ลูกหนี้ 'แบงก์-นอนแบงก์' แห่พักชำระหนี้ คาดยอดลงทะเบียนยังเพิ่ม

ลูกหนี้ 'แบงก์-นอนแบงก์' แห่พักชำระหนี้ คาดยอดลงทะเบียนยังเพิ่ม

3 แบงก์ใหญ่ "ไทยพาณิชย์ กรุงไทย กรุงศรีฯ" เผย ลูกค้ารายย่อย-เอสเอ็มอี ลงทะเบียนพักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย แล้วกว่า 2.7แสนราย ยอดหนี้รวม3.88 แสนล้านบาท “วงการแบงก์” แย้ม ธปท.อยู่ระหว่างปรับการช่วยเเหลือคาดชัดเจนส.ค.นี้ สมาคมธนาคาร พร้อมเดินหน้าช่วยเหลือ

จากโควิด-19ระบาดรุนแรงขึ้น  ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย (TBA) ฯลฯออกมาตรการเร่งด่วน “พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย  2 เดือน” ให้ลูกค้าเอสเอ็มอีและรายย่อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการคุมการแพร่ระบาดของโควิด โดยเปิดให้เริ่มลงทะเบียนมตั้งแต่ 19 ก.ค.2564

นางสาวอรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์  (SCB) เปิดเผยว่า มีจำนวนลูกค้าสินเชื่อรายย่อย (Retail) และสินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อย (SSME) ทีลงทะเบียนมาแล้ว ถึงวันที่ 26 ก.ค.2564 จำนวน 155,000บัญชี  ยอดหนี้ราว 66,070 ล้านบาท 

ทั้งนี้จากที่เปิดรับลงทะเบียนครั้งนี้ ทางธนาคารพบว่า มีลูกค้าเป็นจำนวนมากยังคงอยู่ในภาวะเปราะบาง และต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมล่าสุดที่ธปท.ประกาศ ทางธนาคารเองก็ยังมีการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาในระยะยาวตามความเหมาะสมกับสถานะของลูกค้า ซึ่งจะเพิ่มความสามารถให้ลูกค้าฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ได้  ทั้งการให้คำปรึกษาและพิจารณาร่วมกับลูกค้าในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าสามารถดำรงชีพได้ในระยะยาว

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า  ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมตัวเลขที่มีจำนวนมาก และ ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เพราะว่ากำลังจะมีข้อตกลงใหม่กับทาง ธปท.ว่าจะปรับการช่วยเหลือลูกค้าอย่างไรต่อบ้าง คาดว่าจะชัดเจนในต้นเดือนส.ค.นี้

            

    162760490948

นายเอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย( KTB ) กล่าวว่า  ธนาคารคาดจำนวนลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีและลูกค้าบุคคล ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการ ประมาณ 4,700 ราย คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือราว 85,000 ล้านบาท  แบ่งเป็น ลูกค้าบุคคลที่ติดต่อขอเข้าร่วมผ่านช่องทางต่างๆของธนาคาร 1,500 ราย วงเงินช่วยเหลือราว 5,000 ล้านบาท  และ จากที่ธนาคารได้สำรวจลูกค้า SME ที่สนใจเข้าร่วมราว 3,200 ราย คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือราว 80,000 ล้านบาท

สำหรับจากนี้้คาดจะมีลูกค้าทยอยสมัครเข้าร่วมมาตรการอย่างต่อเนื่อง และคาดว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ที่จะเข้าร่วมมาตรการครั้งนี้น่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบแบบฉับพลันและมีปัญหาสภาพคล่อง จึงต้องขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติม      

นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ เอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ( BAY)​ กล่าวว่า  ธนาคารอยู่ในช่วงเร่งติดต่อลูกค้าให้ลงทะเบียน  โดยธนาคารมีลูกค้าที่มีสิทธิตามมาตรการนี้ จำนวนกว่า 18,000 ราย เป็นมูลค่าหนี้กว่า 237,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามธนาคาร ยังเชื่อว่ามาตรการต่างๆ ของธนาคารที่มีอยู่จะสามารถช่วยเหลือธุรกิจลูกค้าได้ แต่ธนาคารยังคงติดตามใกล้ชิดเพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติมให้ตามความเหมาะสมของแต่ละธุรกิจเป็นรายๆ ไป

นายเตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาการตลาดและบริหารความสัมพันธ์สินเชื่อยานยนต์ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร  กล่าวว่า ยอดลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ที่สมัครเข้ามาขอรับความช่วยเหลือ ณ 27 ก.ค. 2564 เฉลี่ยที่ราว 1,000-2,000คนต่อวัน หรือเพิ่ิมขึ้น 4 เท่าจากช่วงต้นปีนี้ก่อนเริ่มมาตรการรอบนี้ เฉลี่ยที่ราว 400-500 คนต่อวัน แต่ถือว่าน้อยกว่าราว 10 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงพักหนี้ปีก่อน เฉลี่ยที่ราว 10,000 คนต่อวัน

นางกฤติยา ศรีสนิทประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  กล่าวว่า ปัจจุบัน มีลูกค้าติดต่อเพื่อขอเข้ารับมาตรการช่วยเหลือตามที่บริษัทประกาศตั้งแต่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีมาอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 10,000-15,000 ราย

นางสาวณญาณี เผือกขำ  ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล กล่าวว่า ณ 26 ก.ค. 2564มีจำนวนลูกค้าที่ลงทะเบียนและได้รับการอนุมัติ 4,811 บัญชี ยอดหนี้คงค้างจำนวน 284.75 ล้านบาท โดยคาดว่าหลังจากนี้จะมีลูกค้าจำนวนมากมาติดต่อลงทะเบียน  

นายผยง ศรีวณิชประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ธนาคารสมาชิกได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในเดือนก.ค. 2563 มีลูกค้าขอรับความช่วยเหลือสูงสุดจำนวน 6 ล้านบัญชี วงเงินความช่วยเหลือรวม 4.25 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ล่าสุดเดือนพ.ค.2564 ยังมีลูกค้าอยู่ภายใต้การให้ความช่วยเหลือรวม 1.89 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือกว่า 2 ล้านล้านบาท