เหตุผลทำไมไทยจะร่วม'โคแวกซ์'จัดหา'วัคซีนโควิด19'ปี 65

เหตุผลทำไมไทยจะร่วม'โคแวกซ์'จัดหา'วัคซีนโควิด19'ปี 65

ผอ.สถาบันวัคซีนฯแจงเหตุผลไทยจะเข้าร่วม “โคแวกซ์” จัดหาวัคซีนโควิด19 ในปี 65 คาดถึงคิวผู้ผลิตส่งมอบวัคซีนส่วนใหญ่ให้โคแวกซ์ หลังปี 64 จัดส่งให้ประเทศรายได้สูงจนเกินพอใช้แล้ว เผยปัจจุบันโคแวกซ์จัดส่งทั่วโลกได้เฉลี่ยประเทศละ 1 ล้านโดส     

      เมื่อเวลา 10.30น. วันที่ 23 ก.ค. 2565 ในการดำเนินการเว็บบินาร์ผ่านระบบ Zoom  “การเปิดโครงการความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและองค์การอนามัยโลกในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการร่วมมือและความพร้อมในการจัดการโรคระบาดในประเทศไทย” นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งชี้แจงถึงการที่ประเทศไทยตัดสินใจจะเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์เพื่อจัดหาวัคซีนโควิด19 ในปี 2565 ว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศโคแวกซ์AMC(Advance Market Commitment) ใน 92  ประเทศ ด้วยเหตุผลว่า เป็นประเทศไทยที่มีรายได้ปานกลางค่อนทางสูง เพราะฉะนั้น เมื่อมักจะมีคำเปรียบเทียบว่าประเทศอาเซียนเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ได้รับวัคซีนจำนวนเท่านั้นเท่านี้ จะต้องแยกประเทศอาเซียนออกเป็น  2 กลุ่ม คือ ประเทศที่เป็น AMC  เช่น กัมพูชา เมียนมา  ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศSFP(Self-financing Participants) เช่น ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ซึ่งหากไม่แยก 2 กลุ่มนี้ก่อนก็จะเข้าใจว่าเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แล้วได้วัคซีนฟรี  ซึ่งไม่ใช่ต้องจ่ายเงิน 

        และถ้าดูข้อมูลการส่งมอบวัคซีนโควิด 19 ผ่านโครงการโคแวกซ์ ณ วันที่ 22 ก.ค. 2564 มีการส่งมอบแล้ว 136 ล้านโดสไปยัง 136 ประเทศ เท่ากับแต่ละประเทศหจะได้รับแล้วราว 1 ล้านโดสโดยเฉลี่ย เพราะฉะนั้นเหตุผลเดิมยังชัดเจนที่ประเทศไทยไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ตั้งแต่ต้น เพราะต้องจ่ายเงินเองและรอรับวัคซีนโดยที่ไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไหร่ และเหตุการณ์เชิงประจักษ์ก็บอกว่า ณ เวลานี้ มีการส่งมอบวัคซีนไปเพียง 136 ล้านโดสใน136 ประเทศ นี่คือเหตุผลยังเหมือนเดิม ไม่ใช่ว่า เราตัดสินใจไม่จองซื้อวัคซีนกับโคแวกซ์แล้วผิดพลาด

     นพ.นคร กล่าวอีกว่า แต่เหตุลผลที่ว่าทำไมกำลังพิจารณาต่อไปข้างหน้าว่าน่าจะเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป การที่ผู้ผลิตต่างๆได้มีการส่งมอบวัคซีนให้ประเทศที่มีรายได้สูงที่จองไว้มากจนเกินพอ แล้วก็เริ่มเห็นการบริจาคออกมาเพราะเกินพอ เกินที่จะต้องใช้ นี่คือ สถานการณ์จริงว่ากำลังมีซัพพลายที่เกินพอจากประเทศที่จองไว้ล่วงหน้า แต่ซัพพลายจริงที่จะเกิดขึ้นใหม่ยังขาดอยู่ เพียงแต่วิเคราะห์สถานการณ์สำหรับปี 2565 ดูทิศทางแล้วว่าบริษัทผู้ผลิตวัคซีน หลังจากซัพพลายให้ประเทศรายได้สูงไปเกินพอแล้ว

