รู้จัก “ณรงค์ โชควัฒนา” ผู้บริหารเครือสหพัฒน์ และทายาทลำดับที่ 6 “ดร.เทียม โชควัฒนา”

รู้จัก “ณรงค์ โชควัฒนา” ผู้บริหารเครือสหพัฒน์ และทายาทลำดับที่ 6 “ดร.เทียม โชควัฒนา”

วันที่ 17 ก.ค. 2564  “ณรงค์ โชควัฒนา” ประธานกลุ่มเศรษฐกิจ มูลนิธิ คลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม เสียชีวิตในวัย 77 ปี ด้วยโรคโควิด-19  

สำหรับประวัติของ “ณรงค์” เกิดเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2486

การศึกษา มัธยมปลาย โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก

อุดมศึกษา ปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต (เคมี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2511

นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ปรอ.รุ่น 4 พ.ศ. 2534

ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (บริหารธุรกิจ) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์พ.ศ. 2541

ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมการจัดการ) มหาวิทยาลัยรามคําแหง พ.ศ. 2550

ทั้งนี้ “ณรงค์” เป็นบุตรคนที่ 6 จากทั้งสิ้น 8 คน ของ “ดร.เทียม โชควัฒนา” ผู้ก่อตั้งอาณาจักร “เครือสหพัฒน์” องค์กรเก่าแก่กว่า 70 ปี แม้ชื่อของ “ณรงค์” อาจไม่ปรากฏบนหน้าสื่อมากนัก ในฐานะ “นักบริหารธุรกิจ” แต่หากดูรายชื่อคณะกรรมการ ผู้ถือหุ้นบริษัทสำคัญในเครือ จะเห็นชื่อของ 1 ใน 8 ทายาทเครือสหพัฒน์เสมอ เช่น บริษัท แพนเอเซียฟุตแวร์ จำกัด (มหาชน)ผู้ผลิตรองเท้าแพน(Pan) ที่ปัจจุบันทรานส์ฟอร์มสู่ธุรกิจการเกษตร “ปลูกผักออแกนิก” ป้อนตลาด

เป็นที่ทราบกันดีว่า ปรัชญาการเคลื่อนธุรกิจของเครือสหพัฒน์ “ดร.เทียม” ผู้เป็นบิดาได้วางรากฐานสำคัญคือการใช้คุณธรรมนำธุรกิจ เน้นความซื่อสัตย์ ยุติธรรม จนสร้างอาณาจักรเติบใหญ่มีมูลค่า “แสนล้านบาท” โดยคำสอนมากมายที่ทิ้งไว้ให้แก่ทายาทไได้นำไปเป็นแนวทางการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ตลอดจนการบริหารธุรกิจ เช่น ผู้กล้าหาญ คือผู้ที่สามารถบังคับตัวเองได้ ถ้าลูกจักปลูกต้นไม้ ต้องบำรุงรากแต่ถ้าจะปลูกจิตใจ ต้องบำรุงด้วยศีล ด้วยธรรม, ลืมอะไรก็ลืมได้ แต่อย่าลืมตัว เสียอะไรก็เสียได้ แต่อย่าเสียคน ผิดอะไรก็ผิดได้ แต่อย่าผิดศีลธรรม, การไม่ระวังการใช้จ่าย เล็ก น้อย อาจทำให้ล่มจมได้ ดังเช่นเรือมีรูรั่วเล็กๆ อาจทำให้เรือใหญ่จมได้, ลูกสังเกตดูจักรู้ว่า ผู้เป็นคนดี มักอ่อนน้อมถ่อมตน, ผู้ที่รู้จักประมาณตน เป็นคนฉลาด ลูกควรใช้จ่ายตามฐานะ ลูกจักไม่ขัดสนตลอดไป และ ช้า เร็ว หนัก เบา ฯ โดยเฉพาะประโยคหลัง จะได้ยินผู้นำเครือสหพัฒน์ย้ำเสมอถึงการทำธุรกิจ

"บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา" ทายาทลำดับที่ 3 ของ "ดร.เทียม" รับบทเป็นหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนเครือสหพัฒน์ เพราะสร้างผลงานธุรกิจได้เติบโตอย่างโดดเด่น แต่ยังมีบรรดาพี่น้องที่ร่วมหัวจมท้ายบริหารอาณาจักรสินค้าอุปโภคบริโภคอีกหลายคน เช่น บุญชัย-บุญเกียรติ โชควัฒนา จนกลายเป็นภาพ "สามทหารเสือ" แต่กระนั้น ทุกท่านก็ยังเคียงข้างกันทำงานรวมถึง “ณรงค์” ด้วย เพียงแต่บทบาทธุรกิจไม่ได้โดดเด่นเท่านั้นเอง กลับกับมิติการทำงานด้านสังคมถือว่าได้ทำงานจำนวนมาก    

สำหรับงานด้านสังคมในปัจจุบัน 

  1. ประธานกลุ่มเศรษฐกิจ มูลนิธิ คลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน
  2. กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยศิลปากร 
  3. กรรมการที่ปรึกษาเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สิน มหาวิทยาลัยศิลปากร 
  4. ประธานกลุ่มสังคมจิตวิทยา มูลนิธิ คลังสมอง วปอ. เพื่อ สังคม พ.ศ. 2555 
  5. ประธานกลุ่มประสานงาน (เฉพาะกิจ) มูลนิธิ คลังสมองวปอ. เพื่อสังคมพ.ศ. 2555 เป็นต้น

ส่วนงานด้านสังคมในอดีต มีมากมาย เช่น 

  1. อ.ก.พ. วิสามัญเกียวกับวินัยและการออกจากราชการ สํานักงาน ก.พ. (30 มิถุนายน 2554-13 ตุลาคม 2557) 
  2. คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยศิลปากร (2552-2553)

    3.ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายสุชาติ ธาดาธํารงเวช) พ.ศ.2551 

    4.คณะอนุกรรมการขับเคลือนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการ  ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติภาคเอกชน สํานักงาน ป.ป.ช. พ.ศ.2551 เป็นต้น