'Go Samut Songkhram' แอพนำทางเที่ยวสมุทรสงคราม

'Go Samut Songkhram' แอพนำทางเที่ยวสมุทรสงคราม

วช. เปิดตัว แอพ “Go Samut Songkhram” เทคโนโลยีท่องเที่ยวเมืองรอง เชิงสร้างสรรค์ ลดความแออัดในเมือง เจาะกลุ่มชุมชนขนาดเล็ก หวังช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและจังหวัดสมุทรสงคราม

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนโครงการพัฒนาจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง “สมุทรสงคราม” ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร พัฒนาแอปพลิเคชันและสื่อ อำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว ลดความแออัดในเมือง เจาะกลุ่มชุมชนขนาดเล็ก หวังช่วยยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและจังหวัดสมุทรสงคราม ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตอบโจทย์นโยบายประเทศด้านการท่องเที่ยวเมืองรองเชิงสร้างสรรค์

162796223585

บ้านริมคลองโฮมสเตย์ สมุทรสงคราม


ดร.นิตินันท์ ศรีสุวรรณ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เมืองรองจากชุมชนเล็กเชื่อมโยงสู่ชุมชนใหญ่ด้วยสื่อดิจิทัล จังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า การวิจัยในครั้งนี้ ได้มุ่งสร้างผลผลิตสื่อดิจิทัลที่จับต้องได้ ในรูปแบบสื่อ 3 ประเภท คือ แอปพลิเคชันบนมือถือ แผ่นพับแนะนำเส้นทางการท่องเที่ยวพร้อม QR Code และสื่อวีดิทัศน์แนะนำแหล่งท่องเที่ยวสำหรับชาวไทย เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มชุมชนที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น และเป็นตัวช่วยในการวางแผนการเดินทางในยุค New Normal ให้กับนักท่องเที่ยว ผ่านการสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้อย่างง่ายดาย ที่สำคัญยังเป็นต้นแบบเทคโนโลยีในการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนรายได้ให้กับชุมชน อันเป็นกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองในคราวเดียวกัน

นักวิจัยได้ทำแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ขึ้น โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการสำรวจและออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวที่เป็นจุดเล็ก ๆ ที่นักท่องเที่ยวอาจจะยังเข้าไม่ถึงหรือไม่เคยเดินทางไปมาก่อน และมีความเป็น Unseen จัดเป็นโปรแกรมที่น่าสนใจ อาทิ เส้นทางวิถีเกลือสมุทร เส้นทางวิถีประมงดอนหอยหลอด-คลองโคน เส้นทางสุขใจวิถีไทยไหว้พระเก้าวัด เส้นทางสายน้ำสามเวลาและโฮมสเตย์เสน่ห์ชุมชน ชวนให้สัมผัสและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับชุมชนที่มีอัตลักษณ์เชิงสร้างสรรค์ ผ่านการระดมกำลังและแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างชุมชน ภาครัฐและภาคเอกชน เป็นการการสร้างภาคีเครือข่ายจำนวนทั้งสิ้น 12 เครือข่าย ในการร่วมขับเคลื่อนและผลักดันการทำงานด้านการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ

เทคโนโลยีท่องเที่ยวประเภทแอปพลิเคชัน หรือ “Go Samut Songkhram” มีการระบุ Google Map ในลักษณะเส้นทางเชื่อมโยง ตอบโจทย์การวางแผนการท่องเที่ยวระยะสั้น รวมถึงมีข้อมูลชุมชน ข้อมูลร้านอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แบบเบ็ดเสร็จ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวตามแผนที่ปรากฏในแอปพลิเคชันได้ทันที รวมถึงมีช่องทางการติดต่อกับชุมชน และขอความช่วยเหลือเพื่อความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ผ่านระบบ Android ทั้งนี้ สื่อประเภทอื่น ๆ เช่น แผ่นพับพร้อม QR Code ยังช่วยอำนวยความสะดวกได้ดี สามารถชมคลิปวีดิโอ และการแนะนำเส้นทางแหล่งท่องเที่ยวได้ การสร้างสื่อวีดิทัศน์ในการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวออกไปในวงกว้าง สร้างแรงจูงใจ เพื่อให้สมุทรสงครามเป็นปลายทางที่นักท่องเที่ยวเลือกที่จะไปเยือน

162796233596
แอปพลิเคชัน Go Samut Songkhram

“สื่อดิจิทัล สามารถช่วยเพิ่มจำนวนของนักท่องเที่ยวให้เข้ามาได้ประมาณร้อยละ 10 จากเดิมที่เคยซบเซา ชุมชนมีความเข้มแข็ง กล้าแสดงออกทางความคิดและต้องการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีมากขึ้น แม้แต่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กิจการและการท่องเที่ยวต้องชะลอหรือปิดตัวลง นวัตกรรมประเภทสื่อดิจิทัลยังคงสามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่เรื่อย ๆ เกิดแนวคิดการใช้ช่องทางสื่อต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรได้จริงในช่วงสถานการณ์โรคระบาด โดยทีมนักวิจัยเชื่อว่า สื่อดิจิทัลมีความสำคัญมากในยุคนี้ที่จะยังช่วยกระตุ้นและเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยว เกิดความต้องการที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด19 คลี่คลายลง เนื่องจากสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่ไม่ไกลจากรุงเทพมหานครมากนัก หากมีการจัดการในเชิงนโยบายแบบ Travel Bubble ในแหล่งใกล้เคียง ” ดร.นิตินันท์ กล่าวเสริม

ปัจจุบัน มีการต่อยอดเป็นการท่องเที่ยวในปีที่ 2 ด้านมิติการผลิตเทคโนโลยีและการท่องเที่ยวเชิงอาหารได้ ซึ่งอาหารถือเป็นปัจจัยสี่ของมนุษย์ที่สามารถต่อยอดต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยเล็งเห็นความต้องการและศักยภาพของชุมชนในจังหวัดสมุทรสงคราม ที่โดดเด่นมากในเชิงการเกษตร เป็นการพัฒนามิติใหม่ให้เกิดขึ้นในวงการท่องเที่ยวของจังหวัดอย่างเข้มแข็ง โดยให้ความสำคัญกับการผลักดันกลุ่มชุมชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ที่แท้จริง และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากได้อย่างยั่งยืน

162796247754

คณะทำงานทำการศึกษาและสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวสมุทรสงคราม

ขณะที่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ มีหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนานักวิจัย ผลงานวิจัย และนวัตกรรมในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว อันมีความสำคัญต่อการเติบโตของประเทศ โดยการเสริมสร้างนวัตกรรมในการพัฒนาและสนับสนุนเศรษฐกิจจากฐานราก เป็นการกระจายและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน สนองต่อนโยบายของรัฐในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งยังคงต้องดำเนินการกระตุ้น และสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวในเมืองรองมากยิ่งต่อไป.