STECH ปลดล็อกธุรกิจ ปูทางรับเมกะโปรเจค

STECH ปลดล็อกธุรกิจ ปูทางรับเมกะโปรเจค

ได้เวลาเหยียบคันเร่งธุรกิจ ! 'วัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ' นายใหญ่ 'สยามเทคนิคคอนกรีต' โชว์พันธกิจขยายโรงงานใหม่ ผลัดดันกำลังผลิตแตะ 4.3 แสนคิวคอนกรีตต่อปี รอรับดีมานด์โครงการเมกะโปรเจค 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอ ระดมทุน 23 ก.ค. นี้ ราคา 2.78 บาทต่อหุ้น

'โครงการขนาดใหญ่' ของภาครัฐ คือ ตัวขับเคลื่อนหรือผลักดันให้องค์กรมีการเติบโต (Growth Driver) สอดรับ 'การลงทุน' เป็นเครื่องยนต์ตัวสุดท้ายที่รัฐเหลือใช้ขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย ปัจจัยบวกดังกล่าว กำลังส่งผลดีหุ้นน้องใหม่ไอพีโอ บมจ. สยามเทคนิคคอนกรีต หรือ STECH หนึ่งในผู้นำการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงรายใหญ่ของอุตสาหกรรมเป็น 'เบอร์ 1' ในแง่ของโรงงานที่มีจำนวนมากที่สุด จำนวน 9 แห่ง กระจายอยู่หลายภูมิภาคของไทย เพื่อรองรับงานเมกะโปรเจคของรัฐ 

โดยเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จำนวน 203.50 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1.00 บาท ราคาหุ้นละ 2.78 บาท ได้เงินจากการระดมทุนราว 550 ล้านบาท ขณะที่มองการกำหนดราคาจองซื้อ IPO เป็นราคาที่เหมาะสม เพราะมีระดับค่าพีอีเพียง 14.14 เท่า และเข้าซื้อขายวันแรก (เทรด) 23 ก.ค. 2564 นี้ 

162642480129

วัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ

ณ ปัจจุบัน STECH แบ่งธุรกิจออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 90% เช่น เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง , เสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรง และผลิตภัณฑ์ประกอบเสาไฟฟ้า , ผลิตภัณฑ์คานสะพานและพื้นสะพาน , เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรง โดยใช้แรงเหวี่ยง ได้แก่ เสาเข็มสปัน (Spun Pile) เป็นตัน 

และ 2.ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 10-15% ซึ่งเป็นงานรับเหมาก่อสร้างเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของบริษัท และงานก่อสร้างที่บริษัทมีผลงานและประสบการณ์เฉพาะทาง ได้แก่ งานติดตั้งระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 115 kV และงานออกแบบจัดหาพร้อมติดตั้งเคเบิลใยแก้วนำแสง โดยงานรับเหมาก่อสร้างจะเติบโตตามแผนการลงทุนของการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย 

'วัฒน์ชัย มงคลศรีสวัสดิ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สยามเทคนิคคอนกรีต หรือ STECH แจกแจงสตอรี่การเติบโตให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า สำหรับงานโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ทิศทางการลงทุนของภาครัฐยังขยายตัวต่อเนื่อง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะ 7-10 ปีข้างหน้า ภาครัฐยังมีโครงการขนาดใหญ่ลงทุนอีกจำนวน 'มหาศาล' ซึ่งบริษัทจำเป็นต้องขยายธุรกิจเพื่อรองรับดีมานด์ดังกล่าว 

และการลงทุนของภาคเอกชน ช่วยผลักดันผลประกอบการของบริษัทและความน่าสนใจในการลงทุนในระยะยาว แม้ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) แต่งานประมูลโครงการยังลงทุนต่อ เช่น ถนน , ทางด่วน , กำแพงป้องกันน้ำท่วม ,เขื่อน ขณะที่งานเอกชนชะลอตัวเล็กน้อยแต่เชื่อว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายเอกชนก็จะกลับมาลงทุนเฉกเช่นเดิม 

โดย STECH เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงภายใต้เครื่องหมายการค้า 'STEC' บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์เสาเข็มคอนกรีตอัดแรงเป็นรายได้หลัก รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสาไฟฟ้าคอนกรีตอัดแรง และผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงต่างๆ ให้แก่ภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการให้บริการขนส่งผลิตภัณฑ์และบริการตอกเสาเข็ม และให้บริการรับเหมาก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก

162642486020

ณ ปัจจุบัน บริษัทมีโรงงานผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง จำนวน 9 แห่ง มีกำลังการผลิตคอนกรีตอัดแรงรวมอยู่ที่ประมาณ 318,000 แสนคิวคอนกรีตต่อปี ใช้อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ราว 70% ซึ่งโรงงานกระจายอยู่ในหลายภูมิภาค ได้แก่ สระบุรี ชลบุรี สุโขทัย ลำพูน บุรีรัมย์ ขอนแก่น อุบลราชธานี และนครราชสีมา และมีโรงงานเสาเข็มสปัน ตั้งอยู่ที่สระบุรี

