บทบาทการทูตวัคซีน 'ไทย' กับเหตุผลไม่ร่วมโคแวกซ์

บทบาทการทูตวัคซีน 'ไทย' กับเหตุผลไม่ร่วมโคแวกซ์

กระทรวงต่างประเทศ แจง แม้ไทยไม่ได้เข้าโครงการแบ่งปันวัคซีนโคแวกซ์ แต่บริจาคเงินให้ "WHO" จำนวน 200,000 ดอลลาร์ ทำให้ไทยได้แลกเปลี่ยน จำหน่าย หรือแจกจ่ายวัคซีนที่ไทยผลิตเองได้ในอนาคต

ท่ามกลางสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยที่เกิดความโกลาหลกันชนิดฝุ่นตลบ กระทรวงการต่างประเทศยังคงเดินหน้าเจรจากับประเทศต่างๆ เพื่อจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำวัคซีนที่ได้มาฉีดให้ได้ตามเป้า 70% ของประชากรในประเทศ

“ธานี แสงรัตน์” อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงบทบาทการทูตไทยในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนว่า กระทรวงการต่างประเทศใช้ช่องทางการทูตในการแสวงหาวัคซีนเพิ่มเติมจากต่างประเทศผ่านวิธีการต่าง ๆ ทั้งการจัดซื้อ การแลกเปลี่ยนวัคซีน และการรับความช่วยเหลือ โดยได้ติดต่อประสานงานเพื่อจัดซื้อวัคซีนจากประเทศต่างๆ ทั้งจากจีน ได้แก่ ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แคนซิโน ส่วนสหรัฐ ได้แก่ ไฟเซอร์ โมเดอร์นา จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน โนวาแวกซ์ นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนสปุตนิกของรัสเซีย และโควิชีลด์ กับโควาซินของอินเดีย

ในส่วนของจีน "ดอน ปรมัตถ์วินัย" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับจีน เพื่อผลักดันการจัดหาวัคซีนให้ไทยตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจีนก็ประกาศมอบวัคซีนให้ไทย 1 ล้านโดส และได้มีการจัดส่งครบถ้วนแล้ว 2 ครั้งๆ ละ 5 แสนโดส เมื่อวันที่ 14 พ.ค. และ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังอำนวยความสะดวกในการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมด้วย

"นับตั้งแต่เดือน เม.ย. กระทรวงการต่างประเทศได้ผลักดันการจัดทำแลกเปลี่ยนวัคซีน เพื่อเตรียมการให้แลกเปลี่ยนวัคซีนกันใช้ก่อน กับหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา และสหรัฐ เชื่อว่า จะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ตามสถานการณ์ตั้งแต่เดือน ก.ย. เป็นต้นไป" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

ส่วนทางญี่ปุ่นได้มอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1,053,090 โดสให้ไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานมาโดยตลอด สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ และญี่ปุ่นได้จัดส่งวัคซีน มาถึงไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.

162682565670

ขณะเดียวกัน ดอนได้หารือกับสหรัฐเรื่องวัคซีนมาโดยตลอด ผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ ซึ่งต่อมารัฐบาลสหรัฐได้ประกาศมอบความช่วยเหลือวัคซีนรวม 80 ล้านโดสให้บรรดามิตรประเทศ รวมถึงประเทศไทย และระหว่างนี้ เป็นการประสานเตรียมความพร้อมด้านการขนส่ง และรับมอบวัคซีน รวมทั้งแผนบริหารจัดสรรวัคซีนที่จะส่งมาถึงวันที่ 29 ก.ค.นี้ 

อีกด้านหนึ่ง นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งหนังสือขอสนับสนุนวัคซีนจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ซึ่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และปัจจุบัน บริษัทผู้แทนนำเข้าวัคซีนสปุตนิกวีในไทย อยู่ระหว่างยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ส่วนข้อสงสัยว่า ทำไมประเทศไทยไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่มุ่งเน้นการบริหารและกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียมนั้น ในความเป็นจริงแล้วโครงการโคแวกซ์มีหลากหลายความร่วมมือและหน้าที่ ทั้งการจัดสรรวัคซีนฟรีส่งให้กับประเทศรายได้ปานกลางและประเทศยากจน การแลกเปลี่ยนและหยิบยืมวัคซีนมาใช้ก่อน รวมทั้งความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาวัคซีนระหว่างประเทศ

แม้ว่ากรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนหน่วยงานไทยประสานความร่วมมือกับโครงการโคแวกซ์ แต่กรณีจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมโคแวกซ์นั้นกระทรวงได้รวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นครอบคลุมทุกมิติเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข คมนาคม มหาดไทย และกลาโหม เพื่อตัดสินใจร่วมกัน

สำนักข่าวบีบีซี รายงานอ้างคำกล่าวของ "อนุทิน ชาญวีรกุล" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารณสุขว่า ไทยได้เจรจากับโคแวกซ์มาตลอด แต่ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับวัคซีนฟรี เนื่องจากโคแวกซ์ให้สิทธิแก่ประเทศยากจนที่องค์การอนามัยโลก และพันธมิตรวัคซีนกาวี (Gavi) ให้การสนับสนุนจำนวน 92 ประเทศ แต่ไทยเป็นประเทศฐานะปานกลาง หากจะร่วมกับโคแวกซ์ ไทยต้องซื้อราคาแพงกว่า และไม่สามารถเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตรายใดได้ ทำให้เกิดความไม่แน่นอน ทั้งชนิด จำนวน และราคา รวมทั้งต้องจ่ายเงินล่วงหน้า

162682569420

"อนุชา บูรพชัยศรี" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุผลว่า รัฐบาลตัดสินใจอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานระหว่างผลประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยชี้ว่า ไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง หากประเทศในอาเซียนที่จัดอยู่ในระดับที่มีรายได้ปานกลางจนถึงระดับสูง อย่าง ไทย บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย จะไม่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือให้ได้รับวัคซีนฟรี หรือให้ซื้อได้ในราคาถูกจากโครงการโคแวกซ์ แต่มี 6 ประเทศในอาเซียนที่ได้รับวัคซีนฟรี ได้แก่กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ในเรื่องนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า แม้ว่าไทยจะไม่ได้เข้าโครงการแบ่งปันวัคซีนโคแวกซ์ แต่ไทยก็ร่วมบริจาคเงินให้ดับเบิลยูเอชโอป็นจำนวน 200,000 ดอลลาร์ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับกลไกโคแวกซ์ และทำให้ไทยสามารถแลกเปลี่ยน จำหน่าย หรือแจกจ่ายวัคซีนที่ไทยผลิตได้เองในอนาคตข้างหน้าให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ สอดคล้องกับนโยบายที่ไทยประกาศไว้ว่า วัคซีนคือ "สินค้าสาธารณะโลก" ที่ประเทศต่าง ๆ ควรเข้าถึงได้ทั่วกันเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นความท้าทายของประชาคมระหว่างประเทศ