ทำไม ‘เสรีภาพ’ ช่วง ‘โควิด’ วิกฤตกว่าช่วงอื่น?

ทำไม ‘เสรีภาพ’ ช่วง ‘โควิด’ วิกฤตกว่าช่วงอื่น?

นักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชนชี้ “เสรีภาพ” การแสดงออกช่วง “โควิด” ทรุดหนักกว่าเคย มีข้อกฎหมายหมิ่นประมาทที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือ

จากข้อมูลที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยร่วมกับ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) องค์กร ARTICLE 19 และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยในงานเสวนา “เมื่อต้องพูดความจริงกับผู้มีอำนาจ” การจำกัด เสรีภาพ ในการแสดงออกและข้อมูลข่าวสาร ในห้วงที่มีการระบาดของโควิด - 19 ในประเทศไทย พบว่าที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญหน้ากับปัญหาการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นอย่างหนักโดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของ โควิด-19 โดยมีประชาชนหลายคนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลแต่กลับถูกดำเนินคดี

คาเทีย ชิริซซี รองผู้แทนข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อธิบายถึง สิทธิเสรีภาพ การแสดงออกว่าเป็น "เสรีภาพ" ขั้นพื้นฐาน มีระบุไว้ในกฎหมาย สิทธิมนุษยชน ระหว่างประเทศ และเป็นหลักการสำคัญในสังคมประชาธิปไตยด้วย

อย่างไรก็ตาม สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบอาจถูกจำกัดในวิกฤตเช่นนี้ แต่รัฐยังต้องเคารพหลักการความชอบธรรมในกฎหมายต่างๆ โดยในสภาวะโรคระบาดเช่นนี้ ทุกคนควรได้รับข้อมูลและการรับมือต่อวิกฤตอย่างไม่มีข้อยกเว้น นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติหรือ UN ยังแสดงความกังวลต่อศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในไทยที่พุ่งเป้าไปยังคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐจนสร้างบรรยากาศให้ประชาชนต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง

"ในห้วงเวลาที่ไม่แน่นอน พลเมืองย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความกังวลของตน ทุกคนต้องได้รับสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกต่อประเด็นต่างๆ ทั้งนี้ UN ออกคำแนะนำต่างๆ ว่า กฎหมายอาญานั้นควรใช้ในกรณีที่รุนแรงอย่างที่สุดเท่านั้น" คาเทียกล่าว

  • กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือปิดกั้นการแสดงความเห็น

จากการชุมนุมบนท้องถนนที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2563 นั้นมีการแสดงความเห็นหลายประการที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงต่างๆ ไม่สบายใจ ขณะที่ในโลกอินเทอร์เน็ตก็มีการเปิดกลุ่มตลาดหลวงที่คุยเรื่องการเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลัก อานนท์ ชวาลาวัณย์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ iLaw เปิดเผยว่า มีทั้งคนทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในกลุ่ม โดยมีลักษณะที่ประชาชนเป็นผู้รวบรวมข้อมูลแล้วส่งต่อในหมู่ประชาชนด้วยกันเอง ทำให้หลายคนรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งอีกฝ่ายก็โต้กลับด้วยการกระทำเช่นเดียวกัน และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งซึ่งอันตรายในอนาคตได้

"ในระยะหลังคนที่ออกมาชุมนุมถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 หรือมาตรา 112 ซึ่งตอนนี้มีจำนวนผู้ดำเนินคดีจากคดี 112 เยอะมาก ทั้งที่หลายคนนั้นเพียงแต่ตั้งคำถามเรื่องการใช้งบประมาณของรัฐในการให้งบด้านสาธารณะสุขกับงบสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น กลับถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ทั้งที่เป็นการวิจารณ์รัฐ ไม่ใช่การวิจารณ์สถาบัน"

