'เทเลนอร์' ปัดขายหุ้น DTAC สยบข่าวลือดีลแสนล้าน

'เทเลนอร์' ปัดขายหุ้น DTAC สยบข่าวลือดีลแสนล้าน

"เทเลนอร์" ยันไม่ขายหุ้น "ดีแทค" หลังราคาพุ่งแรง 14% เก็งข่าวผู้ถือหุ้นใหญ่จ่อขายกิจการ ตั้งราคา 43-50 บาทสูงกว่าราคากระดาน "บล.กสิกรไทย" คาดกลุ่มเทเลนอร์ไม่ขายขาด เหตุสถานการณ์ต่างจากดีลขายกิจการในเมียนมา แต่มีโอกาสควบรวมกิจการ

ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC วานนี้ (29 ก.ค.) ปิดที่ 35.75 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 3.75 บาท หรือเพิ่มขึ้น 11.72% ระหว่างวันปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดภาคบ่าย โดยทำจุดสูงสุดที่ 36.75 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 4.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 14.06% มูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 4.14 พันล้านบาท

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เปิดเผยว่า ราคาหุ้น DTAC ที่ปรับขึ้นวานนี้ ตอบรับกระแสข่าวที่กลุ่มเทเลนอร์ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทให้ข่าวสื่อต่างประเทศเกี่ยวกับการขายหุ้น DTAC ที่ถืออยู่มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเทียบออกมาเป็นราคาขายต่อจำนวนหุ้นที่กลุ่มถืออยู่ที่ 43 บาทต่อหุ้น สูงกว่าราคาปิดบนกระดานล่าสุด (ณ 27 ก.ค.) ที่ 32.00 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไร

อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจัยประเมินความเป็นไปได้ที่กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่จะขายขาดกิจการ DTAC เพียง 25% แม้ก่อนหน้านี้กลุ่มเทเลนอร์จะขายกิจการโทรคมนาคมในประเทศเมียนมา แต่เป็นการตัดสินใจเชิงศีลธรรม  

ขณะที่ความเป็นไปได้ที่กลุ่มเทเลนอร์จะใช้รูปแบบควบรวมกิจการเหมือนในกรณีประเทศมาเลเซีย คาดว่าอยู่ที่ 50% เพราะมองว่าดีล การซื้อ DTAC ขาดจากกลุ่มมีขนาดที่ใหญ่เกินไป โดยผู้ซื้ออาจเป็นผู้เล่นเดิมในอุตสาหกรรมอย่าง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) หรือเป็นกลุ่มธุรกิจอื่นนอกอุตสาหกรรม และท้ายสุดมองว่ามีความเป็นไปได้สูงถึง 75% ที่กลุ่มเทเลนอร์จะปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว

สำหรับการลงทุน บล.กสิกรไทยประเมินราคาเหมาะสมของ DTAC ที่ 37 บาทต่อหุ้น ซึ่งรวมปัจจัยบวกเรื่องการจำหน่ายเสาสัญญาณแก่บริษัทภายนอกแล้ว โดยมองปัจจัยบวกดังกล่าวสร้างมูลค่าให้แก่บริษัทราว 30% หรือคิดเป็นผลบวกต่อราคาหุ้นประมาณ 6 บาทต่อหุ้น 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานของ DTAC ในปัจจุบันจะมีราคาเหมาะสมที่ 31 บาทต่อหุ้น ส่วนโอกาสปรับขึ้นของราคาหุ้น (อัพไซด์) คาดว่าจะอยู่ที่ 43 บาทต่อหุ้น ตามข่าวการขายกิจการ

“ดังนั้นการลงทุน เราแนะนำนักลงทุนที่เก็งกำไรใช้ราคา 31 บาทต่อหุ้น เป็นแนวรับ และแนวต้านที่ 43 บาทต่อหุ้น โดยแนะนำว่าหากราคาหุ้นบวกขึ้นแตะ 40 บาทต่อหุ้น ควรขายล็อกกำไร และไม่ควรซื้อเพิ่ม”

มูลค่ากิจการกว่าแสนล้าน

นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ปัจจุบัน TELENOR ASIA PTE LTD ถือหุ้น DTAC ทางตรง 42.78% และทางอ้อมผ่านบริษัท ไทย เทลโค โฮลดิ้งส์ จำกัด 9.3% รวม 52.08% เบื้องต้นคาดต้องใช้เงินมูลค่าราว 1.19 แสนล้านบาท เพื่อเข้าซื้อกิจการต่อจากกลุ่ม หรือคิดเป็นราคาหุ้นที่ 50 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้นักลงทุนเข้ามาซื้อเก็งกำไร

อย่างไรก็ดีคำแนะนำลงทุนสำหรับคนที่ไม่มีหุ้นอยู่ในพอร์ต มองว่าสายเกินไปที่จะเข้าซื้อ เนื่องจากราคาหุ้นปรับขึ้นตอบรับข่าวขายกิจการกว่า 13-14% ขณะที่นักลงทุนที่มีหุ้นในพอร์ตอยู่แล้ว แนะนำถือลงทุนต่อเพื่อทำกำไร 

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์บล.เมย์แบงก์กิม​เอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้น DTAC ปรับขึ้นจากหลายปัจจัย นอกจากเรื่องรายงานข่าวการขายหุ้นแล้ว ยังมีีปัจจัยบวกจากการรายงานงบไตรมาส 2 ปี 2564 ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ดังนั้นจึงแนะนำนักลงทุนสามารถซื้อเก็งกำไรได้ แต่ต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะยังไม่มีความชัดเจนจากบริษัทเพิ่มเติมถึงกระแสข่าวในครั้งนี้

อีกทั้งต้องพิจารณารายละเอียดทั้งราคาขาย และความจำเป็นที่ต้องทำคำเสนอซื้อรวมถึงฐานะการเงินของผู้ซื้อ เนื่องจากมูลค่าตามราคาตลาดของ DTAC ปัจจุบันสูงถึง 8 หมื่นล้านบาท ดังนั้น การเข้าซื้อกิจการหากจริงตามรายงานข่าว ผู้ซื้อจะต้องเป็นผู้ที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินสูง หรือมีความสามารถพอจะกู้เงินมาลงทุนดีลดังกล่าวได้

เทเลนอร์ยันไม่ขายหุ้นดีแทค 

นายเกลนน์ แมนเดลิด ผู้อำนวยการสายงานสื่อสารองค์กร เทเลนอร์ เอเชีย ชี้แจงว่า “เทเลนอร์กรุ๊ปไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวลือ หรือการเก็งกำไรในตลาด เทเลนอร์ยังคงมุ่งมั่นในการทำธุรกิจในประเทศไทย และกลยุทธ์ในตลาดเอเชียยังไม่เปลี่ยนแปลง"

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ดีแทค นับเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้ายรายได้และผลกำไรหลักให้กลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งอาจจะมีสัดส่วนทำกำไรให้มากกว่าตลาดในกลุ่มนอร์ดิกด้วยซ้ำ ท่ามกลางกระแสข่าวเทเลนอร์จะขายดีแทคที่มีมาตลอดนับ 10 ปีที่ผ่านมา 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา บริษัทเทเลนอร์ ตัดสินใจขายกิจการในพม่าให้บริษัท M1 Group กลุ่มนักลงทุนจากเลบานอนในมูลค่า 105 ล้านดอลลาร์ หลังจากเมียนมาตกอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่การรัฐประหารในเดือน ก.พ.

เทเลนอร์ กรุ๊ป ระบุว่า ดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียมานานกว่า 20 ปี มีผู้ใช้บริการรวมกันกว่า 166 ล้านคน และมีการลงทุนในภูมิภาคเอเชียทั้ง 5 ประเทศคือ บังกลาเทศ ปากีสถาน เมียนมา มาเลเซียและไทย จำนวนรวมทั้งสิ้น 6,200 ล้านดอลลาร์

เมื่อเดือน มิ.ย. เทเลนอร์เริ่มถอนตัวจากตลาดสื่อสารในมาเลเซียที่มีการแข่งขันสูง เมื่อบริษัทได้ควบรวมกิจการกับผู้ให้บริการในท้องถิ่นคือ ดิจิ กับเซลคอม ของ เอเชียตา กรุ๊ป ซึ่งทั้งสองบริษัทต่างถือหุ้น 33.1% หลังควบรวมกิจการ

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2560 เทเลนอร์ ประกาศถอนตัวจากตลาดโทรคมนาคมอินเดียและโอนธุรกิจในอินเดียไปให้บริษัทภารตีแอร์เทล ซึ่งเป็นผู้ให้บริการไร้สายรายใหญ่ที่สุดของอินเดีย มีลูกค้า 269 ล้านราย โดยภารตีแอร์เทลจะรับลูกค้าและพนักงาน 44 ล้านรายของเทเลนอร์ รวมถึงใบอนุญาตทำธุรกิจ