การระดมทุนในตลาดหุ้นครานี้... เขาบอกว่า เป้าหมายเพื่อต้องการ 'ปลดล็อก' การเติบโตของธุรกิจ เพื่อรองรับการขยายตัวของโครงการขนาดใหญ่ในอนาคต สะท้อนผ่านเงินระดมทุนนำไปใช้ลงทุนขยายธุรกิจเสาคอนกรีตอัดแรง ประมาณ 298 ล้านบาท ได้แก่ โครงการก่อสร้างโรงงานใหม่ที่จังหวัดชลบุรี สาขา 2 (โรงงานที่ 10) ประมาณ 58 ล้านบาท ภายในไตรมาส 4 ปี 2564 โดยคาดเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เป็น 430,000 คิวคอนกรีตต่อปี ซึ่งโรงงานที่ 10 ลงทุนเพื่อรองรับอุปสงค์การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โครงการขยายกำลังการผลิตโรงงานดอนพุด 45 ล้านบาท ภายในปี 2565

สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานใหม่ที่จังหวัดมุกดาหาร (โรงงานที่ 11) ประมาณ 80 ล้านบาท ภายในปี 2567 โครงการซื้อรถขนส่งผลิตภัณฑ์คอนกรีต 50 ล้านบาท ภายในปีนี้ และโครงการซื้อเครื่องกดกันสั่นสะเทือน 65 ล้านบาท ภายในปีนี้ รวมทั้งใช้สำหรับโครงการพัฒนาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต 10 ล้านบาท และใช้ชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินจากสถาบันการเงิน 220 ล้านบาท และที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัท 22 ล้านบาท ภายในปีนี้ 

เขา บอกต่อว่า สำหรับเป้าหมายในปี 2564 บริษัทตั้งเป้ารายได้มากกว่าปีก่อน สะท้อนผ่านปัจจุบันบริษัทมี 'มูลค่างานในมือ' (Backlog) มากกว่ารายได้ปี 2563 ที่มีรายได้ 1,550 ล้านบาท และเป็นแบ็กล็อกที่สูงกว่าที่บริษัทตั้งเป้าไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเป็นแบ็กล็อกดังกล่าวหลักๆ มาจากกำลังการผลิตโรงงาน 1-9 และในช่วงไตรมาส 4 ปี 64 จะมีกำลังการผลิตโรงงานแห่งที่ 10 เข้ามาเสริมด้วย

โดยโรงงานแห่งที่ 10 เป้าหมายการลงทุนต้องการมาสนับสนุนความต้องการ (ดีมานด์) ของโครงการลงทุนอีอีซี และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ปัจจุบันบริษัทมีการพูดคุยกับผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลโครงการดังกล่าวบ้างแล้วในการใช้ผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงของบริษัท คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเวนคืนที่ดิน 

นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการติดตามอย่างใกล้ชิด อย่าง โครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงของ มูลค่ารวม 7.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งทางบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เสนอต่ำสุด 2 สัญญา ซึ่ง CK เป็นลูกค้าที่ใช้บริการผลิตภัณฑ์ของบริษัทมานานแล้ว คาดว่าโครงการดังกล่าวบริษัทอาจจะมีโอกาสได้งาน หากย้อนดูที่ผ่านมาปี 2562 บริษัทเป็นผู้รับเหมาช่วง (ซับ​คอนแทรค) งานฐานรากโครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางจิระ-ขอนแก่น ให้ CK มูลค่า 140 ล้านบาท 

และโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางบ้านไผ่-​มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 6.6 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่างานฐานรากของทั้ง 2 โครางการ คิดเป็นมูลค่าลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเฉลี่ยงานโครงการหลักๆ จะเป็นงานฐานรากคิดเป็นประมาณ 12-18% ของโครงการทั้งหมด และทั้ง 2 โครงการดังกล่าวบริษัทมีโรงงานผลิตคอนกรีตอัดแรงตั้งอยู่แล้ว 

สำหรับ 'จุดเด่น' ของบริษัทนั้น มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องงการของลูกค้า ตลอดจนมีโรงงานกระจายอยู่ในหลายภูมิภาคของประเทศ ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน ด้วยต้นทุนค่าขนส่งที่อยู่ในระดับต่ำ

162642488415

นอกจากนี้ บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงของบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มกำลังการผลิต และลดอัตราการสูญเสียโอกาสการผลิตได้

ขณะที่ ผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี (2561-2563) มี 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ 85.74 ล้านบาท 93.23 ล้านบาท และ 140.60 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็น 'อัตรากำไรสุทธิ' 4.75% 5.44% และ 9.07% ตามลำดับ ส่วน 'รายได้' รวมอยู่ที่ 1,804.54 ล้านบาท 1,712.83 ล้านบาท และ 1,550.33 ล้านบาท ตามลำดับ สะท้อนความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุน และมุ่งเน้นการเติบโตของกำไรเป็นสำคัญ 

ทว่า ปัจจุบันแม้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ระบาดแต่บริษัทสามารถบริหารจัดการได้อย่างดี สะท้อนผ่านกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2564 จำนวน 32.89 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 8.23% และมีรายได้อยู่ที่ 399.90 ล้านบาท รวมทั้งปัจจุบันมีงานในมือเติบโตแข็งแกร่ง

ท้ายสุด 'วัฒน์ชัย' ทิ้งท้ายไว้ว่า กลยุทธ์บริษัทต้องการมุ่งสู่การเป็นผู้นำทางด้านคอนกรีตอัดแรงรายใหญ่ของประเทศ รวมทั้งสะท้อนการเป็นหุ้นเติบโตแบบ Growth Stock ประกอบกับนโยบายการจ่ายปันผลที่ดีในอัตราไม่ต่ำกว่า 40%