แนวโน้มเศรษฐกิจซึมยาว 'ไอเอ็มเอฟ' เตือนโลกโกลาหล

แนวโน้มเศรษฐกิจซึมยาว 'ไอเอ็มเอฟ' เตือนโลกโกลาหล

แนวโน้มเศรษฐกิจซึมยาว-ไอเอ็มเอฟเตือนโลกโกลาหล ขณะรายงานล่าสุดของไอเอ็มเอฟระบุ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีคนจนเพิ่มขึ้นและจะทำให้มีผู้คนประท้วงเพราะปัญหาปากท้องกันมากขึ้น

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)เตือนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงอีกครั้ง กำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ ขณะที่มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีคนจนเพิ่มขึ้น ผู้คนออกมาชุมนุมประท้วงเพราะปัญหาปากท้องกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้น

ไอเอ็มเอฟ ออกรายงานเตือนเมื่อวันอังคาร(27ก.ค.)ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงดำเนินอยู่แต่ก็ยังคงมีความเหลื่อมล้ำอย่างมากระหว่างประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้า ตลาดเกิดใหม่หลายประเทศและประเทศกำลังพัฒนา เพราะการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19ที่ไม่เท่าเทียมกัน และการขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณ

ไอเอ็มเอฟ จึงแบ่งประเทศในโลกออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นประเทศที่คาดว่าจะสามารถดำเนินกิจกรรมปกติได้ในปลายปีนี้ ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยเกือบทั้งหมด และอีกกลุ่มหนึ่งคือประเทศที่ยังต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไป

รายงานเตือนของไอเอ็มเอฟฉบับล่าสุด มีขึ้นหลังจากประมาณกลางเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในคิวบา ที่เป็นอีกประเทศหนึ่งที่พึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ต้องเผชิญภาวะชะงักงันจากวิกฤตโรคระบาด จนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพเศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตของประชาชน

ชาวคิวบานับหมื่นคนออกมาเดินขบวนประท้วงในหลายเมือง เพื่อแสดงความไม่พอใจการบริหารจัดการของรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลนำมาใช้ได้สร้างความยากลำบากให้ชาวคิวบา ก่อให้เกิดความไม่พอใจสะสมจนนำมาสู่การชุมนุมประท้วง

นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุจลาจลและปล้นสะดมร้านค้าในหลายประเทศของแอฟริกาใต้ โดยมีสาเหตุมาจากความไม่พอใจที่รัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหาปากท้องประชาชน รวมทั้งความยากลำบากและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากเศษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคโควิด-19 ระบาดจำนวน จนส่งผลให้ผู้เสียชีวิตอย่างน้อยหลายสิบคน

รายงานฉบับนี้ของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่จะทำให้ความสามารถในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยแตกต่างกัน

“ประเทศที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์และมีผู้ติดเชื้อโควิด-19จำนวนมากอาจจะไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าที่วางไว้ และสิ่งนี้จะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)โลก ภายในปี 2568”กีตา โกปินาธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟ ระบุ

จากสารพัดปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้น ไอเอ็มเอฟจึงปรับลดตัวเลขการคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ หลังจากที่ประเทศเหล่านี้เริ่มเปิดภาคธุรกิจอีกครั้ง

รายงาน World Economic Outlook (ดับเบิลยูอีโอ) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะเติบโตที่ 6% เป็นตัวเลขเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเม.ย. แต่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจาก -3.2% เมื่อช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐ จะขยายตัว 7% เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เมื่อเดือนเม.ย.ที่ 6.4% พร้อมคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนจะขยายตัว 4.6% ในปีนี้ หลังจากหดตัว 6.5% ปีที่แล้ว ขณะที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนและอินเดียจะขยายตัวที่ 8.1% และ 9.5% ตามลำดับ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในกลุ่มยูโรโซนที่ไอเอ็มเอฟมองแง่ดีว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวนั้น ไอเอ็มเอฟ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจอังกฤษในปีนี้ว่าจะขยายตัวถึง 7% เทียบเท่ากับระดับของสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 1.7% จากระดับการคาดการณ์ในเดือนเม.ย. เนื่องจากอังกฤษมีอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก

อังกฤษฉีดวัคซีนให้กับประชากรผู้ใหญ่แล้วกว่า 70% ของประเทศ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาเริ่มชะลอตัวลง จนอังกฤษสามารถยกเลิกกฎการเว้นระยะห่างทางสังคมเมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟ ยังยกย่องอังกฤษและแคนาดาสำหรับการวางแผนที่จะควบคุมการสนับสนุนทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ในระยะกลาง โดยอังกฤษมีกำหนดจะยุติโครงการมอบเงินอุดหนุนค่าแรงในช่วงที่ประชาชนพักงานในปลายเดือนก.ย.นี้

ส่วนภูมิภาคเอเชียโดยรวม ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดตัวเลขการเติบโตจาก 8.6% เมื่อเดือนเม.ย. เหลือขยายตัวที่ 7.5% ในเดือนนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียยังคงประสบปัญหาในการจัดหาวัคซีนเพื่อชะลอการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดหนักในหลายประเทศ

ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่อัตราเฉลี่ย 4.3% ลดลง 0.6% จากการคาดการณ์เมื่อ 3 เดือนก่อน