เปิดแผนจัดสรร 'วัคซีนไฟเซอร์' 13 จังหวัด

เปิดแผนจัดสรร 'วัคซีนไฟเซอร์' 13 จังหวัด

เปิดเกณฑ์จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ล็อต 1.5 ล้านโดส 3 กลุ่มเป้าหมาย พร้อมยอดจัดสรรเบื้องต้นใน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 คณะทำงานด้านบริหารการจัดการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์ ได้มีมติเรื่องเกณฑ์การจัดสรร "วัคซีนไฟเซอร์" ให้กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย

1. สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด19 ทั่วประเทศที่เข้าเกณฑ์ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานแผนกผู้ป่วยโควิด19 ได้แก่ แผนกผู้ป่วยนอก คลินิกทางเดินหายใจ ห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยวิกฤต รพ.สนาม เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค  เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่กักกัน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในฮอสพิเทล หรือปฏิบัติงานข้องเกี่ยวกับภารกิจการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 และมีชื่อปรากฏในฐานข้อมูลระบบกระทรวงสาธารณสุข(MOPH IC) ว่าได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้ว อย่างน้อย 4 สัปดาห์ ระบุว่าเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และยังไม่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้น 

ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ในล็อตนี้ ได้แก่ ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 แล้ว  ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 1  เข็ม และแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม  ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคหรือแอสตร้าเซนเนก้ามาเพียง 1 เข็ม และได้รับการฉีดวัคซีนอื่นๆ

การดำเนินการการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ล็อต 1.5 ล้านโดสสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จัดสรรเพื่อเป็นเข็มกระตุ้นเท่านั้น ไม่มีเริ่มเข็ม 1  สำรวจจำนวนผู้ต้องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในแต่ละจังหวัดโดยดูจากจำนวนรายชื่อที่ส่งมาจากแต่ละโรงพยาบาล/จังหวัด การกระจายและจุดให้บริการวัคซีนไฟเซอร์ ใน 76 จังหวัดจะส่งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้บริการที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และรพ.ที่กำหนด ส่วนกรุงเทพมหานครประสานสำนักอนามัยเพื่อส่งวัคซีนหไปรพ.รัฐและเอกชนที่กรมควบคุมโรคกำหนด และให้รพ.แต่ละแห่งแสดง/ประกาศจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ต่อสาธารณชนเพื่อความโปร่งใส

 

2. เกณฑ์การจัดสรรวัคซีนในแต่ละจังหวัดสำหรับกลุ่มเสี่ยงใน 13 จังหวัด จะพิจารณาจากปัจจัยดังนี้ จำนวนผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน โดยมีเป้าหมายการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุให้มีความครอบคลุม คือ กรุงเทพฯเป้าหมาย 80 % จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอื่น 12 จังหวัด เป้าหมายประมาณ 70 % ซึ่งวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรสามารถฉีดให้ได้ตามกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มโรคเรื้อรัง7กลุ่มโรคอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป  รวม 641,760โดส

จำนวนจัดสรรเบื้องต้น  

1. กรุงเทพฯ 68,640โดส

2. นนทบุรี 75,360   โดส

3. สมุทรปราการ 51,360โดส

4. สมุทรสาคร 21,600 โดส

5. ปทุมธานี  37,920โดส

6. นครปฐม 62,880 โดส

7. พระนครศรีอยุธยา 63,840โดส

8. ชลบุรี  74,400โดส

9. ฉะเชิงเทรา  42,720โดส

10. ปัตตานี 29,760 โดส

11. นราธิวาส 31,200 โดส

12. ยะลา 19,200 โดส

13. สงขลา 62,880 โดส

และ 3. เกณฑ์การจัดสรรสำหรับชาวต่างชาติ  เป็นชาวต่างชาติผู้มีถิ่นพำนักในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์  และผู้เดินทางไปต่างประเทศที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 

ขั้นตอนลงทะเบียน  ลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงการต่างประเทส www.expatvac.consular.go.th เริ่มตั้งแต่ 1 ส.ค. 2564  ตรวจสอบตัวตนและเอกสารโดยกระทรวงการต่างประเทศ และจะใส่ชื่อลงระบบwhitelists และประสานไปยังรพ.หรือหน่วยบริการฉีดวัคซีนเพื่อยืนยันวันที่รับการฉีดวัคซีน  รับการฉีดวัคซีนที่รพ./สถานพยาบาลตามนัดหมาย  ซึ่งขั้นตอนการดำเนินงาน กรมควบคุมโรคจะดำเนินงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศจะสำรวจจำนวนชาวต่างชาติในจังหวัดต่างๆและส่งยอดความต้องการวัคซีนมาที่กรมควบคุมโรค

อนึ่ง สำหรับจำนวนจัดสรรให้ 4 กลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น ประกอบด้วย 

กลุ่มที่ 1  บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด19ทั่วประเทศ เป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิค้มกัน จำนวน 7 แสนโดส

กลุ่มที่ 2 ฉีดในผู้สูงอายุ  ผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง  หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ป่วยใน 7 กลุ่มโรคเรื้อรังอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ใน 13 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สงขลา ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส จำนวน 645,000 โดส

กลุ่มที่ 3 ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย โดยเป็น ผู้ที่มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง  หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ และคนไทยผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักเรียน  นักศึกษา เป็นต้น จำนวน 150,000 โดส

กลุ่มที่ 4  ทำการศึกษาวิจัย โดยการอนุมัติของคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม เพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ในการกำหนดนโยบายต่อไป จำนวน 5,000 โดส