EECi : แม่เหล็กแห่งใหม่        ของภูมิภาค

เมื่อรัฐบาลได้ประกาศแผนอัพเกรดพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็น “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)”

เมื่อรัฐบาลได้ประกาศแผนอัพเกรดพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ใน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็น “เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” ตั้งแต่ปี 2560 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนขนานใหญ่เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ ท่าเรือ สนามบิน ระบบน้ำ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงที่ต้องการดึงให้เข้ามาลงทุนมากขึ้นในอนาคต

พื้นที่นวัตกรรมที่ถูกประกาศเป็น “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” ภายใต้กฎหมาย EEC มีอยู่ด้วยกัน 4 แห่ง คือ เขตนวัตกรรมอีอีซีที่ระยอง (EEC of Innovation : EECi) เขตส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัลที่ศรีราชา (Digital Park Thailand : EECd) ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์พัทยา (Medical Hub : EECmd) และเขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา

เขตพิเศษทั้ง 4 แห่ง มีแนวคิดและจุดเด่นแตกต่างกัน มีความก้าวหน้าของโครงการไม่เท่ากัน ดูเหมือนว่าโครงการที่คืบหน้ามากที่สุด คือ เขตนวัตกรรม EECi ที่มีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับกลุ่ม ปตท. เป็นเจ้าภาพ ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 3,000 ไร่ ที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

“ ผมเองมีโอกาสไปเยี่ยมชม 5 ครั้ง และได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนทุกครั้ง EECi ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่พัฒนาต่อยอดจากพื้นที่ “วังจันทร์ วัลเลย์” ที่กลุ่ม ปตท. และพันธมิตร ไปลงทุนจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับ World class ”

กำหนดไว้ 2 แห่ง คือ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) เน้นกลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิต-วิทย์ระดับมัธยมปลาย และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เป็นมหาวิทยาลัยวิจัย เปิดสอนเฉพาะระดับปริญญาโท-เอก มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และเทคโนโลยี โดยเฉพาะสาขาพลังงาน ดิจิทัล AI และ Biomolecular ซึ่งนักศึกษาเหล่านี้จะเป็นฐานการพัฒนา EECi ได้เป็นอย่างดี

EECi ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการวิจัยที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและสังคม การขยายผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ และการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมทั้งเป็นแหล่งรวมเครื่องมือเฉพาะทางคุณภาพสูง ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงได้

นอกจากสถาบัน KVIS, VISTEC และอาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะที่เปิดใช้งานแล้ว ยังมีอีกหลายส่วนที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จะทยอยเปิดให้บริการในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เช่น ส่วนที่จะเปิดปลายปีนี้ คือ Co-working Space ชั้นนำจากต่างประเทศ สนามทดสอบ UAV ขนาด 9,000 ตารางเมตร และอาคารวิจัยด้านปิโตรเลียมและพลังงาน

ในปีหน้า จะเปิดให้บริการกลุ่มอาคารขนาดใหญ่รองรับการวิจัยและพัฒนา พร้อมกับศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) เพื่อช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0 และสนามทดสอบรถยนต์อัตโนมัติ ขนาด 26 ไร่ ถัดมาในปี 2566 จะเปิดโรงงานต้นแบบ Biorefinery แห่งแรกของอาเซียน ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท Bio Base Europe กับ สวทช. และเปิดพื้นที่ Community Zone บริเวณด้านหน้าโครงการ ตามมาด้วย ศูนย์วิจัยแสงซินโครตรอน ที่จะมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนรุ่นใหม่ 3-GeV พร้อมให้บริการในปี 2570

ในด้านสิทธิประโยชน์ บีโอไอ ให้สิทธิพิเศษสำหรับการลงทุนในเขต EECi ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนา กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ บริการสอบเทียบมาตรฐาน หรือการออกแบบทางวิศวกรรม นอกจากจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีแล้ว ยังบวกด้วยการลดหย่อนภาษีเงินได้50% อีก 5 ปีด้วย

เมื่อโครงการทั้งหมดนี้เสร็จสมบูรณ์ จะพลิกโฉมพื้นที่ 3,000 ไร่ ที่วังจันทร์วัลเลย์ ให้เป็น “เมืองนวัตกรรมที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดของภูมิภาคอาเซียน” EECi จะเป็นโครงการสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยอยู่บนแผนที่นวัตกรรมของโลก และจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำให้เข้ามาตั้งฐานใน EEC ได้สำเร็จ