'มูฮัมหมัด ยูนูส' : ถ้าคุณทำ‘Social business’ คุณเปลี่ยนโลกได้

'มูฮัมหมัด ยูนูส' : ถ้าคุณทำ‘Social business’ คุณเปลี่ยนโลกได้

"มูฮัมหมัด ยูนูส" เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวบังคลาเทศที่ลงมือเปลี่ยนโลก วางรากฐานให้คนเล็กคนน้อยมีโอกาสกู้เงินทำธุรกิจ และวิธีกู้เงินก็น่ารักซะด้วย จนกลายเป็นโมเดลของคนทั้งโลก

เมื่อหลายปีที่แล้ว มูฮัมหมัด ยูนูส นักเศรษฐศาสตร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพชาวบังกลาเทศ ปี 2006 ผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน เคยเดินทางมาเมืองไทยเพื่อปาฐกถาเรื่อง ธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งเป็นปาฐกถาที่ดีเท่าที่ผู้เขียนเคยฟังมา

เขาสร้างแรงบันดาลใจให้คนมากมายที่เขาพบเจอ โดยเฉพาะที่บังกลาเทศ คนที่อยากมีธุรกิจเล็กๆ จะได้รู้ว่าควรเดินต่อไปอย่างไร เขาพูดในสิ่งที่เขารู้ และลงมือทำจริงๆ 

162685987877

มูฮัมหมัด ยูนูส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพชาวบังกลาเทศ ปี 2006

เขาเดินทางไปทั่วโลกเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนยากจน เพื่อให้เห็นว่าคนยากจนสามารถมีธุรกิจของตัวเองได้ โดยเขาพยายามเชื่อมโยงคนหลายฝ่ายเข้าด้วยกัน ไม่ว่านายธนาคาร ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่

เพื่อให้คนเหล่านั้นเห็นว่าธุรกิจเพื่อสังคมจำเป็นต่อชุมชน สามารถทำให้ครอบครัวเล็กๆ ได้อยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพ ทำให้แม่บ้านในชุมชนได้ทำธุรกิจและเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้านได้ด้วย

ไม่ว่ายูนูสจะพูดอยู่ที่มุมใดของโลก (ตอนนี้คงหยุดเดินทางไม่ต่างจากคนทั้งโลก) โดยส่วนใหญ่เขาจะพูดเรื่อง การแก้ปัญหาความยากจน และทำได้อย่างที่ไม่มีใครสามารถทำ

ผมอยากใช้ปัญญาช่วยแก้ไขปัญหา ผมไม่ได้คิดและไม่มีแผน เพียงแต่รู้สึกว่าอยากแก้ไขอะไรและทำอะไรให้เกิดประโยชน์บ้าง ผมอยากทำกุศล แต่กุศลของผมต้องเป็นกุศลเพื่อธุรกิจ คือไม่ใช่ให้เงินไปรอบเดียว

ในความเห็นของเขา กุศลไม่ใช่แค่การให้โดยปราศจากความคิด แต่เป็นการให้เพื่อต่อจิกซอว์ให้ชีวิตเดินต่อไป และเดินอย่างมั่นคง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยูนูสคิดมาตลอด จนเป็นที่มาของธนาคารเพื่อคนจน

เขาเป็นคนหนึ่งที่เดินเข้าไปปะทะสังสรรค์กับปัญหาในหมู่บ้านที่บังกลาเทศ และออกเดินทางไปยังหมู่บ้านทั่วโลก

เขาริเริ่มให้คนมากมายที่ยากจนรู้จักคำว่าธุรกิจเพื่อสังคม จากหมู่บ้านกลายเป็นเครือข่าย

เหมือนเช่นที่เขาเคยพูดว่า

สังเกตไหมว่าคนปลูกกาแฟไม่รวย แต่คนขายกาแฟรวย คนปลูกโกโก้ไม่รวย แต่ช็อกโกแลตราคาแพง ผมจึงหาวิธีให้คนต้นทางได้เงินมากขึ้น จนออกมาในรูปแบบบริษัท

ก็เพื่อให้คนยากจนเรียนรู้ที่จะทำธุรกิจในชุมชน ผู้หญิงที่ไม่เคยคิดว่าจะมีธุรกิจของตัวเองก็สามารถทำได้ เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่รู้ว่าคนจนต้องการอะไร

ในหนังสือ สร้างโลกไร้จน (แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล) ที่ยูนูสเขียน เขาเขียนว่า “ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เขาสอนในห้องเรียน มันจะดูว่างเปล่า หากเขายังปล่อยให้คนยากจนหิวโหย”

เขาคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง และทำให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อให้คนจนมีความหวังมากขึ้น

และไม่มีใครคิดว่าธนาคารกรามีนจะปล่อยกู้ให้คนจนโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีสิ่งเดียวที่ยูนุสเชื่อมั่นก็คือ ความเชื่อใจและเชื่อในศักยภาพของมนุษย์

หากคนจนหนึ่งคนจะกู้เงิน เขาจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคนในกลุ่มที่เหลืออีก 4 คน คือต้องมีสมาชิกกลุ่มเพื่อนห้าคน เป็นการทำงานสนับสนุนซึ่งกันและกัน เป็นเครือข่ายสังคมเล็กๆ เพื่อช่วยเหลือกัน

หลายคนอาจรู้จักโยเกิร์ตยี่ห้อดาโนน แต่อาจไม่รู้ว่ามันมาจากหมู่บ้านเล็กๆ

โมเดลธุรกิจที่เขาวางไว้มีความใกล้ชิดกับคนจนมาก ไม่ว่าระบบการผลิต การกระจายสินค้าโดยชุมชน ผู้ผลิตต้องมีส่วนร่วม เหมือนที่เขาตั้้งใจว่าต้องสร้างประโยชน์สูงสุดเพื่อสังคม ไม่ใช่เพื่อกำไรสูงสุด

ยูนูส เคยบอกคนมากมายในโลกนี้ว่า

“ถ้าคุณแสวงหากำไร คุณจะร่ำรวย แต่ถ้าคุณทำ Social Business คุณจะเปลี่ยนโลก”

........................

(ยูนูส นักเศรษฐศาสตร์ ชาวบังกลาเทศ) 

-เขาเป็นผู้ริเริ่มการให้กู้เงิน โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือเรียกว่า“ไมโครเครดิต” โดยให้ผู้ประกอบการเล็กๆ หรือชาวบ้านยากจนที่ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารทั่วไปกู้ไปประกอบอาชีพ

-ยูนูส ก่อตั้ง “กรามีนแบงค์”หรือธนาคารกรามีน ซึ่งถือว่าเป็นโมเดลที่ดีมาก จนทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี พ.ศ. 2549

-เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Banker to The Poor รวมทั้งก่อตั้งมูลนิธิกรามีน

-ยูนูส จบปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ อเมริกา เมื่อปีพ.ศ. 2512 และได้รับทุนการศึกษาฟุลไบรท์ เคยเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรัฐเทนเนสซีตอนกลาง และย้ายกลับมาบ้านเกิดที่บังคลาเทศ