“ทบ.-กอ.รมน.” ในสมรภูมิโควิด ปรับยุทโธปกรณ์ พาคนกลับบ้าน 

“ทบ.-กอ.รมน.” ในสมรภูมิโควิด ปรับยุทโธปกรณ์ พาคนกลับบ้าน 

ผบ.ทบ. นำอากาศยาน บล. 295 และ Mi-17v5 มาดัดแปรงปฏิบัติภารกิจขนผู้ป่วยโควิดกลับบ้าน สามารถประหยัดเวลา ลดความเหนื่อยล้า และส่งผู้ป่วยเข้ารักษาได้รวดเร็ว

 เข้าสู่สมรภูมิรบ ‘โควิด-19’ อย่างเป็นทางการ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศยึดพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล คืนจากเชื้อร้าย ด้วยการล็อกดาวน์ หยุดกิจกรรม กิจการ และ Work from home 100%

ก่อนจัดชุดไล่ล่าโควิดเข้าพื้นที่ชุมชน เคาะประตูบ้าน ตรวจคัดกรองแบบ Rapid test ที่รู้ผลทันตาเห็น พร้อมจำแนกผู้ป่วยสีเขียว หรือกลุ่มเสี่ยง เลือกวิธีกักตัวที่บ้าน ส่งข้าว ส่งน้ำ และยา พร้อมทีมแพทย์วีดีโอคอลติดตามอาการเป็นระยะ ในขณะผู้ป่วยสีแดงส่งเข้ารักษาตามระบบต่อไป

ส่วนผู้ติดเชื้อที่มีความประสงค์จะกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา พร้อมสั่งการให้ “กองทัพบก” และ “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” (กอ.รมน.) จัดยานพาหนะ และกำลังพล ทำหน้าที่ ‘รับ-ส่ง’ ภายใต้ “โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ทบ.“ และ ”กอ.รมน. พาคนกลับบ้าน” โดยใช้กลไกของศูนย์การเคลื่อนย้ายกองทัพบก กองทัพภาค และกรมแพทย์ทหารบก และเริ่มสตาร์ทเครื่องเมื่อ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา

หวังลดปริมาณผู้ป่วยสะสมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งเป็นสาเหตุปัญหาเตียงขาดแคลน อีกทั้งช่วยแบ่งเบาภาระการรักษาผู้ป่วย รวมถึงป้องกันแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่น หากปล่อยให้เดินทางด้วยรถสาธารณะ

สำหรับแนวทางปฏิบัติเป็นตามมาตรการควบคุมโควิด โดยแบ่งผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาไม่ไกลมากนัก เดินทางด้วยรถบรรทุกกำลังพล แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่1 คือ ผู้ติดเชื้อและมีผลการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อ และกลุ่มที่ 2 ผู้ที่มีอาการ แต่ไม่มีผลการตรวจยืนยัน เมื่อไปถึงที่หมายจะเข้าสู่ศูนย์คัดกรองของแต่ละจังหวัด ก่อนส่งต่อรับการรักษาภายในโรงพยาบาลต่อไป

โดยผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาห่างไกลทั่วประเทศ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สั่งการนำเครื่องบินลำเลียงแบบ 295 และ เฮลิคอปเตอร์ แบบ Mi-17v5 มาเป็นยานพาหนะในการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อทางอากาศ ทำให้ประหยัดเวลาการเดินทางไกล ลดความเหนื่อยล้า และสามารถส่งผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาได้อย่างรวดเร็ว

อากาศยานทั้ง 2 แบบของกองทัพบก ห้องโดยสารจะถูกดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพผู้ป่วย ครอบคลุมเรื่องการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ระบบความปลอดภัย ปรับระบบควบคุมการไหลเวียนอากาศและระบบกรองอากาศ และการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อการสื่อสาร

ในขณะที่ทีมลำเลียง ประกอบด้วย นักบิน ช่างเครื่อง ทีมแพทย์และพยาบาล ได้ทดสอบขึ้นบินและซักซ้อมการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายตั้งแต่การรับและนำผู้ป่วยขึ้นเครื่อง การจัดการสัมภาระ,แนะนำขั้นตอนการปฏิบัติตน จนถึงการลำเลียงผู้ป่วยเมื่อถึงปลายทาง และการทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายในอากาศยานเมื่อจบภารกิจโดยกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก

เครื่องบินลำเลียงแบบ 295 เป็นอากาศยานประจำการที่กองทัพบกใช้ในภารกิจป้องกันประเทศ เช่น การเคลื่อนย้ายกำลังทหาร ยุทโธปกรณ์และ สิ่งอุปกรณ์ ภารกิจการฝึกศึกษาทางทหาร เช่น หลักสูตรส่งทางอากาศ การกระโดดร่ม การฝึกร่วม/ผสม ภารกิจส่งกลับสายแพทย์ (การส่งผู้ป่วยเจ็บกลับจากหน่วยที่อยู่ข้างหน้าไปข้างหลังยังหน่วยแพทย์ที่มีขีดความสามารถสูงกว่า รวมถึงการดูแลผู้ป่วยในระหว่างการส่งกลับด้วย) การบรรเทาสาธารณภัย

ส่วน Mi-17v5 เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในปฏิบัติการทางยุทธวิธี ค้นหา ช่วยเหลือ กู้ภัย โดยมีเครื่องยนต์เทอร์โบชาฟ Isotov TV3-117VM ให้กำลังสูงสุด 2,200 แรงม้า พิสัยปฏิบัติการ 644 กิโลเมตร เพดานบิน 6,096 เมตร ความเร็วสูงสุด 222 กิโลเมตร/ชั่วโมง

สำหรับการบรรทุก หรือลำเลียงนั้น ภารกิจปกติจะบรรทุกเต็มอัตราได้ 20 ที่นั่ง แต่ในกรณีใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 จะต้องมีการปรับลดที่นั่งลงเพื่อการรักษาระยะห่างตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ แผนงานของกองทัพบกพร้อมใช้ทุกสรรพกำลังและยุทโธปกรณ์ที่มี ในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มขีดความสามารถ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสามารถประสานผ่านศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิดกองทัพบก คอลเซ็นเตอร์ 02-270-5685-9 ที่มีเจ้าหน้าที่ 24 ชั่วโมง