ชะลอซื้อบ้านฉุดอสังหาฯซึมยาวดัชนีราคาลง สวนทางอุปทานพุ่ง

ชะลอซื้อบ้านฉุดอสังหาฯซึมยาวดัชนีราคาลง สวนทางอุปทานพุ่ง

วิกฤติโควิด-19ฉุดกำลังซื้อและเศรษฐกิจชะลอตัวหนักอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ “สงครามราคา” อาจเป็นยาแรงไม่พอ! ในการดึงดูดการซื้อ แม้ดัชนีราคาไตรมาสล่าสุดยังคงลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับดัชนีอุปทานที่เพิ่มขึ้นถึง 37% จากปีก่อนหน้า

“กมลภัทร แสวงกิจ” ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดี พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นอุปสรรคสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกระทบภาพรวมการเติบโตของทุกธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้

ข้อมูลจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงจากความยืดเยื้อของการแพร่ระบาด อุปสงค์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกล่าสุดส่งผลให้ครัวเรือนจำนวนมากมีปัญหาในการชำระหนี้ เห็นได้จากระดับหนี้ครัวเรือนปัจจุบันสูงถึง 90.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

ภาคตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทย ได้รับผลกระทบไม่น้อย! ทั้งทางตรงจากมาตรการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง และทางอ้อมจากกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง แม้ผู้พัฒนาอสังหาฯ จะผลักดันโปรโมชัน สงครามราคา และ ใช้ช่องทางออนไลน์มาลดช่องว่างในการซื้อขาย แต่สภาพคล่องทางการเงินและผลกระทบด้านอาชีพของผู้บริโภคยังเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้จำเป็นต้องชะลอการตัดสินใจซื้อบ้าน คอนโดมิเนียม ออกไปก่อน แม้จะยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยก็ตาม

“แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.7 จาก 41.6 ในเดือนก่อนหน้า แต่ผู้บริโภคก็ยังไม่เชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจ จึงวางแผนการเงินอย่างรัดกุมและใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยนานขึ้น แนวโน้มดัชนีราคาที่อยู่อาศัยทุกประเภทลดลงต่อเนื่อง และคาดว่าจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ ขณะที่ดัชนีอุปทานเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนถึง 7% สะท้อนว่ายังคงมีสินค้าคงค้างอยู่ในตลาดอีกพอสมควร”

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันผู้ประกอบการได้ปรับแผนเลื่อนการเปิดโครงการใหม่ นักลงทุน และผู้บริโภคที่มีสินค้าอยู่ในมือต่าง “ชะลอการขาย” เพื่อรอผลตอบแทนที่ดีกว่าในช่วงอื่นแทน คาดว่าจำนวนที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีจะไม่สูงไปกว่านี้ และจะไม่เกิดภาวะล้นตลาด!!

“กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ตลาดอสังหาฯ ฟื้นตัวเร็วขึ้น คือ การจัดหาและกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ให้รุนแรงมากไปกว่านี้ และภาครัฐควรมีมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือเยียวยาและพักหนี้ให้ผู้บริโภคที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยในขณะนี้ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง”

รายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ระบุ ข้อมูลเชิงลึกและวิเคราะห์ทิศทางตลาดอสังหาฯ ไทยไตรมาสล่าสุด พบว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบางต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่งผลให้ผู้บริโภคประสบปัญหาทางการเงินและว่างงานมากขึ้น ทำให้ต้องชะลอการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนออกไปรวมถึงการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย แม้จะมีสงครามราคาที่อัดความคุ้มค่าเพื่อเปิดโอกาสทองให้ผู้ซื้อมากเพียงใด แต่ด้วยกำลังซื้อที่ค่อนข้างจำกัดจึงไม่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อเท่าที่ควร

จะเห็นได้จากจำนวนที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาสล่าสุด ดัชนีอุปทานปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 428 จุด จาก 399 จุด หรือเพิ่มขึ้นถึง 7% จากไตรมาสก่อน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 37% จากปีก่อนหน้า ถือเป็นดัชนีอุปทานที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2558

หากพิจารณาในแต่ละทำเล กรุงเทพฯ ที่มีจำนวนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบไตรมาส ได้แก่ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา เพิ่มขึ้นถึง 34% ตามมาด้วย แขวงดินแดง เขตดินแดง และแขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง เพิ่มขึ้นในสัดส่วน 11% เท่ากัน

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดระลอกนี้ ส่งผลต่อทิศทางการเติบโตในตลาด ผู้พัฒนาอสังหาฯ ตัดสินใจชะลอการเปิดโครงการใหม่ออกไป เพื่อเร่งระบายสต็อกคงค้าง รวมถึงผู้บริโภคที่มีสินค้าอยู่ในมือก็ชะลอการขายออกไปเพื่อรอจังหวะที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่านี้

“ผลกระทบจากโควิดทำให้มุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อบทบาทของที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไป หลายคนต้องใช้เวลาในแต่ละวันที่บ้านมากขึ้น ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคนี้ซึ่งต้องมีพื้นที่ใช้สอยที่เพียงพอและตอบโจทย์การใช้ชีวิตหลากหลายรูปแบบ ทั้งรองรับการเรียนออนไลน์ ทำงานออนไลน์ ทำให้ที่อยู่อาศัยแนวราบยังคงได้รับความสนใจในกลุ่มผู้บริโภคที่กำลังมองหาบ้านอย่างต่อเนื่อง”

แม้ว่า คอนโดจะมีการจัดโปรโมชันออกมากระตุ้นยอดขายจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เห็นได้ชัดจากดัชนีอุปทานล่าสุดที่คอนโดมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนถึง 7% โดยปัจจุบัน คอนโด มีสัดส่วนสูงถึง 87% ของจำนวนอุปทานทั้งหมดในกรุงเทพฯ ขณะที่โครงการที่อยู่อาศัยแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์มีสัดส่วนเพียง 7% และ 5% ตามลำดับ ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลให้หลายครอบครัวยังคงเลือกซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบมากกว่าเช่นกัน