'จุดรับยา' อีกหนึ่งแนวทาง ลดป่วยโควิด-19 เสียชีวิตที่บ้าน

'จุดรับยา' อีกหนึ่งแนวทาง ลดป่วยโควิด-19 เสียชีวิตที่บ้าน

ผู้ป่วยรายใหม่ 'โควิด-19' ที่พุ่งกว่า 17,970 ราย (2 ส.ค. 64) เสียชีวิต 178 ราย และในจำนวนนี้เสียชีวิตที่บ้าน 5 ราย แม้จะมีความพยายามนำผู้ป่วยเข้าระบบ แต่ก็ยังไม่ทันต่อการแพร่ระบาด 'จุดรับยา' จึงเป็นหนึ่งข้อเสนอที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาเร็วลดการตาย

ขณะนี้ภาครัฐ ใช้มาตรการ Home isolation เข้ามาแก้ไขระบบเตียงที่ไม่พอ ขณะเดียวกัน ระบบจัดการที่อาจไม่ทันการ ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ จากสีเขียวเป็นสีเหลืองและแดง บางรายเสียชีวิตที่บ้าน ความรวดเร็วในการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาให้ทัน จะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงป้องกันตนเองโดยใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกเวลา ถูกวิธี และถูกชนิด

หนึ่งเสียงสะท้อนของหมออาสาทำ Home isolation อย่าง "นพ.อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา" (หมอแอร์) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ได้โพสผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว Akanis Srisukwattana ระบุว่า ปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ คือ คนไข้อีกจำนวนมากยังไม่ได้รับยา ซึ่งทำ Home isolation แต่ยาไปไม่ถึงทันคนไข้ เพราะกำลังพล ปริมาณคนไข้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะคลินิกที่อาสามีคนไข้เข้าระบบกว่า 2 หมื่นคน ขณะที่แพทย์มีประมาณ 1 พันคน

  • แนะเปิด 'จุดรับยา' ผู้ป่วยโควิด

“หากปริมาณคนไข้ติดเชื้อใหม่ ยังสูงขนาดนี้ ไม่มีทางใช้ ระบบ Home isolation กระจายให้ยาได้ทันท่วงที คนไข้จะเสียชีวิตอีกเยอะมาก เพราะยาไปช้า ขณะที่ยามีเยอะ แต่ไม่ได้เอาออกมาใช้ เพราะให้ไม่ทัน ทุกนาทีที่เสียไป ที่คนไข้สีเหลืองไม่ได้ยาถึงจุดนึงจะย้อนกลับไม่ได้ เป็นจุดที่น่าเข้าไปสกัดไม่ให้เคสแดงล้น รพ มากที่สุด ถ้าขยับช้าจะมีคนเสียชีวิตสูงขึ้นทุกวัน มีคนเสียชีวิตคาบ้านอีกมากมาย” นพ.อกนิษฐ์ กล่าว

“หนทางที่จะทำให้ลดการตายได้มากที่สุด ต้องเปิด “จุดรับยา” หลายๆ เขต ให้ ญาติคนไข้ สามารถรับยาแทนได้ ให้ผู้ป่วยได้รับยาและกินที่บ้าน และจัดระบบคิวการรับดีๆ ไม่ให้โกลาหล และประชาสัมพันธ์ให้ทราบ ส่วนเคสที่ ไม่มีญาติ ต้องกักตัว ใช้การโทร จัดระบบ ระดมกำลังส่งยา เพราะทุกนาที ทุก ชม ที่คนไข้ไม่ได้ยาเราจะมีคนเสียชีวิตมากขึ้น”

  

  • สูงอายุ ต้องรับยาให้เร็ว 

นพ.อกนิษฐ์ ได้ระบุต่อไปว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด ในภาพรวมตอนนี้คือ ทำให้มีคนไข้สีแดงเกิดขึ้นน้อยที่สุด คนไข้สีแดง มีโอกาสเสียชีวิต ถ้าไม่เสียชีวิต ต้องอยู่ รพ.นานเป็นเดือน คนไข้จะล้น รพ. ไปเรื่อยๆ ผู้ป่วยที่เป็น “กลุ่มสูงอายุ เริ่มมีอาการทางปอด” ต้องได้รับยาเร็วที่สุด เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นแล้วโรครุนแรง เสียชีวิตได้เร็วที่สุด

“หากระดมพลัง “สร้างจุดรับยา” มีระบบ Home isolation ที่รวดเร็ว ช่วยกันทำ ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ทันเวลา ทำให้ผู้ป่วยที่รู้ว่าติดเชื้อตั้งแต่วันแรกมีแพลนในชีวิต ว่าต้องกินยาหรือไม่ กินยาอะไร ถ้าต้องกิน จะได้รับยาเมื่อไหร่ ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มสูงอายุ เริ่มมีอาการทางปอด ได้รับยาที่เร็ว ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลง จะลดคนไข้สีแดงลงได้อีกมาก และสุดท้ายจะเริ่มเห็นผู้ป่วยเสียชีวิตลดลง ระยะยาว รพ.หน้าด่านจะมีที่พอสำหรับผู้ป่วยหนัก” นพ.อกนิษฐ์ ระบุ

  • ป่วยโควิด ได้ใบรับรองแพทย์หรือไม่

ขณะเดียวกันการทำ Home isolation ในระยะที่ผ่านมามีประชาชนจำนวนมากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการออกใบรับรองแพทย์กรณีหายจากการติดเชื้อโควิด-19 “ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ” รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. เปิดเผยว่า กรณีรักษาตัวในรพ. จะต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้ออกใบรับรองให้ ขณะที่การดูแลรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือในชุมชน (Community Isolation) ต้องให้คลินิกหรือโรงพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยรายนั้นๆ เป็นคนไข้ของตัวเองเป็นผู้ออกใบรับรองแพทย์ให้

  • ในกรณีที่ผู้ป่วยหรือผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงกักตัวด้วยตัวเองโดยไม่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยในของ รพ. หรือคลินิกชุมชนอบอุ่น แพทย์ไม่สามารถออกใบรับรองให้ได้

  • ส่วนในกรณีของการขอใบรับรองผลการตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่นั้น หากตรวจจากห้องปฏิบัติการ ให้ห้องปฏิบัติการที่ทำการตรวจเป็นผู้ออกใบรับรองผลให้ 

  • ส่วนกรณีผู้รับการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit ตามจุดให้บริการต่างๆ หากพบเชื้อจะได้ใบรับรองผลการตรวจ ณ จุดคัดกรองเลย

  • แต่กรณีที่ผลตรวจเป็นลบและต้องการใบรับรองผลหลังจากตรวจแล้ว 1 วัน สามารถเข้าไปดาวน์โหลดใบรับรองได้ที่หน้าเว็บไซต์ของโรงพยาบาลที่ทำการตรวจ หรือหากหาไม่พบว่าต้องดาวน์โหลดตรงไหนก็สามารถโทรติดต่อสอบถามไปที่โรงพยาบาลนั้นได้โดยตรง

  • ในกรณีที่ตรวจด้วยตัวเองโดยใช้ Antigen Test Kit ห้องปฏิบัติการไม่สามารถออกใบรับรองให้ได้ ผู้ที่ตรวจด้วยตัวเองอาจใช้การรับรองตัวเอง เช่น ถ่ายรูปเป็นหลักฐาน

"อย่างไรก็ดี การใช้วิธีการการรับรองด้วยตัวเองแบบนี้จะใช้เป็นหลักฐานทำธุรกรรม เช่น เบิกประกันสุขภาพ ประกันสังคม ประกันชีวิต ได้หรือไม่ยังไม่ทราบได้”

“ส่วนกรณีบริษัทต่างๆ ที่มีข้อกำหนดว่าต้องมีใบรับรองการติดโควิด-19 เพื่อประกอบการลางาน ให้เป็นการเจรจากันเองระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ทางเจ้าหน้าที่สายด่วน 1330 ไม่สามารถตอบแทนได้ เช่นเดียวกับนายจ้างต้องการให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซ้ำ เพื่อขอใบรับรองแพทย์ไปยืนยันที่ทำงาน กรณีนี้เป็นการตกลงกันเองระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง สายด่วน 1330 ไม่สามารถตอบแทนให้ได้” ทพ.อรรถพร กล่าว

