กำชับต้องฉีด 'วัคซีนไฟเซอร์' ให้ทันใน 30 วัน

กำชับต้องฉีด 'วัคซีนไฟเซอร์' ให้ทันใน 30 วัน

สธ.เผยขั้นตอนกระจายวัคซีนไฟเซอร์ ภายใต้ข้อจำกัดเก็บตู้อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ต้องทยอยเบิกกระจายไปพื้นที ต้องฉีดทันภายใน 30 วัน เตรียมสรุปยอดรายจังหวัด 29 ก.ค.นี้

วันที่ 27 ก.ค. 64 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กรณีวัคซีนไฟเซอร์ กล่าวว่า ข้อมูลเบื้องต้น บริษัทไฟเซอร์ ได้บอกคือ วัคซีนไฟเซอร์จะต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียสเพื่อคงคุณภาพวัคซีน แต่หากเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาจะมีอายุได้ 30 วัน ดังนั้น จะต้องเก็บวัคซีนไว้ที่คลัง ทยอยเบิกแล้วกระจายไปในพื้นที่ ซึ่งต้องมั่นใจว่าเมื่อไปถึงแล้วจะต้องฉีดให้ทันภายใน 30 วัน ส่วนการทยอยส่งวัคซีนไปแต่ละจังหวัด ทางกรมควบคุมโรคมีระบบห่วงโซ่ความเย็น (Cold chain) ที่ได้มาตรฐานเพื่อคงคุณภาพวัคซีน

นพ.สุระ กล่าวด้วยว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เป้าหมายที่สำคัญคือ การฉีดเป็นเข็มบูสเตอร์(Booster dose) ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เฉพาะกลุ่มที่เป็นแพทย์ พยาบาลด่านหน้าในการรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 ก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจ ความปลอดภัยให้คนทำงานที่มีความเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อในทุกวัน แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ คาดว่ามีจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ส่วนหนึ่งสมัครใจรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นบูสเตอร์โดสไปแล้ว

นพ.สุระ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ประสานให้ 77 จังหวัดเร่งสำรวจรายชื่อบุคลากรแพทย์ พยาบาลที่ทำงานด่านหน้ากลุ่มที่จำเป็นที่สุด ที่สมัครใจรับวัคซีนไฟเซอร์ ทั้งในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน สรุปข้อมูลนำส่งมาให้กรมควบคุมโรค โดยจะมีการประชุมร่วมกันในเรื่องของจำนวนแต่ละจังหวัดในวันที่ 29 ก.ค. นี้ เพื่อเตรียมการกระจายวัคซีนไปตามจำนวน


“บุคลากรแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าจะได้รับทุกคน เพราะได้กันวัคซีนให้ในกลุ่มนี้อย่างเพียงพอ คนที่จำเป็นต้องได้วัคซีนตามหลักวิชาการ ก็ต้องได้ก่อน เมื่อเหลือจากกลุ่มนี้ จะพิจารณากระจายให้ 13 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ระบาด ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีภาวะอ้วน และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ในรหัส 602 และ 608 ซึ่งส่วนนี้ทางจังหวัดก็ต้องสำรวจแล้วส่งรายชื่อมาให้กรมควบคุมอีกครั้ง” นพ.สุระ กล่าว