‘ธุรกิจโรงแรม’ งัดกลยุทธ์ฝ่าโควิด! ต่อยอดเทรนด์สุขภาพ-รับมือสงครามราคา

‘ธุรกิจโรงแรม’ งัดกลยุทธ์ฝ่าโควิด!  ต่อยอดเทรนด์สุขภาพ-รับมือสงครามราคา

ธุรกิจ “โรงแรม” ได้รับบทเรียนหลากหลายจากวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่อง “การปรับตัว” ให้เข้ากับสถานการณ์ที่อัดแน่นด้วยความไม่แน่นอน วิถีปกติใหม่หรือ “นิวนอร์มอล” ของแขกผู้เข้าพักที่เปลี่ยนไป เทรนด์การหันมาใส่ใจ “ดูแลสุขภาพ” มาแรงมากขึ้น

รวมถึงสถานการณ์การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเมื่อโควิด-19 คลี่คลาย คนเริ่มมั่นใจออกเดินทางท่องเที่ยวกันมากขึ้น ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องกำลังซื้อที่ต้องยอมรับว่าวิกฤติครั้งนี้กัดกินเงินในกระเป๋านักท่องเที่ยวพอสมควร!

คริสต์ ปัญญาสุขศรี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ควาลิกรีน จำกัด เจ้าของโรงแรมครอสทู ไวบ์ กรุงเทพฯ สุขุมวิท ขนาด 266 ห้องพัก เปิดให้บริการปีนี้ขึ้นปีที่ 4 ฉายภาพการปรับตัวของบริษัทฯว่า อาจจะไม่ถึงขั้นสอบผ่าน แต่ก็ผ่านวิกฤติโรคระบาดครั้งรุนแรงที่สุดของโลกในรอบ 100 ปีนี้มาได้!

“ไม่มีใครคาดคิดว่าวิกฤติโควิด-19 จะหนักหนาขนาดนี้ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมครอสทู ไวบ์ กรุงเทพฯ สุขุมวิท ซึ่งตลอดปี 2562 ก่อนเจอวิกฤติเคยได้สูงถึง 91% ก่อนจะร่วงไปยังจุดต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 10% ในช่วงรัฐประกาศล็อกดาวน์ครั้งแรกเดือน เม.ย.2563”

บริษัทฯจึงต้องปรับตัวรอบด้าน ทั้งมิติการลดค่าใช้จ่าย ให้พนักงานรับผิดชอบหน้าที่หลายอย่างหลากตำแหน่งมากขึ้น อย่างไรก็ตาม “คน” ถือเป็นต้นทุนใหญ่ที่สุดของธุรกิจโรงแรม เป็นหัวใจของการให้บริการ (Hospitality) ดังนั้นต้องสื่อสารกับพนักงานเป็นอย่างดี ให้เข้าใจสถานการณ์ของบริษัทฯว่าถ้าโรงแรมฯอยู่ได้ พนักงานก็อยู่ได้

ส่วนมิติการหารายได้เพิ่มในช่วงที่แขกชาวต่างชาติซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของโรงแรมในกรุงเทพฯไม่สามารถเดินทางมาได้ ด้วยการรุกเพิ่มลูกค้าคนไทยมากขึ้น จากก่อนเจอโควิด-19 มีสัดส่วนไม่ถึง 5% แต่ปัจจุบันสามารถขยับสัดส่วนลูกค้าคนไทยเพิ่มเป็น 60-70% ด้วยการออกโปรโมชั่นขายห้องพักทั้งแบบรายวัน ดึงลูกค้ามาพักผ่อนในโรงแรมผ่านแพ็คเกจ “สเตย์เคชั่น” หลังรัฐคลายล็อกดาวน์รอบแรกช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.2563 จนสามารถเพิ่มอัตราเข้าพักเป็น 60-70%

นอกจากนี้ยังปรับตัวรุกขายห้องพัก “ระยะยาว” แบบรายเดือนและรายปีมากขึ้นเพื่อเสริมสภาพคล่อง จากเดิมโรงแรมฯเริ่มขายห้องพักแบบรายเดือนตั้งแต่เปิดให้บริการอยู่แล้ว ตอนนั้นครองสัดส่วนไม่ถึง 10% แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นรายได้หลักของโรงแรมฯในช่วงโควิด-19 มีสัดส่วนที่ 75-80% ของอัตราเข้าพัก 30% ในปัจจุบัน หลังปรับโปรโมชั่นขายรายเดือนเริ่มต้นที่ 9,900 บาทต่อเดือน ถือเป็นราคาที่คุ้มค่ามากเพราะเหมารวมค่าทำความสะอาดห้องและค่าน้ำค่าไฟ ได้ทั้งลูกค้าคนไทยที่ต้องเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ รวมถึงลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่ทำงานในย่านนิคมอุตสาหกรรมฝั่งตะวันออก และอาจารย์โรงเรียนนานาชาติ

“เราต้องคีพรายได้จากการขายห้องพักแบบระยะยาวเอาไว้ โดยได้เสนอขายจนถึงเดือน ก.ย.นี้ พร้อมดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ท่องเที่ยวประกอบว่าสามารถเปิดกรุงเทพฯรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เมื่อไร ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เป็นไปได้ก็อยากให้เปิดกรุงเทพฯเร็วที่สุด”

และหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย นอกเหนือจากการให้บริการภายใต้มาตรฐานด้านสุขอนามัยซึ่งเป็นนิวนอร์มอลที่ทุกโรงแรมต้องรักษามาตรฐานไปอีกนาน การเตรียมคนให้พร้อมก็เป็นสิ่งสำคัญ ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่อีกสิ่งที่ต้องจับตาคือเรื่อง “สงครามราคา” ที่จะปะทุรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ใครๆ ก็ต่างอยากให้โรงแรมของตัวเองมีอัตราเข้าพักเต็ม ด้วยการตั้งราคาขายห้องพักเพื่อชู “ความคุ้มค่าของเงิน” (Value For Money) ดึงนักท่องเที่ยวที่มีฐานะปานกลาง แต่ยังอยากเที่ยว ซึ่งจะพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าเงินเป็นหลักว่าคุ้มกับที่จ่ายไปหรือไม่

ด้านณวรรษ แต่งตั้ง กรรมการ บริษัท บิ๊กเว็สท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เล่าว่า บริษัทฯมีโรงแรมและรีสอร์ท 2 แห่งบนเกาะสมุย ได้แก่ “ซีน สเคป สมุย” โรงแรมขนาด 50 ห้องพัก ตั้งอยู่ติดหาดเฉวง เปิดให้บริการมามากกว่า 20 ปี และอีกแห่งคือ “ธัญสมุย” เป็นรีสอร์ทเพื่อสุขภาพ มีห้องพักประมาณ 80 ห้อง รองรับลูกค้าได้สูงสุด 250 คน เปิดให้บริการมาแล้ว 8 ปี เน้นดูแลสุขภาพแบบองค์รวมด้วยวิถีธรรมชาติบำบัด และหลักปฏิบัติทางศาสนาควบคู่ ตอบเทรนด์ความต้องการของคนที่หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้นซึ่งมาแรงในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยมีคีย์แมนคือ “ธัญญรัตน์ เพชรพรหม” (มารดาของณวรรษ) ที่มีแพสชั่นหรือแรงผลักดันอยากช่วยเหลือคนให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการดูแล และถือเป็น Asset ที่สำคัญที่สุดของธัญสมุย!

ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 ธัญสมุยเคยขายคอร์สดูแลสุขภาพแบบองค์รวม แพ็คเกจ 6 วัน 5 คืน ราคา 30,000 บาทรวมค่าห้องพักแล้ว ได้รับกระแสตอบรับดีจากลูกค้าชาวต่างชาติ มีทั้งชาวจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ยุโรป รวมถึงคนไทย แต่พอเจอวิกฤติโควิด-19 ทำให้ธัญสมุยต้องปรับตัวหันมา “รุกตลาดออนไลน์” ขายสูตรดีท็อกซ์ร่างกายแก่เอเย่นต์มากขึ้นเพื่อนำไปจำหน่ายต่อแก่ชาวต่างชาติที่สนใจ โดยมีธัญญรัตน์เป็นผู้วินิจฉัยสุขภาพผ่านช่องทางออนไลน์

“วิกฤติโควิด-19 ทำให้คุณแม่และบริษัทฯเรียนรู้ที่จะยืดหยุ่นมากขึ้น จากเคยขายเป็นคอร์สและต้องมาพักที่ธัญสมุยเท่านั้น ก็ต้องปรับตัวหันมาขายสูตรดีท็อกซ์ผ่านช่องทางออนไลน์ที่ 8,000-10,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นสูตรที่เหมาะสำหรับลูกค้าแต่ละคน รวมถึงขายวิตามินบำรุงร่ายกายอื่นๆ ด้วย ถือเป็นการปรับตัวที่เริ่มทำมาตั้งแต่เผชิญการระบาดระลอกแรกเมื่อเดือน เม.ย.2563 ทำให้แม้วันนี้กำลังเผชิญระลอก 4 ก็ยังรับมือได้ เพราะเราผ่านเหตุการณ์เลวร้ายที่สุด (Worst Case) ไปแล้ว”

ทั้งนี้เมื่อวิกฤติโควิด-19 จบลง อาจจะเลิกขายสูตรดีท็อกซ์ร่างกายผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะมองเห็น “โอกาสทางธุรกิจ” ให้นักลงทุนต่างประเทศที่สนใจ “ซื้อแฟรนไชส์” ของธัญสมุยไปใช้ในรีสอร์ทเพื่อสุขภาพที่ต่างประเทศ ซึ่งอยากให้เป็นรีสอร์ทใกล้ชิดธรรมชาติ มีพื้นที่สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกและจัดกิจกรรมดูแลสุขภาพแบบองค์รวมตามแบบฉบับของธัญสมุย ทางเราจะเป็นผู้ส่งสูตรการดูแลสุขภาพไปให้ และมีคุณแม่เป็นผู้วินิจฉัยให้คำแนะนำแก่ลูกค้าผ่านออนไลน์ โดยปัจจุบันมีนักลงทุนต่างประเทศที่สนใจซื้อแฟรนไชส์จากทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ

“โมเดลขายแฟรนไชส์ของธัญสมุยไปยังต่างประเทศเป็นสิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะเป็นการปรับตัวมุ่งสู่ออนไลน์มากขึ้น รับโลกใบใหม่ยุคนิวนอร์มอล และเทรนด์การดูแลสุขภาพที่มีมานานแล้วก่อนโควิด-19 จะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ ทำให้ภาพรวมแนวทางการพัฒนาโรงแรมและรีสอร์ทในยุคระหว่างและหลังโควิด-19 จะต้องเป็นสถานที่ที่มากกว่าการพักผ่อน มากกว่าการมาถ่ายรูปเพื่อโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ด้วยการเสนอขายคอร์สเสริมสุขภาพและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายเพิ่มเติม” ณวรรษกล่าวปิดท้าย