162792195061

  • เดลต้า แนวโน้มเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค โควิด 19 ในช่วงนี้ ยังพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของเชื้อ 2 สายพันธุ์หลัก คือ สายพันธุ์เดลตา พบร้อยละ 69.1 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนสายพันธุ์อัลฟา พบร้อยละ 28.2 เชื้อไวรัสนี้ติดต่อกันง่ายและรวดเร็วมาก ดังนั้น การใส่หน้ากากอนามัย 100% จะช่วยได้มาก ทั้งลดการแพร่เชื้อจากคนติดเชื้อและป้องกันการรับเชื้อในผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเป็นอย่างได้ผลดี

  • ใส่หน้ากาก 2 ชั้น ในพื้นที่ชุมชน

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การใช้หน้ากากอนามัยให้ได้ผลดีที่สุด คือการใช้โดยยึดหลัก 3 ถูก คือ ถูกเวลา ถูกวิธี และถูกชนิด ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ขณะนี้ขอให้เพิ่มความความระมัดระวังและเคร่งครัดมากเป็นพิเศษ ดังนั้น จะต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ทั้งขณะอยู่ในบ้านและนอกบ้าน

“โดย หน้ากากผ้า เหมาะสำหรับทำกิจกรรมในที่ที่มีคนน้อย ไม่แออัด เช่น ในบ้าน หน้ากากอนามัยที่เป็นใยสงเคราะห์ เช่น หน้ากากทางการแพทย์ เหมาะสำหรับใช้ในพื้นที่ปิด เช่น ในห้อง สวม 1 ชั้นก็เพียงพอ แต่หากจำเป็นต้องไปในแหล่งชุมชน มีคนพลุกพล่าน เช่น ตลาดสด ตลาดนัด ซุปเปอร์มาร์เก็ต ขอให้ใส่ 2 ชั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้มั่นใจว่าสามารถป้องกันเชื้อได้ดียิ่งขึ้น โดยใส่หน้ากากทางการแพทย์ไว้ด้านใน สวมหน้ากากผ้าไว้ด้านนอก และไม่ว่าจะเป็นหน้ากากชนิดใด จะต้องคาดให้ถูกต้อง คือ ต้องแนบชิดหน้าและคลุมจมูก แก้ม และคางเสมอ” นพ.โสภณ กล่าว

  • ยึดหลักความปลอดภัย 6 ประการ 

นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนตระหนัก โดยยึดหลักปฏิบัติอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อเสริมประสิทธิภาพและความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น 6 ประการ ดังนี้

(1) ล้างมือก่อนสวมหน้ากาก โดยล้างด้วยน้ำและฟอกสบู่นาน 40-60 วินาที หรือใช้แอลกอฮอล์เจล 70% ถูมือให้ทั่วนาน 20-30 วินาที หรือฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ 70%

(2) ดูแลให้หน้ากากแนบกับหน้าเสมอ ขอบหน้ากากต้องไม่เลื่อนลงขณะพูดคุย เพราะจะเกิดความเสี่ยงอาจได้รับเชื้อได้ เนื่องจากจะเป็นช่องทางให้เชื้อไวรัสเข้า-ออกได้อย่างอิสระ โดยไม่ถูกกรองผ่านทางหน้ากาก แม้จะสวมหน้ากากแล้ว

(3) ไม่ใส่หน้ากากซ้ำ ควรเปลี่ยนทุก 6-8 ชั่วโมงหรือเปลี่ยนทุกวัน และเปลี่ยนทุกครั้งเมื่อหน้ากากเปียกชื้นหรือมีคราบสกปรก เนื่องจากหากมีเชื้อโควิด 19 ติดอยู่ เชื้อจะมีชีวิตอยู่นานกว่า 1 สัปดาห์

(4) หลีกเลี่ยงการสัมผัสหน้ากากขณะสวม หากจำเป็นขอให้รีบล้างมือฟอกสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลทันที

(5) ห้ามใช้ร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นผู้ใกล้ชิดในครอบครัวเดียวกันก็ตาม

(6) ทิ้งหน้ากากที่ใช้แล้วในถังขยะอย่างระมัดระวัง ก่อนทิ้งให้พับหน้ากาก ส่วนที่สัมผัสกับใบหน้าซึ่งเป็นส่วนที่สัมผัสน้ำมูก น้ำลายเข้าด้านในแล้วม้วนใส่ถุง มัดปากถุงปิดให้สนิท ในกรณีที่เป็นผู้ติดเชื้อขอให้ทิ้งใส่ถุง 2 ชั้น และราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง และมัดปากถุงให้สนิท

หากมีข้อสงสัยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนควบคุมโรค โทร. 1422