ว.ภ.ส. แนะใช้ 'ฟ้าทะลายโจร' รักษาโควิด ไม่เน้นป้องกัน หวั่นส่งผลต่อตับ

ว.ภ.ส. แนะใช้ 'ฟ้าทะลายโจร' รักษาโควิด ไม่เน้นป้องกัน หวั่นส่งผลต่อตับ

'วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย' ออกแถลงการณ์ การใช้ยา 'ฟ้าทะลายโจร' และสมุนไพรในผู้ป่วยโควิด แนะใช้ช่วยผู้ป่วยก่อน ไม่เน้นกินป้องกัน หวั่นส่งผลต่อตับหากกิน และยาไม่เพียงพอ พร้อมแนะแก้ไขฉลากยาคำแนะนำการใช้ให้ชัดเจน

วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เรื่องการใช้ 'ยาฟ้าทะลายโจร' และสมุนไพรในผู้ป่วยโควิด 19 โดยระบุเป็น 6 ข้อ ดังนี้

1. วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้ใช้ ยาฟ้าทะลายโจร ตามบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร และแนวทางการ รักษาโควิด ของกรมการแพทย์ ในผู้ป่วยโควิด ๑๙ ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย เพื่อลดความรุนแรงของโรค โดยให้ยาฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร เป็นเวลา 5 วัน โดยต้องเริ่มยาให้เร็วที่สุด

162761899019

 

2. วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย ไม่สนับสนุนการใช้ 'ยาฟ้าทะลายโจร' ในการป้องกันการติดเชื้อ หรือเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อหวังผลป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานยืนยันประสิทธิผล และเพื่อให้มียาฟ้าทะลายโจรเพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ให้ได้เข้าถึงยา รวมทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดพิษต่อตับที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน

3. วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้ผู้ผลิตยาได้เร่งแก้ไขฉลากยา โดยให้ระบุปริมาณ สารแอนโดรกราโฟไลด์ ที่ได้รับต่อหนึ่งหน่วยบริโภคบนฉลากอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับขนาดยาที่ถูกต้อง รวมทั้ง ระบุข้อห้ามใช้ ให้ถูกต้องตามที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนด

162761899158

 

4. วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้เภสัชกรมีบทบาทในการจัดเก็บข้อมูลประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาฟ้าทะลายโจรและสมุนไพรอื่น ๆ ที่มีการนำมาใช้รักษาหรือป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาสมุนไพรที่ปลอดภัย

5. วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย เสนอให้ยาฟ้าทะลายโจรเป็นสินค้าควบคุมราคา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็นในภาวะฉุกเฉิน

6. วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สนับสนุนให้มีการนำอาหารสมุนไพร ได้แก่ กระชาย ขิง ขมิ้นชัน มะขามป้อม และอื่น ๆ มาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ สร้างเสริมภูมิคุ้มกันในรูปแบบของอาหาร และปริมาณการบริโภคแบบอาหาร เพื่อความปลอดภัยของการบริโภค

162761899054