'ดาวโจนส์'ร่วง 149 จุดหลุดแนว 35,000

'ดาวโจนส์'ร่วง 149 จุดหลุดแนว 35,000

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์ (30 ก.ค.)ร่วง 149 จุด หลุดระดับ 35,000 จุด ขณะที่นักลงทุนเทขายหุ้นอเมซอน ท่ามกลางความผิดหวังต่อผลประกอบการของบริษัท นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความวิตกต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวลง 149.06 จุด หรือ 0.4% ปิดที่ 34,935.47 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ร่วงลง 0.5% ปิดที่ 4,395.26 จุด และดัชนีแนสแด็ก ร่วงลง 0.7% ปิดที่ 14,672.68 จุด

ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์สามารถปรับตัวในแดนบวกในช่วงแรก ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (พีซีอี) ที่ต่ำกว่าคาด

นอกจากนี้ การที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ต่ำกว่าคาดการณ์เมื่อวานนี้ ก็ช่วยให้ตลาดคลายความวิตกเกี่ยวกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี)

ทั้งนี้ หุ้นแอมะซอนดิ่งลงกว่า 7% ในวันนี้ หลังรายงานรายได้ในไตรมาส 2 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

นพ.สก็อตต์ ก็อตลิบ อดีตประธานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) กล่าวว่า ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐมีจำนวนมากกว่าตัวเลขที่เจ้าหน้าที่รายงานอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

“ผมจะไม่ประหลาดใจถ้าหากเราพบว่าผู้ติดเชื้อรายวันมีจำนวนถึง 1,000,000 คนในขณะนี้ ซึ่งตัวเลขทางการรายงานไม่ถึง 10% ของตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริง” นพ.ก็อตลิบกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ระบุว่า ค่าเฉลี่ยในรอบ 7 วันของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันในสหรัฐอยู่ที่ 67,000 คน โดยเพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านี้

นพ.ก็อตลิบกล่าวเสริมว่า ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวนมากไม่ได้ถูกรวมอยู่ในรายงานของทางการ เนื่องจากผู้ป่วยโควิดที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย ต่างก็ไม่ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อ และการที่ประชาชนสามารถซื้ออุปกรณ์มาตรวจหาเชื้อได้เองในบ้าน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อดังกล่าวไม่มีการรายงานต่อเจ้าหน้าที่

ด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (ซีดีซี) ออกเอกสารเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ โดยได้เตือนว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาสามารถติดต่อได้ง่ายเหมือนโรคอีสุกอีใส และมีช่วงเวลาในการแพร่ระบาดยาวนานกว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม

ซีดีซี ระบุว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งขณะนี้มีการแพร่ระบาดใน 132 ประเทศทั่วโลก และได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐ สามารถแพร่ระบาดรวดเร็วกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไข้หวัดสเปน ไข้ทรพิษ เชื้ออีโบลา โรคซาส์ (SARS) และโรคเมอร์ส (MERS)

ทั้งนี้ มีเพียงโรคหัด (measles) เท่านั้นที่มีการระบาดได้เร็วกว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี พีซีอีพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ดีดตัวขึ้น 3.5% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2534

อย่างไรก็ดี ดัชนีพีซีอีพื้นฐานดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือนพ.ค.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนีพีซีอีพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมิ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.6%

ส่วนดัชนีพีซีอีทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 4.0% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2551 หลังจากเพิ่มขึ้น 3.9% ในเดือนพ.ค.

ทั้งนี้ ดัชนีพีซีอีถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประจำไตรมาส 2/2564 เมื่อวานนี้ โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 6.5% ในไตรมาส 2 หลังจากที่ขยายตัว 6.4% ในไตรมาส 1