พระสงฆ์ควรแยกฉันภัตตาหาร ลดเสี่ยงโควิด-19

พระสงฆ์ควรแยกฉันภัตตาหาร ลดเสี่ยงโควิด-19

​กรมอนามัย  แนะ ช่วงสถานการณ์โควิด-19 พระสงฆ์ ควรแยกฉันภัตตาหารร่วมกัน รวมถึงให้ใช้ช้อน ชาม จาน แก้วน้ำส่วนตัว เพื่อลดเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

      นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 ข้อมูลจากสำนักอนามัยผู้สูงอายุพบว่า มีพระสงฆ์ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 39 รูป มรณภาพ จำนวน 3 รูป ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโควิด-19 ทั้งจากกิจนิมนต์การปฏิบัติศาสนกิจร่วมกัน รวมถึงการฉันอาหารร่วมกัน ดังนั้น ในช่วงนี้หากเป็นไปได้ ขอความร่วมมือพระสงฆ์งดฉันภัตตาหารร่วมโต๊ะ เปลี่ยนเป็นแยกฉันภัตตาหารแยกจากกันแบบเว้นระยะห่าง พร้อมใช้ช้อน ชาม จาน และ แก้วน้ำส่วนตัว ไม่ปะปนกัน พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนที่นิยมไปทำบุญหรือปฏิบัติธรรมที่วัดหรือสถานปฏิบัติธรรมทุกแห่ง เปลี่ยนเป็นทำบุญออนไลน์และปฏิบัติธรรมที่บ้านแทน เช่น ไหว้พระสวดมนต์ และนั่งสมาธิ ส่วนศาสนาอื่น ๆ ก็สามารถ สวด ละหมาด หรือทำพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ได้ที่บ้านเช่นกัน เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงของการกระจายเชื้อโควิด-19


​นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยยังคงขอความร่วมมือศาสนสถานต่าง ๆ ประเมินตนเอง ผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus ซึ่งขณะนี้มีศาสนสถานได้ประเมินตนเอง จำนวนทั้งสิ้น 13,418 แห่ง โดยประเมินผ่านเกณฑ์ 11,707 แห่ง ประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ 1,711 แห่ง และมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1) งดหรือหลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกัน ของประชาชน หากจำเป็นต้องจัดพิธี ต้องควบคุมจำนวนผู้มาประกอบพิธีให้น้อยที่สุด และเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร 2) มีระบบการคัดกรองผู้เข้ามาในศาสนสถานทุกคน โดยไม่อนุญาตให้ผู้มีอาการไข้ ไอ หรือเป็นหวัด หรือมีประวัติเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงในระยะเวลา 14 วันที่ผ่านมา เข้ามาภายในบริเวณศาสนสถาน 3) ประชาชน ที่มารับบริการ และผู้ให้บริการแผนกต่าง ๆ ในศาสนสถานทุกคน ขอให้ประเมินความเสี่ยงตนเองผ่านระบบ “ไทยเซฟไทย” และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ปฏิบัติศาสนพิธีปฏิบัติธรรม


​“4) ทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ พื้นผิวที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อย ๆ กรณีพบผู้ติดเชื้อในวัดหรือ ศาสนสถานต่าง ๆ ในชุมชน ให้งดกิจกรรมทางศาสนา และปิดสถานที่ตามที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคกำหนด และ ทำความสะอาดสถานที่ พื้นทึ่หรือ อุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันทุกวัน ด้วยน้ำยาทำความสะอาด อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง อาจเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาด กรณีมีผู้ใช้บริการจำนวนมากหรือกรณีพบผู้ติดเชื้อ 5) จัดให้มีจุดบริการ ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ 6) จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี กรณีที่ใช้เครื่องปรับอากาศ ให้ทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ 7) จัดให้มีถังขยะเพียงพอ และมีการจัดการขยะมูลฝอย อย่างถูกต้อง เป็นประจำทุกวัน 8) กำหนดเส้นทางเข้า–ออกศาสนสถานให้ชัดเจน และจัดให้มีสมุดลงทะเบียน ก่อนเข้าและออกจากศาสนสถาน หรือผ่านแอปพลิเคชันที่ทางราชการกำหนด” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว