'วิกฤติวัคซีน' ลาม ฉุดเศรษฐกิจประเทศ

'วิกฤติวัคซีน' ลาม ฉุดเศรษฐกิจประเทศ

ประเทศไทยยังคงติดหล่ม "วิกฤติวัคซีน" ที่ลุกลามมากขึ้น จนส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศถดถอยตามไปด้วย ขณะที่ความสับสนในสังคมยิ่งทวีคูณทุกวัน จาก "ข้อมูลคนละทิศทาง" ที่ออกมาจากรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ความวุ่นวายอลหม่านของ วัคซีน โควิดในประเทศไทย ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ ความไม่ชัดเจนมีอยู่ในทุกขั้นตอน ความโปร่งใสยิ่งไม่ต้องถามถึง “ชุดข้อมูล” ที่ออกจากรัฐบาลและทีมงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เคยสร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้นให้ประชาชน ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ

คนไทยรับรู้ข้อมูลกันอย่างสับสน โดยเฉพาะสูตรฉีดวัคซีนแบบสลับ หรือแบบไขว้ชนิด เพื่อยับยั้งเชื้อกลายพันธุ์ ประชาชนไม่รู้จะเชื่อใคร? เพราะคนที่ออกมาพูดมีมากเหลือเกิน พูดกันไปคนละทิศคนละทาง เหตุใดรัฐบาลถึงปล่อยให้การสื่อสารในเรื่องสำคัญกับชีวิตคนในประเทศมีความสับสนได้มากขนาดนี้ ประชาชนต้องหาข้อมูลกันเอง เดากันเองผ่านโลกอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย แน่นอนว่ามีทั้งข้อมูลจริง และข้อมูลเท็จ 

การสื่อสารในภาวะวิกฤติจำเป็นอย่างยิ่ง “คอนเทนท์” ที่รัฐส่งถึงประชาชน ต้อง “ชัดเจน” และเป็น “เรื่องจริง” ขณะที่คอนเทนท์กว่าจะเดินทางมาถึงประชาชน อาจต้องผ่านหลายหน่วยงานที่ถูกบิด ถูกทอน คำพูดบางส่วน แล้วใส่ความเห็น ความคิดของตัวเองลงไป นี่เป็นอีกจุดที่ก่อให้เกิดความแตกแยกทางความคิดของคนในประเทศ การพูดไม่หมด และไม่พูดข้อเท็จจริงในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตของคน กำลังเป็นวิกฤติใหญ่ของรัฐบาลชุดนี้และคนทั้งประเทศ การบริหารจัดการที่ผิดพลาด ตั้งแต่การจัดหาวัคซีน ความไม่โปร่งใส และการทำงานที่ไร้เอกภาพ กำลังฉุดให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาดได้ช้าลง 

เวิลด์แบงก์ บอกว่า เศรษฐกิจประเทศไทยยังคงถูกกระหน่ำอย่างหนักต่อไปอีกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 2.2% ในปีนี้ ปรับลดลงจาก 3.4% ที่คาดไว้เมื่อเดือน มี.ค. ความช่วยเหลือคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงแรงงานนอกระบบยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามา มีจำนวนต่ำมากจนถึงสิ้นปี 2564 จากเดิมไทยมีสถิติจำนวนการเข้ามาของนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนเมื่อปี 2562 แต่จำนวนที่คาดการณ์ปีนี้ถูกปรับลดลงอย่างมากจาก 4-5 ล้านคนเหลือเพียง 6 แสนคนเท่านั้น

โควิด-19 ที่ปะทุหลายระลอก ดันไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤติสาธารณสุขอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เรามีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าที่โรงพยาบาลจะรับไหว แม้จะเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลสนาม เพิ่มจำนวนเตียง จัดหาเครื่องมือทางการแพทย์รองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น

แต่ปัญหาสำคัญ คือ เราไม่มีทางเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ได้ในทันทีทันใด การทำงานของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ รวมถึงเจ้าหน้าที่บริการทางการแพทย์ที่เป็น “ด่านหน้า” ยังต้องทำงานอย่างเต็มพิกัด ไม่ได้หยุดพัก ต้องเผชิญภาวะที่น่าหดหู่ทุกวัน ขวัญและกำลังใจให้พวกเขาต้องมี

ขณะที่ รัฐต้องเร่งสางปัญหา คลายปมที่ไม่ชัดเจน ทุกฝ่ายที่มีความรู้ มีปัญญา ต้องหาจุดสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ร่วมมือกัน เดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน การชิงพื้นที่หาผลประโยชน์ใส่ตัวในภาวะวิกฤติแบบนี้ “ไม่ควรเกิดขึ้น”