' ไม่ไหว ทำยังไงไม่ให้ 'โดนยึด' ?

รวมทางการ ในการจัดการ "หนี้บ้าน" สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก "โควิด-19" แล้วจ่ายหนี้ไม่ไหว แต่ไม่อยากให้ถูก "ยึดบ้าน"

ปัญหาที่คนมี "หนี้บ้าน" หลายคนกำลังประสบอยู่ในตอนนี้ คือขาดสภาพคล่องเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ไม่สามารถผ่อนชำหนี้ได้ตามปกติ หรือมีโอกาสที่จะผ่อนชำระไม่ไหวในอนาคตอันใกล้ สำหรับลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบในลักษณะนี้ ควรทำอย่างไร เพื่อให้สามารถผ่อนชำระต่อไปได้ หรือสามารถประคับประคองสถานการณ์นี้ไว้ได้ไม่ให้ไปถึงขั้น "ถูกยึดบ้าน"

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมข้อมูลที่จะช่วยให้คนที่กำลังผ่อนบ้านและประสบปัญหาทางการเงินหาทางออกในช่วงวิกฤติเช่นนี้ไปได้ แบบไม่เสียประวัติการชำระหนี้ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

 1. ประเมินตัวเอง ไม่ไหวอย่าฝืน 

สิ่งที่ต้องเริ่มต้นทำอย่างจริงจังเมื่อเริ่มรู้ตัวว่ารายได้หรือเงินเดือนลดลง ณ ช่วงเวลาหนึ่งเรื่องมีปัญหาจนอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน คือ การประเมินตัวเองว่ามีกำลังในการชำหนี้ตามสัญญาเงินกู้ที่กำหนดไว้หรือไม่ 

โดยอาจใช้วิธีลิสต์รายการ รายรับและรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า 3-6 เดือน เพื่อให้เห็นว่าในแต่ละเดือนเราจะมีเงินเพียงพอครอบคลุมภาระเหล่านี้หรืออยู่หรือไม่ ขาดหรือเกินอยู่เท่าใดบ้าง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้รู้ตัวว่าจ่ายหนี้ไหว หรือไม่ไหวในอนาคต

หากรู้ตัวเริ่ม "ขาดสภาพคล่อง" หรือรู้ตัวว่าหากชำระหนี้ตามปกติแล้วจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน หรือจ่ายไม่ไหวด้วยเหตุอื่นๆ จะต้องรีบติดต่อธนาคารเจ้าหนี้ของเรา เพื่อหาทางออก

เพราะหากปล่อยเอาไว้ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่แค่มีโอกาสถูกยึดบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประวัติทางการเงินที่จะเสียหายหนัก ซึ่งส่งผลถึงการทำธุรกรรมต่างๆ ในอนาคตอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นหากทรัพย์สินมีมูลค่าน้อยกว่ายอดหนี้ คุณก็ยังคงต้องหาเงินมาชำระหนี้ส่วนที่ขาดเพิ่มเติมด้วย

 2. ติดต่อธนาคาร 

เมื่อประเมินกำลังการจ่ายของตัวเองแล้ว มีแนวโน้มจ่ายไม่ไหวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า สามารถติดต่อธนาคารเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกร่วมกัน ในกรณีที่เป็น "หนี้บ้าน"

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) แนะนำว่า มีโอกาสเจรจากับธนาคารเพื่อใช้มาตรการช่วยเหลือในกรณีต่างๆ ได้หลายทาง เช่น 

- การขอผ่อนชำระยอดหนี้ค้าง
- ยื่นขอขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ
- ชะลอการฟ้องร้อง
- ประนีประนอมยอมความ
- ชะลอการยึดทรัพย์
- ชะลอการขายทอดตลาด

อย่างไรก็ตาม จะใช้กรณีช่วยเหลือแบบไหนนั้นย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมา และยอดหนี้คงเหลือด้วย นั่นหมายความว่าธนาคารแต่ละธนาคารจะพิจารณาเป็นกรณีๆ ไปนั่นเอง

 3. สำรวจมาตรการช่วยจากธนาคาร กรณีได้รับผลกระทบจากโควิด-19 

ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ธนาคารหลายแห่งมีมาตราการออกมารองรับสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งแต่ละธนาคารมีนโยบายที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของสินเชื่อ โดยแบ่งลักษณะมาตรการช่วยเหลือหลักๆ ออกได้เป็น 5 รูปแบบ ที่มีข้อดี และข้อเสียแตกต่างกันออกไป ซึ่งในฐานะของลูกหนี้ ควรทำความเข้าใจและพิจารณาก่อนเข้าร่วมมาตรการ ดังนี้

162798795734

นอกจากนี้ลูกหนี้ยังสามารถตรวจสอบมาตราการช่วยเหลือรูปแบบต่างๆ จากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้ ที่นี่ เพื่อร่วมกับหาทางบริหารจัดการหนี้ในช่วงวิกฤตินี้ให้ผ่านไปได้แบบได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และไม่เสียเครดิตลูกหนี้ชั้นดีไปในอนาคต

ที่มา: ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย