ทำความรู้จัก 6 สถานที่ 'มรดกโลก' ของไทย

ทำความรู้จัก 6 สถานที่ 'มรดกโลก' ของไทย

'กลุ่มป่าแก่งกระจาน' นับเป็น 'มรดกโลก' แห่งที่ 6 ของไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จาก 'ยูเนสโก' ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนมาก่อนหน้านี้ 5 แห่งด้วยกัน ทั้งมรดกโลกทางวัฒนธรรม และ มรดกโลกทางธรรมชาติ

ยูเนสโก มีมติเสียงส่วนใหญ่ขึ้นทะเบียนให้ “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” เป็น มรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา หลังจากมีการนำเสนอมาแล้วถึง 3 ครั้ง ในปี 2558 ปี 2559 และปี 2562 ทำให้กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นแหล่ง มรดกโลก แห่งที่ 6 ของไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของไทย

  • 5 'มรดกโลก' ก่อนขึ้นทะเบียน กลุ่มป่าแก่งกระจาน

ก่อนหน้านี้ ประเทศไทย มีสถานที่ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วจำนวน 5 แห่ง แบ่งเป็น 

“มรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง ได้แก่

  • เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จ.สุโขทัย

  • นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 ปี 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย

  • แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี

จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 16 ปี 2535 ที่เมืองแซนตาเฟ ประเทศสหรัฐฯ

“มรดกโลกทางธรรมชาติ” 2 แห่ง ได้แก่

  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง ปี 2534

  • กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ปี 2548

162757874566

  • รู้จัก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง

ข้อมูลจาก ส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติ กองการต่างประเทศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยว่า “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง” (Thungyai - Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuaries) มีพื้นที่รวม 4,017,087 ไร่ หรือ 6,427.34 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.อุทัยธานี จ.กาญจนบุรี และ จ.ตาก ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำของลำน้ำสำคัญทางธรรมชาติที่สำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำแควใหญ่ตอนบน (แม่น้ำแม่กลอง และลำห้วยขาแข้ง)

ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลก ในปี พ.ศ. 2534 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย ถือเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย โดยผ่านเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก 3 ข้อ คือ

เกณฑ์ข้อที่ 7 เป็นแหล่งที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่นเห็นได้ชัด หรือเป็นพื้นที่ที่มีความงามตามธรรมชาติหาพื้นที่อื่นเปรียบเทียบไม่ได้

เกณฑ์ข้อที่ 9 เป็นตัวอย่างที่มีความโดดเด่นสะท้อนถึงกระบวนการนิเวศวิทยา และชีววิทยาซึ่งก่อให้เกิดและมีพัฒนาการของระบบนิเวศทางบก หรือระบบนิเวศน้ำจืด หรือระบบนิเวศชายฝั่งและทางทะเล และสังคมสัตว์

เกณฑ์ข้อที่ 10 เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชหรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่น เชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก

162757783395_1

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

  • กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ครอบคลุม 5 ผืนป่าอนุรักษ์

ถัดมา “กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่” (Dong Phayayen - Khao Yai Forest Complex) มีพื้นที่รวม 3,845,082.53 ไร่ หรือ 6,152.13 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่

ผืนป่าแห่งนี้มีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและเป็นต้นน้ำลำธารที่ไหลหล่อเลี้ยงการดำรงชีวิตของชุมชนต่างๆ ในภูมิภาคโดยรอบ ทั้งแม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำลำตะคอง แม่น้ำมวกเหล็ก และแม่น้ำมูลต่างมีจุดกำเนิดมาจากพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ ทั้งสิ้น

ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในปีพ.ศ. 2548 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 29 ณ กรุงเดอร์บัน สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ โดยผ่านเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก คือ เกณฑ์ข้อที่ 10 เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด ซึ่งรวมไปถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือชนิดพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่น เชิงวิทยาศาสตร์ หรือเชิงอนุรักษ์ระดับโลก

162757783395

  • มรดกโลก แห่งที่ 6 ของไทย 'กลุ่มป่าแก่งกระจาน'

และล่าสุด “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” เข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 ในปี พ.ศ. 2564 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จในการดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด การเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือ เชิงอนุรักษ์ระดับโลก เช่น จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย สมเสร็จ เสือโคร่ง ช้าง กระทิง รวมทั้งพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก มากกว่า 490 ชนิด

162757783346

รวมไปถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่ มากกว่า 200 กิโลเมตร

“วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะเจ้าของแหล่ง จะต้องปกป้องรักษาแหล่งที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกให้คงคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลไว้ให้ลูกหลานต่อไป ซึ่งการที่พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนี้ นอกจากเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศ และเป็นความภาคภูมิใจของคนในประเทศแล้ว ยังทำให้คนในประเทศเกิดการตระหนัก รู้สึกเป็นเจ้าของและหวงแหนทรัพยากรที่เรามีอยู่ด้วย ประโยชน์หลัก ๆ อีกด้วย เช่น

162757783373

1) ส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษาวิจัยในระดับสากล

2) ยกระดับการอนุรักษ์พื้นที่ด้วยการบริหารจัดการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ให้คงคุณค่าของแหล่ง เพื่อส่งต่อไปยังอนุชนรุ่นต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น

3) ส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชน

4) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากกองทุนมรดกโลกได้

162757783238

นอกจากนี้ แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชีย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน แล้วเมื่อค่ำวันที่ 25 ก.ค 2564 ดังนี้

1.Quanzhou: Emporium of the World in Song-Yuan, China

2.Temple Rudreshwara (Ramanappa), India

3.Trans-Iranian Railway, Iran

4. Deer Stone Monuments and Related Sites, Mongolia

162757783226

  • สิทธิมนุษยชน กับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก

แม้ตอนนี้การขึ้นทะเบียน “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” เป็นมรดกโลก จะถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย แต่ในอีกมุมหนึ่ง มีความพยายามเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนของชนพื้นเมืองกระเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งก่อนที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนไม่กี่วัน เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ออกคำเตือนส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลก ให้มีมติยกเลิกการขอขึ้นทะเบียนดังกล่าวเนื่องจากมีชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงถูกละเมิดสิทธิในเขตอุทยาน

ผู้เชี่ยวชาญฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้จัดทำรายงานพิเศษสหประชาชาติด้านชนเผ่าพื้นเมือง ผู้จัดทำรายงานพิเศษฯ ด้านสิทธิมนุษยชนและธรรมชาติ และผู้จัดทำรายงานฯ ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมาชนพื้นเมืองกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยาน ถูกละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการบังคับอพยพ การเผาบ้าน รวมถึงแกนนำถูกฆาตรกรรม หลังจากที่ถูกควบคุมตัวไว้โดยเจ้าหน้าที่อุทยาน รวมทั้งยกกรณีการจับกุมชาวบ้าน 28 ราย เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งเด็กและสตรี ในข้อหาที่บุกรุกแผ้วถางที่ดินดั้งเดิม

162757783371

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญฯ ยังเห็นว่าที่ผ่านมารัฐ ยังไม่มีความจริงใจที่จะเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก หากคณะกรรมการมีมติรับรอง อาจส่งผลให้เกิดการปฏิเสธสิทธิของชาวกะเหรี่ยงที่จะดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมโดยเฉพาะการทำไร่หมุนเวียน และอาจละเลยบทบาทของชุมชนในการปกป้องคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในป่าด้วย รวมทั้งแสดงความกังวลถึงนโยบายด้านสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองของยูเนสโกถูกรับรองแค่ถ้อยคำไว้บนกระดาษ แต่ไม่นำมาปฏิบัติจริง

ทั้งนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัฐและชาวกะเหรี่ยง เริ่มขึ้นในปี 2539 จากความพยายามเจรจาให้ชาวกะเหรี่ยงอพยพลงมาอยู่พื้นที่ด้านล่าง โดยจัดสรรพื้นที่ให้ แต่มีบางส่วนไม่ลงมาหรือลงมาแล้วแต่กลับขึ้นไปอีก ขณะที่ปี 2554 เกิด “ยุทธการตะนาวศรี” จับกุมชาวกะเหรี่ยงที่ขึ้นไปทำกินและอาศัยในพื้นที่บางกลอยบนและใจแผ่นดิน เผาทำลายบ้าน และยุ้งข้าว ในปี 2557 เกิดข้อกังขาในการหายตัวไปของนาย “นายพอละจี รักจงเจริญ” หรือบิลลี่ นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงในฐานะพยานของคดีรื้อทำลายเผาบ้านเรือน โดยคาดว่าเสียชีวิต หลังจากนั้น ศาลปกครองสูงสุด สั่งชดใช้สินไหมให้ ปู่คออี้ และชาวบ้านบางกลอย ที่ถูกเผาบ้านเรือน ในปี 2561 ทั้งหมด 6 คน เฉลี่ยรายละ 50,000 บาท

162757783224

มติของ ยูเนสโก ขอให้ไทยดำเนินการเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน 3 เรื่อง ได้แก่

1. ข้อเรียกร้องของชุมชนกะเหรี่ยง

2. การแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน 

3. การรับฟังความคิดเห็นต่อการเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก