สภาพคล่องโรงแรมอ่วมยื้อไม่เกิน 3 เดือน

สภาพคล่องโรงแรมอ่วมยื้อไม่เกิน 3 เดือน

"สมาคมโรงแรมไทย" เผยดัชนีความเชื่อมั่นที่พักแรม มิ.ย. กระอักพิษโควิดยืดเยื้อ ปิดกิจการชั่วคราว 20% อัตราเข้าพักต่ำ เกือบ 70% สภาพคล่องเหลือดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ในกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการที่พักแรม 200 แห่ง จัดทำโดยทีเอชเอร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 14-27 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีโรงแรมปิดกิจการชั่วคราว 19.5% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาซึ่งปิดกิจการชั่วคราว 20.3% ส่วนโรงแรมที่ยังเปิดกิจการปกติมี 41% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 38.2% ของเดือนก่อน ขณะที่โรงแรมที่เปิดบางส่วนมีสัดส่วน 39.5% ลดลงเล็กน้อยจาก 41.5% ของเดือนก่อน

เมื่อเจาะเฉพาะโรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวในเดือน มิ.ย. พบว่าส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในภาคใต้ที่ปิดกิจการมาแล้วมากกว่า 1 ปี โดย 75% คาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งหลังไตรมาส 4/2564 เป็นต้นไป

“ธุรกิจโรงแรมยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 10% แม้จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ 6% แต่ยังอยู่ในระดับต่ำมาก"

โดยเฉพาะภูมิภาคที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูงอย่างภาคใต้และภาคเหนือซึ่งอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนก็จริง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำมากที่ 6%  ส่วนภาคอีสานมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงสุดมาอยู่ที่ 13% ทั้งนี้คาดการณ์อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศเดือน ก.ค.นี้จะทรงตัวอยู่ที่ 12% จากอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้นของโรงแรมในภาคใต้เป็นสำคัญ และจากการสำรวจโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ทั้งหมด พบว่ากว่า 49% รายได้ยังกลับมาไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19

ด้านสภาพคล่องของธุรกิจโรงแรม พบว่า 58% มีสภาพคล่องลดลงมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และ 68% มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน โดย 26% มีสภาพคล่องเพียงพอไม่ถึง 1 เดือน กระจายอยู่ในทุกภาคและเป็นกลุ่มที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ

สำหรับการจ้างงาน ผลสำรวจระบุว่าผู้ประกอบการโรงแรมกลับมาจ้างงานเฉลี่ย 53% ของช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 หากไม่รวมกลุ่มที่ปิดกิจการชั่วคราวจะเฉลี่ยอยู่ที่ 59% และเมื่อดูสัดส่วนแรงงานที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว พบว่าภาคใต้มีแรงงานที่ฉีดวัคซีนแล้วสูงสุดที่ 62% จากโรงแรมในภูเก็ตเฉลี่ยอยู่ที่ 83% เป็นสำคัญ สอดรับกับการเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา