คลังชี้โควิดกระทบหนักใช้จ่ายภาคเอกชน

คลังชี้โควิดกระทบหนักใช้จ่ายภาคเอกชน

คลังเผยเศรษฐกิจไทยในเดือนมิ.ย.ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัว ดัชนีเชื่อมั่นปรับลดลง ขณะที่ การส่งออกยังคงขยายตัวในอัตราสูง

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ประจำเดือนมิ.ย.2564 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนดังกล่าว ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 สะท้อนจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่มีสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวในอัตราที่สูงได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ยังขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยปริมาณจำหน่าย รถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ 20.6% และ 24.5%ต่อปี ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัว 27.0% และ 13.7% ตามลำดับ สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ 13.3% ต่อปี

ขณะที่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับ ราคาคงที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ 5.0% ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 43.1จากระดับ 44.7ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจาก ผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายลง

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ยังขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าแต่มีสัญญาณชะลอลง โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมิ.ย.2564 ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ 13.9% ต่อปีและเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัว 5.0%

สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน-0.8% ต่อปี และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -2.0% เนื่องจาก ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างชะลอตัว ขณะที่ ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวที่ 8.5%ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลขยายตัว 6.3%

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงิน สกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 23,699.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 43.8% ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่สูงสุด ในรอบ 11 ปี นอกจากนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัว 41.6% ต่อปี

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน มีสัญญาณขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยภาคเกษตรยังคง ขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวที่ 3.9% ต่อปีและขยายตัว เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 4.5%

ขณะที่ บริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึง นักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 5,694คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและอาเซียน

สำหรับภาคอุตสาหกรรม ที่สะท้อนจาก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 80.7 จากระดับ 82.3 ในเดือนพ.ค.2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อโควิด-19 ที่เริ่มมีการระบาดในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.2% ต่อปีและอัตราเงินเฟ้อ พื้นฐานอยู่ที่ 0.5% ต่อปี ขณะที่ สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพ.ค.อยู่ที่ 55.4% ต่อ GDP ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 246.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