โควิดอาเซียนยังหนักสายพันธุ์เดลตาระบาดทั่ว

โควิดอาเซียนยังหนักสายพันธุ์เดลตาระบาดทั่ว

โควิดอาเซียนยังหนักสายพันธุ์เดลตาระบาดทั่ว

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงสาหัส ประเทศที่ออกข้อจำกัดมาควบคุมประชาชนแล้วเล็งเพิ่มมาตรการให้เข้มงวดยิ่งขึ้นไปอีก

เริ่มต้นจากกัมพูชาออกข้อจำกัดควบคุมโควิดระลอกใหม่ใน 8 จังหวัดชายแดนไทย และจำกัดการเดินทางของประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่ติดต่อกันได้ง่าย

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาแรงงานย้ายถิ่นชาวกัมพูชาในประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับสายพันธุ์เดลตาระบาด พากันเดินทางกลับภูมิลำเนา

สัปดาห์นี้หน่วยงานสาธารณสุขกัมพูชาเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น อ้างว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตารายใหม่ 39 คน เป็นแรงงานกลับจากประเทศไทย 21 คน ที่เหลือเป็นผู้ติดต่อกับแรงงานเหล่านั้น

นายกรัฐมนตรีฮุนเซนประกาศเมื่อวันพุธ (28 ก.ค.) ควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศไทยบริเวณชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ไปจนถึงวันที่ 12 ส.ค. เช่น จ.บันทายเมียนเจย ที่ตั้งพรมแดนปอยเปต และ จ.เสียมเรียบ ที่ตั้งของปราสาทนครวัดอันโด่งดัง มาตรการนี้ส่งผลกระทบต่อประชากร 1 ใน 4 ของประเทศ หรือ 4 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 16 ล้านคน โดยการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยยังคงทำได้ แต่แรงงานชาวกัมพูชาหากต้องการกลับประเทศต้องรอสองสัปดาห์จนกว่าคำสั่งจะสิ้นสุด

นายกฯ ฮุนเซนกล่าวด้วยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้ตัดสินใจกำหนด “พื้นที่สีแดง” ในจังหวัดของตนเอง หมายความว่า ประชาชนห้ามออกจากบ้าน ห้ามรวมตัวกัน หรือห้ามทำธุรกิจ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ถึงวันพฤหัสบดียังไม่มีจังหวัดใดใน 8 จังหวัดออกมาตรการควบคุมสูงสุด

วานนี้ (29 ก.ค.) ทางการกรุงพนมเปญห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานยามวิกาล (เคอร์ฟิว) ระหว่างเวลา 21.00 -03.00 น. เป็นเวลา 2 สัปดาห์

กัมพูชาเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ระบบสาธารณสุขอ่อนแอที่สุด แต่สามารถสกัดการติดเชื้อโควิด-19 ได้ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การระบาดในเดือน ก.พ.ปีนี้ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องขณะนี้อยู่ที่กว่า 75,000 คนแล้ว

เวียดนามเล็งเข้มเมืองใหญ่

เวียดนามก็เช่นเดียวกันได้ชื่อว่าสกัดโควิดได้ดี แต่มาเจอการติดเชื้อพุ่งสูงตั้งแต่ช่วงปลายเดือน เม.ย.

เมื่อวันพุธรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,559 คน ส่งผลยอดสะสมทั้งประเทศกว่า 120,000 คน ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วราว 450,000 คน จากประชากรทั้งประเทศ 98 ล้านคน

ที่ผ่านมารัฐบาลออกข้อจำกัดควบคุมการเดินทางของประชาชนราว 1 ใน 3 ของประเทศแล้ว รวมถึงในโฮจิมินห์ซิตี้ เมืองศูนย์กลางการค้าทางภาคใต้ของประเทศ และกรุงฮานอยทางตอนเหนือ

นายชู ง็อก อันห์ ประธานกรุงฮานอยแถลงว่า ฮานอยอาจออกมาตรการเข้มงวดยิ่งขึ้นในพื้นที่เสี่ยงสูง เพื่อต่อสู้กับการระบาดที่รุนแรงยิ่งขึ้น

ขณะที่ทางการโฮจิมินห์ซิตี้ กล่าวว่า อาจยืดเวลามาตรการเว้นระยะออกไปอีก 1 หรือ 2 สัปดาห์หลังสิ้นสุดในวันที่ 1 ส.ค. เนื่องจากการติดเชื้อยังเพิ่มต่อเนื่อง

ด้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติตัดสินใจลดเวลาการประชุมในกรุงฮานอยลง 3 วัน ประชุมจบเมื่อวันพุธ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังเร่งปิดสถานที่ประชุมชั่วคราว ตรวจหาเชื้อนักข่าวที่ร่วมพิธีปิดประชุม หลังพบผู้ต้องสงสัยติดโควิด 1 คน

ขณะนี้รัฐบาลเวียดนามกำลังถูกกดดันอย่างหนักให้เร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มแล้วฉีดโดยเร็ว หลังได้รับวัคซีนมาแล้วกว่า 14 ล้านโดสจากหลายแหล่ง เช่น การบริจาค ผ่านโครงการโคแวกซ์ และจัดซื้อเอง รัฐบาลสหราชอาณาจักรก็ประกาศว่า จะบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 415,000 โดสให้เวียดนามด้วย

เมียนมาฉีดวัคซีนนักโทษ

เมียนมาเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้นักโทษเป็นวันแรกเมื่อวันพุธที่เรือนจำอินเส่งในนครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นที่คุมขังนักโทษการเมืองจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลทหารพยายามควบคุมการติดเชื้อระลอกเดือน มิ.ย. ที่กระจายไปทั่วประเทศแล้ว

หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมา รายงานอ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เรือนจำอินเส่งว่า นักโทษ 610 คนได้รับวัคซีนแล้วและจะฉีดเพิ่มอีกขึ้นอยู่กับอุปทานวัคซีนที่มี

เจ้าหน้าที่ระบุว่า นี่เป็นมาตรการป้องกันไว้ก่อน พร้อมปฏิเสธว่าไม่ได้มีโควิดระบาดในเรือนจำ โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาระบุด้วยว่า นักโทษลงทะเบียนฉีดวัคซีน 2,500 คน จากกว่า 9,000 คน

หนังสือพิมพ์เผยแพร่ภาพข่าวนักโทษหลายคนกำลังได้รับวัคซีน รวมถึงนายฌอน เทอร์เนล ที่ปรึกษาเศรษฐกิจชาวออสเตรเลียของนางอองซาน ซูจี ที่ถูกกองทัพรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

นับตั้งแต่รัฐประหาร นักโทษการเมืองและผู้สื่อข่าวถูกจองจำอยู่ในเรือนจำอินเส่งหลายพันคน เช่น แดเนียล เฟนส์เตอร์ ผู้สื่อข่าวสหรัฐ ส่วนนายยาน วิน นักการเมืองที่ปรึกษานางซูจี เสียชีวิตในโรงพยาบาลเดือนนี้หลังจากติดโควิดในเรือนจำ

เมื่อสถานการณ์การระบาดรุนแรง สัปดาห์นี้นายพลอาวุโสมินอ่องหล่ายผู้นำรัฐบาลทหาร เรียกร้องขอความร่วมมือจากนานาชาติมากขึ้นเพื่อสกัดโควิด-19 รวมถึงเรียกร้องจากเพื่อนสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และมิตรประเทศอื่นๆ

ในวันเดียวกันนั้นกระทรวงสาธารณสุขเมียนมารายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,980 คน เสียชีวิต 365 คน แต่แพทย์และผู้จัดงานศพกล่าวว่า ตัวเลขจริงสูงกว่านี้

สื่อรัฐบาลรายงานด้วยว่า เมื่อจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มสูง รัฐบาลทหารจึงวางแผนสร้างเตาเผาศพใหม่ 10 เตาในนครย่างกุ้ง สามารถเผาได้กว่า 3,000 ศพต่อวัน

อยากฉีดต้องได้ฉีด

สำหรับฟิลิปปินส์ ประเทศที่มีประชากร 110 ล้านคน แต่คนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบสองโดสมีเพียง 6% เท่านั้นเท่ากับว่าประชากรอีกหลายล้านคนยังเสี่ยงติดเชื้อ รัฐบาลตั้งเป้าฉีดวัคซีนครบโดสให้กับประชากร 70 ล้านคนก่อนสิ้นปี

ล่าสุดประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต สั่งการเมื่อกลางดึกวันพุธ

