นักวิการ แนะ 4 ภาคส่วน เร่งส่งเสริมการใช้ 'รถอีวี'

นักวิการ แนะ 4 ภาคส่วน เร่งส่งเสริมการใช้ 'รถอีวี'

นักวิชาการ แนะ 4 ภาคส่วน รัฐ - เอกชน - นักวิชาการ - ประชาชน ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รับเทรนด์โลกหันใช้รถอีวี สู่เป้าหมายปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

นายยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวในหัวข้อ “แนวโน้มเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า” ในการสัมมนาการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่งและทิศทางขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า จัดโดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) โดยระบุว่า เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ หรือ  Mobility Technology จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในระดับโลก ซึ่งจะเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป และจะอยู่ภายใต้การเชื่อมโยงใน 4 ด้าน หรือ C A S E ประกอบด้วย C คือ ยายนต์ที่มีการเชื่อมโยงสื่อสารกัน (Connected Vehicle) , A คือ ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) , S คือ ธุรกิจการใช้รถยนต์ร่วมกัน (Shared Mobility) และ E คือ ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle)

162702319786

โดยปัจจัยท้าทายที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อน Mobility Technology ประกอบด้วย ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาประมาณ 4-5 ปี จากการปล่อยมลพิษต่างๆ เช่น เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งแม้ว่าวันนี้ ประเทศไทยจะเปลี่ยนมาใช้รถอีวีกันหมด ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ก็ยังจะมีอยู่ไปอีก 10 ปี แต่หากวันนี้ ยังไม่เริ่มส่งเสริมการใช้ในอนาคต ฝุ่น PM 2.5 ก็จะไม่มีโอกาสหายไป

รวมถึง กระแสการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ที่หลายประเทศส่วนใหญ่ในโลกได้ให้ความสำคัญกับการตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ในปี ค.ศ.2050 และเตรียมตั้งกำแพงภาษีสกัดการส่งออกอุตสาหกรรมที่ไม่ใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ Mobility Technology มีความสำคัญมากขึ้น และต้องผลักดันให้การเดินทางเกิดความยั่งยืนด้วย

162702321028

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle หรือ BEV) ถือว่ามีประสิทธิภาพใกล้เคียงรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) เพราะขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์เกียร์อินเวอร์เตอร์และระบบควบคุม ไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ ที่จะเสียเวลาในการทำรอบเกียร์ และอีก 4-5 ปีข้างหน้า ราคารถอีวี จะใกล้เคียงกับรถ ICE เนื่องจากราคาแบตเตอรี่ มีแนวโน้มถูกลง เหลือประมาณ 62 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง จากระดับ 100 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง และประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ที่พัฒนามากขึ้นทำให้อัตราชาร์จต่อครั้งจะมีระยะทางเพิ่มเป็น 400 กิโลเมตร ที่น่าจะเป็นมาตรฐานใหม่ในอนาคต จากปัจจุบันที่เริ่มพูดคุยกันว่า ระยะทาง 150 กิโลเมตรน่าจะเป็นมาตรฐานใหม่ในปัจจุบัน  

ทั้งนี้จากข้อมูลทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA ) คาดการณ์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ตามที่หลายประเทศประกาศนโยบายไว้ (Stated Policies Scenario) ว่าภายในปี ค.ศ. 2030 จะมีเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 140 ล้านคัน จากใน ปี ค.ศ. 2020 ที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคันทั่วโลก

ตลาดรถอีวีในปี ค.ศ. 2019-2020 พบว่า ยอดรถใหม่ที่เป็นอีวี เติบโตมากขึ้น เมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไป แม้ว่าจะเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

162702322724

สำหรับสถิติการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย.2564 พบว่า มียานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท อยู่ที่ 7,250 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถมอเตอร์ไซค์ อยู่ที่ 4,108 คัน รถยนต์นั่ง อยู่ที่ 2,769 คัน รถตุ๊กตุ๊ก 250 คัน รถบัส 122 คัน และรถบรรทุก 1 คัน ซึ่งเติบโตขึ้นต่อเนื่อง จากปีสถิติการจดทะเบียนในปี 2563 ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท อยู่ที่ 5,685 คัน เติบโตขึ้น 100% จากปี 2562

162702324274

นายยศพงษ์ กล่าวอีกว่า การจะส่งเสริม Mobility Technology ให้เกิดประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีความร่วมมือเพื่อนำไปสู่โซลูชั่นการทำงานร่วมกัน(collaborative solutions) โดยภาครัฐ จะต้องกำหนดนโยบายแก้ไขกฎระเบียบสนับสนุนการเงิน ภาคเอกชน จะดำเนินการผลิตและบริการที่ใช้งานได้จริงและมีราคาที่เหมาะสม ภาควิชาการ จะต้องศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากรของประเทศ ขณะที่ภาคประชาชน ควรตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่มากขึ้นในอนาคต