1 เดือนฟื้นฟูการบินไทย 'ผู้บริหารแผน' เค้นรายได้ทุกยูนิต
“ผู้บริหารแผนการบินไทย” เดินสายมอบนโยบายทุกธุรกิจเร่งหารายได้ “ครัวการบิน-ฝ่ายช่าง-คาร์โก้” ชี้เป็นกลไกสำคัญฝ่าวิกฤติโควิด
บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 หลังจากนั้นผู้บริหารแผน 5 คน ที่ศาลแต่งตั้งได้เข้าทำหน้าที่บริหารการบินไทยให้เป็นไปตามแผนในการใช้หนี้คืนเจ้าหนี้ตามภาระหนี้ที่ยื่นขอรับชำระ 410,140 ล้านบาท รวมแล้วผู้บริหารแผนเข้าไปทำหน้าที่ในการบินไทยแล้ว 1 เดือน เศษ
แหล่งข่าวจากการบินไทย กล่าวว่า หลังจากที่ศาลล้มละลายกลางอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการแล้วผู้บริหารแผนทั้ง 5 คน คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ,นายพรชัย ฐีระเวช ,นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ,นายไกรสร บารมีอวยชัย และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ได้เริ่มทำงานด้วยการมอบนโยบายให้กับแต่ละหน่วยธุรกิจของการบินไทย โดยนายศิริและนายไกรสร มอบนโยบายให้ฝ่ายช่างมีส่วนร่วมในการหารายได้และขับเคลื่อนให้การบินไทยเป็นสายการบินชั้นนำที่ศักยภาพในการแข่งขันในฐานะสายการบินแห่งชาติ
นอกจากนี้ แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้การบินไทยหาเงินกู้ใหม่วงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยเจรจากับสถาบันการเงินและเจ้าหนี้การบินไทย ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้เจรจาแล้วหลายราย เช่น ธนาคารกรุงเทพ โดยจะแบ่งเป็นสินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาท จากการสนับสนุนจากภาครัฐหรือบุคลใดที่รัฐหรือผู้บริหารแผนร่วมจัดหาในรูปเงินกู้หรือการค้ำประกัน และสินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาท จากการสนับสนุนจากภาคเอกชน
รวมทั้งในแผนฟื้นฟูกิจการที่ผ่านความเห็นชอบจากศาลล้มละลายกลางได้มีการกำหนดกระแสเงินสดจากการกู้ยืมใหม่ในปี 2564 วงเงิน 35,000 ล้านบาท และในปี 2565 วงเงิน 13,000 ล้านบาท ในขณะที่การชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการจะเริ่มตั้งแต่ปี 2564 ที่วงเงิน 286 ล้านบาท และทยอยเพิ่มขึ้นในปี 2565 วงเงิน 726 ล้านบาท ปี 2566 วงเงิน 17,221 ล้านบาท ปี 2567 วงเงิน 11,643 ล้านบาท ทยอยจ่ายหนี้ไปจนถึงปี 2579 รวมวงเงินที่จ่ายหนี้ 197,085 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากการบินไทย กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยธุรกิจการบินของการบินไทยถือเป็นหน่วยสำคัญในการหารายได้ ในช่วงเวลาที่การบินไทยยังไม่สามารถทำการบินรับส่งผู้โดยสารได้อย่างปกติ โดยหน่วยธุรกิจการบิน มีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 3 ส่วน คือ ครัวการบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยาน และขนส่งสินค้า ซึ่งคาดว่าตลอดทั้งปีนี้ จะสามารถสร้างรายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ราว 1 หมื่นล้านบาท
สำหรับนโยบายสำคัญที่ผู้บริหารแผนได้มอบหมายไว้ กำชับให้หน่วยธุรกิจการบินเร่งหารายได้ทุกด้าน เนื่องจากเป็นหน่วยที่ยังสามารถหารายได้อย่างเต็มศักยภาพในปัจจุบันที่แม้โรคโควิด-19 จะยังระบาดทั่วโลก โดยเบื้องต้นฝ่ายครัวการบินได้ลงนามในสัญญากับลูกค้าสายการบินเพื่อบริการอาหาร 2-3 ราย อีกทั้งยังอยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่รองรับผู้บริโภคภาคพื้น ซึ่งมั่นใจว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยสร้างรายได้ให้กับการบินไทยเพิ่มมากขึ้นได้
ส่วนธุรกิจขนส่งสินค้า ขณะนี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญของการเพิ่มรายได้เข้าองค์กร มีลูกค้าใช้บริการเพิ่มขึ้น และยังมีใช้บริการเช่าเหมาลำขนส่งสินค้าด้วย เช่นเดียวกันธุรกิจคลังสินค้าที่ในปัจจุบันยังได้ลงนามสัญญากับลูกค้าเพิ่มอีก 2-3 ราย
"คาดการณ์ว่าภายใน 5 ปีหลังจากนี้ ธุรกิจนอนแอโรว์ของการบินไทย ประกอบด้วย ครัวการบิน ฝ่ายช่าง และขนส่งสินค้า (คาร์โก้) จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้กับองค์กร จากปัจจุบันคิดเป็น 15% ของรายได้รวม จะเพิ่มเป็น 50% ของรายได้รวม” แหล่งข่าว กล่าว
ทั้งนี้ การเร่งเพิ่มรายได้นอนแอโรว์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูการบินไทย ที่มีเป้าหมายเพิ่มรายได้จากหน่วยธุรกิจที่ยังมีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับองค์กร เช่น ธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน ครัวการบินและขนส่งสินค้า ซึ่งดำเนินการก่อนจะผลักดันให้มีการแยกจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจย่อยในลักษณะ Business unit เปิดให้เอกชนรายอื่นเข้ามาร่วมลงทุน และขยายบริการรองรับสายการบินหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีรายได้อย่างยั่งยืนและจะทำให้การบินไทยสามารถก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ไปได้