“ทุกคนที่อยากฉีดวัคซีนต้องได้ฉีด” ด้วยความกังวลเรื่องสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดหนักทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโลกในปัจจุบัน

ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า คำสั่งการของประธานาธิบดีดูเตอร์เตหมายถึงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนนอกกลุ่มที่จัดไว้เป็นอันดับต้นๆ หรือไม่ ซึ่งเดิมทีเนื่องจากวัคซีนมีจำกัด รัฐบาลตั้งเป้าฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้สูงวัย ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ใหญ่วัยทำงานก่อน

นับถึงขณะนี้ฟิลิปปินส์พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา พบครั้งแรกในอินเดียเพียง 119 คน แต่ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า อาจมีที่ตรวจไม่เจออีกมากเนื่องจากฟิลิปปินส์ตรวจสอบลำดับพันธุกรรมไวรัสได้ช้า ส่วนการติดเชื้อรายวันเริ่มเพิ่มขึ้นแล้ว สัปดาห์นี้ทางการระงับการเดินทางจากมาเลเซียและไทย พร้อมกระชับมาตรการควบคุมในและรอบๆ กรุงมะนิลา

นอกจากนี้ประธานาธิบดีดูเตอร์เตยังสั่งให้หัวหน้าหมู่บ้านดูแลชุมชนตนเอง ใครไม่ฉีดวัคซีนไม่ให้ออกจากบ้าน

“ผมบอกคุณเลยนะ ห้ามออกจากบ้าน ใครออกผมจะแจ้งตำรวจให้กับพาคุณกลับบ้าน เพราะคุณคือตัวแพร่เชื้อเดินได้ ถ้าคุณไม่อยากช่วยประเทศด้วยการฉีดวัคซีนก็อยู่กับบ้านดีกว่า” ประธานาธิบดีย้ำ

ฟิลิปปินส์มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1.5 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 27,000 คน เสียหายหนักเป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย

มาเลเซียแจงฉีดวัคซีนช้า

แครี จามาลุดดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเลเซีย ผู้ประสานงานโครงการฉีดวัคซีนแห่งชาติ แถลงในการประชุมสภานัดพิเศษ เมื่อวันพุธ ชี้แจงที่มาเลเซียฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ช้าว่า เหตุผลหนึ่งที่สิงคโปร์ได้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปก่อนมาเลเซีย เพราะเทมาเส็กโฮลดิงส์ถือหุ้นในไบออนเทคของเยอรมนี ที่ร่วมพัฒนาวัคซีนกับไฟเซอร์ โดยระบุว่า เทมาเส็กและนักลงทุนรายอื่นๆ ลงทุน 250 ล้านดอลลาร์ในไบออนเทค

อิสราเอลก็อยู่ในกลุ่มประเทศแรกๆ ที่ได้วัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคก่อน หลังจากจ่ายเงินก้อนโต พร้อมเห็นชอบแบ่งปันข้อมูลของพลเมืองให้ไฟเซอร์-ไบออนเทค ซึ่งประเทศอื่นไม่ได้รับทางเลือกนี้

ส่วนการที่อินโดนีเซียได้วัคซีนก่อนมาเลเซียก็เพราะเป็นพื้นที่ทดลองทางคลินิกเฟส 3 ให้กับวัคซีนซิโนแวค

รมต.รายนี้กล่าวด้วยว่า มาเลเซียไม่ไช่ประเทศเดียวที่ซื้อวัคซีนช้า แม้แต่ประเทศโลกที่ 1 ก็เลือกที่จะคอยเช่นกัน

“ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นต่างก็ได้วัคซีนในเวลาไล่เลี่ยกัน ชี้ให้เห็นว่าเรามีดุลพินิจเหมือนกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”

ปัจจุบันโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติของมาเลเซียใช้วัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค แอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค อนุมัติฉุกเฉินแบบมีเงื่อนไขให้ใช้วัคซีนแคนซิโน ซิโนฟาร์ม และแจนส์เซน จัดซื้อวัคซีนสปุตนิกวีของรัสเซีย และรับวัคซีนโนวาแวกซ์จากโครงการโคแวกซ์

วานนี้ กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย รายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จำนวน 17,170 คน ส่งผลยอดสะสมทะลุ 1,078,646 คน