‘ไทยพร้อม’ ประกาศขับเคลื่อนผักและผลไม้เป็นวาระชาติ พลิกโฉม ‘ระบบอาหารยั่งยืน’

‘ไทยพร้อม’ ประกาศขับเคลื่อนผักและผลไม้เป็นวาระชาติ พลิกโฉม ‘ระบบอาหารยั่งยืน’

“ไทยพร้อม” สู่การขับเคลื่อนผักและผลไม้เป็นวาระแห่งชาติ เป็นหัวข้อในเวทีหารือสาธารณะ ครั้งที่ 3 ออนไลน์ผ่านทางระบบ ZOOM หวังเป็นการเตรียมความพร้อมของไทยสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก

เพื่อต่อยอดเป้าหมายคนไทยกินผักผลไม้เพียงพอ-ปลอดภัยสอดรับการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมจัดเวทีหารือสาธารณะ (National Dialogue) ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ การออกแบบไทยพร้อมสู่การขับเคลื่อนผักและผลไม้เป็นวาระแห่งชาติ (Reshaping Thailand’s readiness to Encourage Vegetable and Fruit Intake as National Agenda) ) ผ่านทางออนไลน์ระบบ ZOOM หวังเป็นการจุดพลุตั้งเป้าประเทศไทยเพื่อเตรียมความพร้อมของไทยสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit 2021: UNFSS2021)

โดย ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. และองค์กรภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ศูนย์พืชผักโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภาคีเครือข่ายภาควิชาการ และภาคประชาสังคม สนับสนุนให้รัฐบาลกำหนดให้การกินผักผลไม้ที่ปลอดภัยและเพียงพอของคนไทย เป็นเป้าหมายและตัวชี้วัดระดับชาติ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เพื่อกระตุ้นให้คนไทยกินผักผลไม้เพิ่มมากขึ้นและได้ปริมาณที่เพียงพอตามเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยคนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไป ควรกินผักผลไม้ให้ได้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน พร้อมทั้งกำหนดให้หน่วยงานเฉพาะที่ดูแลด้านอาหารปลอดภัยและโภชนาการ และเด็กวัยเรียน เร่งดำเนินงานส่งเสริมการเข้าถึงและกินผักผลไม้ที่ปลอดภัยและเพียงพอ

162675214718

สสส. และภาคีเครือข่าย จึงได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายส่งเสริมผักผลไม้ปลอดภัย โดยใช้กลไกมาตรการทางกฎหมายและนวัตกรรมเชิงนโยบาย (policy innovation) อาทิ การใช้นโยบายทางภาษี เพื่อจูงใจการขายอาหารที่ดีต่อสุขภาพ กำหนดจำนวนสินค้าอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (รวมผักและผลไม้) ขั้นต่ำที่ร้านอาหารต้องขาย การให้ร้านอาหารติดข้อมูลแสดงค่าพลังงานอาหารบนเมนู เป็นต้น โดยกรณีตัวอย่างนโยบายในประเทศอังกฤษ พบว่า หากภาครัฐใช้นโยบายอุดหนุนทางราคาผักผลไม้ร้อยละ 10 จะช่วยให้ประชาชนโดยรวมกินผักผลไม้เพิ่มขึ้น 0.25 ส่วน ขณะที่หากใช้นโยบายอุดหนุนทางราคาผักผลไม้ร้อยละ 30 กับกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย จะช่วยให้ประชาชนกลุ่มนี้กินผักผลไม้เพิ่มขึ้น 0.53 ส่วน และนโยบายทั้งสองนี้ถูกประเมินว่า มีความคุ้มค่าในการลงทุนทั้งจากมุมด้านนโยบายและสังคมดร.นพ. ไพโรจน์ กล่าว

ด้าน ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ประสานงานของประเทศไทยสำหรับ UNFSS (Thai National Convener) กล่าวว่า จะนำข้อเสนอและข้อถกแถลงจากเวทีหารือสาธารณะในครั้งนี้ โดยเฉพาะปัจจัยด้านนโยบายและมาตรการสนับสนุนจากรัฐที่ควรประกาศให้การผลิต และบริโภคผักผลไม้เป็นวาระสำคัญแห่งชาติ เชื่อมโยงสู่รูปธรรมปฏิบัติการระบบอาหารที่มีการดำเนินการในสังคมไทย พัฒนาเชิงโครงสร้างและกลไกสนับสนุนภาคเกษตร และระบบอาหารของไทย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ภายในปี 2573 โดยจะเชื่อมร้อยกับข้อเสนอจากผู้ที่มีบทบาท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบการผลิตอาหารและการเกษตรของประเทศไทย นำไปเสนอในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหาร

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แสดงความประสงค์ต่อสหประชาชาติที่จะเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและอาหารจากทั่วโลก (pre-summit) 26 - 28 กรกฎาคม 2564 กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี และการประชุมระดับผู้นำประเทศและนายกรัฐมนตรี ในช่วงเดือนกันยายน 2564 นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำประเทศ และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและอาหารจากทั่วโลก เร่งหารือและจัดทำนโยบายแผนงานการปฏิรูประบบอาหารและการเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วย 

162675230865

สำหรับในงานเวทีหารือสาธารณะ การออกแบบไทยพร้อมสู่การขับเคลื่อนผักและผลไม้เป็นวาระแห่งชาติ ครั้งนี้ยังมี วอร์เรน ที เค ลี เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านโภชนาการและระบบอาหาร สำนักงาน FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก พญ.เรณู การ์ก เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ (โรคไม่ติดต่อ) สำนักงานผู้แทนองค์อนามัยโลกประจำประเทศไทย ผู้แทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ปลูกผัก เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) สถาบันวิจัยและการศึกษา ตลาดค้าปลีก-ส่ง หน่วยงานด้านโลจิสติกส์ และธุรกิจอาหาร กว่า 300 คน เข้าร่วม

ร่วมติดตามรายละเอียดและสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืนของประเทศไทย ได้ที่เว็บไซต์ https://thfoodsystems.com/ และสามารถดาวน์โหลดเอกสาร ได้ที่เว็บไซต์ สสส. http://ssss.network/ka8t3  

 

162675247780

162675249897

162675251125