      ต่อไปก็จะเป็นการส่งมอบให้ทั่วโลก ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2565 ไม่ใช่ปี 2564 จึงต้องอธิบายให้เข้าใจ มิเช่นนั้นจะคิดว่าทำไมกลับไปกลับมาไม่เข้าตั้งแต่ต้น  แล้วมาเข้าตอนนี้ช้าไปหรือไม่ เป็นคนละเรื่อง คนละสถานการณ์ เพราะฉะนั้นในปี 2565 เมื่อได้ตรวจสอบดูแนวโน้มแล้ว ผู้ผลิตหลายรายใหญ่ๆ จะเริ่มส่งมอบวัคซีนให้กับโครงการโคแวกซ์แทบจะเป็นหลักเลย หลังจากที่ได้ลองสอบถามผู้ผลิตรายใหญ่ 2-3 เจ้า จึงเป็นที่มาที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ซึ่งไม่ได้มุ่งหวังวัคซีนปีนี้ เพราะอย่างไรก็ส่งไม่ทัน ลำพังเรื่องที่ค้างเก่าของปีนี้ก็ไม่ทัน แต่เข้าร่วมเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงวัคซีนในปีหน้าของประเทศไทย

     

 

“การพิจารณาเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ ณ เวลานี้เป็นการบริหารความเสี่ยงสำหรับอนาคตในปีหน้า หากผู้ผลิตวัคซีนมุ่งเน้นการส่งมอบวัคซีนให้กับโครงการโคแวกซ์ ประเทศไทยจึงจะช่องทางในการเข้าถึงวัคซีนเพิ่มเติมในปี 2565 เป็นการบริหารตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง และต้องใช้การติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิดและเข้าใจสถานการณ์  เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ ซึ่งการที่สถาบันวัคซีนฯได้มีการวิเคราะห์และสื่อสารไปแล้วตั้งแต่ต้นปี 2564 ยังเป็นเหมือนเดิมที่บอกคือ ประเทศที่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ยังได้รับวัคซีนล่าช้า และถ้าประเทศไทยเข้าร่วม ณ เวลานั้น อย่างมากก็จะได้รับวัคซีน 1 ล้านโดสในทุกวันนี้ นี่คือเหตุการณ์จริง”นพ.นครกล่าว    

       นพ.นคร กล่าวอีกว่า  เรื่องไวรัสกลายพันธุ์ไม่ใช่ความผิดพลาดคนทำงาน การกลายพันธุ์เป็นธรรมชาติของมัน แล้วมาบอกว่าวัคซีนไม่ได้ผลก็ไม่แฟร์กับวัคซีน เพราะวัคซีนเกิดก่อนไวรัสกลายพันธุ์ วันนี้อยากได้วัคซีนที่สนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ก็ยังไม่มี วันนี้ที่ผู้ผลิตกำลังพัฒนาก็เป็นวัคซีนต่อสายพันธุ์เบตา เพราะสายพันธุ์นี้มาก่อน ยังไม่มีเจ้าไหนผลิตวัคซีนที่ตอบสนองต่อสายพันธุ์เดลตา แม้กระทั่งวัคซีนต่อสายพันธุ์เบตาก็ยังต้องรอปลายปีนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าปลายปีนี้จะมีสายพันธุ์อื่นที่กลายพันธุ์ไปมากกว่านี้หรือไม่ เพราะฉะนั้นตัววัคซีนก็ไล่ตามไม่ทันแน่

       อีกทั้ง แต่ละวัคซีนต้องใช้เวลาในการทำงานสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น ซิโนแวคใช้เวลา 6 สัปดาห์ในการเกิดภูมิคุ้มกันโรคได้ดี ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าใช้เวลาอย่างน้อย 8-10 สัปดาห์ ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัคซีน แต่ไวรัสเมื่อถ่ายทอดโรคใช้เวลา 7 วันก็ฟักตัวเป็นส่วนใหญ่แล้ว ต่อให้มีวัคซีนมากยังไง เมื่อมีการระบาดก็ไม่ทันอยู่ดี เว้นแต่เราฉีดวัคซีนไว้ดักหน้าจำนวนมาก ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นกับประเทศใดในโลกนี้ สถานการณ์ที่บอกว่ามีวัคซีนมากๆ แล้วฉีดไว้ดักจนไม่เกิดการระบาด เราไม่เคยเห็นในโลกนี้ ไม่มี เพราะไม่มีประเทศไหนที่มีวัคซีนมีเพียงพอที่จะป้องกัน ทุกประเทศเกิดระบาดใหญ่แล้ววัคซีนค่อยมาจัดการ ไปดูทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพยุโรป ทุกประเทศชั้นนำ

 

" เพราะวัคซีนมีจำกัด การที่เราจัดหาวัคซีนไม่ทันต่อสถานการณ์ก็เป็นสถานการณ์ที่เป็นจริง และทุกประเทศก็เป็น ไทยก็เป็น แต่คนทำงานก็ต้องมีความรับผิดชอบ แม้จะทำงานอย่างเต็มที่แต่ผลออกมาไม่ดี ก็ทำอย่างเต็มที่ อย่างการควบคุมโรคสอบสวนโรค แต่ผลก็ยังเป็นอย่างที่เห็น แต่ก็ทำเต็มที่ไม่ได้ย่อหย่อน มองออกไปทุกประเทศมีการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ทั้งสิ้น เพียงแต่ประเทศไหนที่มีไวรัสกลายพันธุ์แล้วเวลานี้มีวัคซีนครอบคลุมที่ดี ก็ได้รับผลกระทบไม่มาก เช่น อังกฤษ เกิดระบาดใหญ่อีกครั้ง ติดเชื้อรายวัน 4 หมื่นคน แต่ผู้เสียชีวิตน้อย แสดงว่าวัคซีนได้ผลป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้" นพ.นครกล่าว

     นพ.นคร กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญจึงต้องเน้นฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดอาการรุนแรงของโรค ลดเสียชีวิต ลดภาระของ รพ.ที่ดูแลผู้ป่วยหนัก ดังนั้น วัคซีนที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวคหรือแอสตร้าเซนเนก้า ทั้ง 2 ตัวยังช่วยป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ดีทั้งคู่ แม้เป็นไวรัสกลายพันธุ์ เพราะฉะนั้นที่ต้องทำคือเน้นฉีดกลุ่มเสี่ยงให้ครอบคลุมเร็วที่สุด ทุกหน่วยฉีดวัคซีนจำเป็นต้องเปลี่ยนเป้าหมายที่พยายามฉีดเยอะๆ แต่ไม่ตรงกลุ่ม เปลี่ยนมาเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม น้ำหนักเกิน หญิงตั้งครรภ์ให้มากที่สุดเท่าที่มากได้ ถึงจะมีจุดเปลี่ยน (Turning Point) เริ่มจากมีผู้ป่วยอาการหนักลดลงก่อน ผู้ติดเชื้อจำนวนมากอาจยังมีได้ แต่ต้องลดผู้เสียชีวิตและอาการหนักให้เร็วที่สุด

       “พวกเราทุกคนต้องช่วยกัน และไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยภาครัฐ ต้องการความร่วมมือของประชาชนอย่างเต็มที่ เมื่อเจอไวรัสกลายพันธุ์อาจจะต้องเพิ่มความเข้มข้นเข้มงวดในมาตรการป้องกันควบคุมโรคเฉพาะบุคคลให้ต่อเนื่องเราจึงผ่านวิกฤตได้”นพ.นครกล่าว