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 รุนแรงมากขึ้น มีคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐซึ่งบางครั้งอาจมีการใช้คำด่าหยาบคาย เขาแนะนำว่าภาครัฐควรนำเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้กลับไปทบทวนนโยบายของตน และควรเข้าใจว่าว่าบางครั้งเมื่อประชาชนแสดงความโกรธที่ไม่ได้นำไปสู่ความเสียหายใหญ่โตหรือมีจุดประสงค์เพื่อโน้มน้าวให้คนเชื่อ การให้ข้อเท็จจริงแก่ประชาชนอาจเป็นการบรรเทาสถานการณ์ความตึงเครียดได้มากกว่าการไปไล่ดำเนินคดี

  • เส้นบางๆ ระหว่าง Fake News กับ Fact News

ด้าน ภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า เชื่อว่าประเทศไทยให้เสรีภาพในการแสดงออกทางออนไลน์มากที่สุดติด 1 ใน 10 ของโลก เนื่องจากให้ “สิทธิเสรีภาพ” ของประชาชนในการเข้าถึงอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ทั้งหมด การแสดงออกในอินเทอร์เน็ตก็เป็นเรื่องเปิดกว้าง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเน้นส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน เน้นผลักดันการส่งเสริมอินเทอร์เน็ตให้เข้าถึงประชาชนทุกคน

ทว่าการแสดงออกต่างๆ ทำให้เกิดข่าวปลอมหรือเฟกนิวส์มากขึ้นจนต้องมีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมโดยพยายามยึดหลักสากลมากที่สุดในการดำเนินงาน ซึ่งการจะผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ได้นั้นต้องมีองค์ประกอบคือ 1. เป็นการเข้าถึงระบบโดยมิชอบหรือเจาะระบบ 2. การเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหาย 3. การนำเข้าซึ่งข้อมูลบิดเบือน เป็นเท็จบางส่วนหรือทั้งหมดที่กระทบต่อประชาชน โครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน

"การดำเนินการจับกุม ฟ้องร้องคดีนั้นมีการประชุมทุกวันจากสี่ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายเจ้าหน้าที่ หน่วย ปอท. และหน่วย สอท. มาพิจารณาว่าผิดจริงหรือไม่ จะเห็นว่าปัจจุบัน โลกออนไลน์ที่มีเฟกนิวส์มาจากการที่ทุกคนมีเสรีจนเกินไปด้วยซ้ำ คือสามารถสมัครเฟซบุ๊คโดยใช้ตัวตนปลอมก็ได้ นี่เป็นปัญหาที่ประชาชนต้องช่วยกัน นอกจากนี้ ประชาชนบางกลุ่มก็ยังไม่เท่าทันเฟกนิวส์ ทุกภาคส่วนต้องช่วยประเด็นนี้ด้วยกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ต่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม หากเฟกนิวส์เกิดจากงานราชการเอง แต่ละหน่วยคือกระทรวง ทบวง กรมก็มีหน้าที่ไปชี้แจงเอง ให้เป็นข่าวที่ออกมาจากภาครัฐ แต่ถ้าข่าวที่มาจากสังคม สื่อมวลชน วิชาการ ก็ต้องให้แต่ละฝ่ายออกมาชี้แจงและทำความเข้าใจด้วยตัวเอง อยากเน้นว่าอย่าเอากระแสโซเชียลเป็นหลัก แต่ให้ช่วยกันพูดความจริง”

  • แสดงความเห็นอย่างเสรีเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย

สังคมไทยกับวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนยังเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันมากขึ้น วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกว่าที่ผ่านมา กสม. ได้มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ช่วงนี้ คือเน้นการคุ้มครองด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม มุ่งไปที่การแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดจากโครงสร้าง และการส่งเสริมวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนและความแตกต่างเป็นเรื่องสำคัญ

"เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นรากฐานของประชาธิปไตย และสิทธิในการคิดและการให้ความเห็นก็เป็นเรื่องที่ควรได้รับการส่งเสริม ในอีกแง่หนึ่งคือ ประชาชนมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นต่อฝ่ายการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในการเข้ามาบริหารบ้านเมือง ฝ่ายการเมืองจึงควรรับฟังและคำความเห็นเหล่านี้ไปพิจารณาปรับปรุงตัวเอง การไปปิดกั้นจะทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา คือทำให้ประชาชนเซ็นเซอร์ตัวเอง ทำให้สังคมมืดบอด วันหนึ่งก็อาจปะทุขึ้นมาได้ ส่วนอะไรที่เป็นเรื่องเท็จ ไม่ถูกต้อง ก็สามารถชี้แจงและอธิบาย ดีกว่าไปปิดปากและใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อไปเล่นงานซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตต่อสังคม"  วสันต์กล่าว

  • “กฎหมายหมิ่น” เครื่องมือปิดปากยอดฮิตช่วง “โควิด” ระบาด

รศ.ดร. มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า กระบวนการบังคับใช้กฎหมายต่อการแสดงความคิดเห็นนั้นมีปัญหา โดยกฎหมายที่นำมาใช้ในการดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือการหมิ่นประมาท กับมาตรา 112 ทั้งสองส่วนก็มีจำนวนผู้ที่ถูกกล่าวหาสูงมากขึ้นในปัจจุบัน เราต้องดูว่ากฎหมายที่เราใช้คุ้มครองคนที่ถูกละเมิดต้องไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการไปละเมิดสิทธิของคนอื่น จึงต้องระวังว่าไม่ให้คนอื่นหรือหน่วยงานของรัฐใช้ปิดปากประชาชน

หากอยากคุ้มครองทั้งประชาชนและกษัตริย์ คำถามคือต้องคุ้มครองระดับใดจึงจะเหมาะสม ต้องระวังไม่ให้การคุ้มครองนั้นไปละเมิดสิทธิคนอื่น ทำให้เราต้องกลับมาดูว่าเราจำเป็นต้องเอาเป็นเอาตายกับคนที่หมิ่นประมาทซึ่งหน้ากันแค่ไหน ต้องคาดโทษเท่าไหร่ ตนคิดว่าสามารถใช้เป็นโทษปรับให้สูงขึ้นหรือคาดเป็นโทษละเมิดในทางแพ่งเพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาก็ได้

"สำหรับมาตรา 112 ส่วนตัวเห็นว่าประมุขของรัฐควรได้รับการคุ้มครอง แต่ระดับการคุ้มครองนั้นควรเหมาะสมและไม่ถูกใช้ในการไปละเมิดสิทธิของคนอื่น เพราะมาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจนแยกไม่ออกว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์หรือหน่วยงานของรัฐ ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ต้องยอมรับว่ามีคนเห็นต่างมากขึ้น การใช้กฎหมายที่รุนแรงไม่มีทางลดจำนวนคนที่เห็นต่างลงได้เลย เราต้องกลับมาคิดกันอย่างจริงจังว่ามีวิธีการอื่นหรือไม่ที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ยั่งยืนในระบอบประชาธิปไตย และมาตรา 112 อาจปรับเป็นโทษทางอาญาหรือเรียกค่าเสียหายทางแพ่งอย่างเดียว

ดังนั้นจึงเห็นว่า ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายทั้งที่คุ้มครองประชาชนทั่วไปและสถาบันพระมหากษัตริย์"

วสันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและหลักกติกาสากล ประชาชนมีสิทธิในการแสดงความเห็นโดยสุจริต อย่างไรก็ตามในแง่การสื่อสารหรือแสดงความเห็น อยากให้ข้อสังเกตว่าไม่ควรไปละเมิดสิทธิคนอื่น และพยายามสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ไม่สื่อสารอย่างเป็นเท็จเพราะอาจเกิดปัญหาต่อสังคมและต่อตัวเอง อย่าสื่อสารสร้างความเกลียดชัง