กรมชลฯสั่งกักน้ำทุกเม็ด หลังทั่วประเทศเขื่อนมีน้ำน้อย วอนเกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลัก

กรมชลฯสั่งกักน้ำทุกเม็ด หลังทั่วประเทศเขื่อนมีน้ำน้อย วอนเกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลัก

รองอธิบดีกรมชลประทาน สั่งกักน้ำทุกเม็ด หลังทั่วประเทศเขื่อนมีน้ำน้อย วอนเกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลัก

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า  ขณะนี้กรมได้สั่งกำชับให้ทุกโครงการชลประทานติดตามสภาพอากาศจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ภายหลังที่กรมอุตุฯคาดหมายว่าในช่วงวันที่ 14 – 16 ก.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 17 – 20 ก.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและลาวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง

162632048673

 โดยให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติ ควบคุมทั้งปริมาณการกักเก็บและการระบายน้ำในแต่ละช่วงเวลาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด   เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างและเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด โดยเป็นไปตามเกณฑ์การกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve)

“ให้บริหารโดยดูทุกมิติ โดยยึดข้อกำชับของนายกรัฐมนตรี เมื่อ  30 พ.ค.64 เป็นแนวปฏิบัติที่ให้ติดตามประกาศกรมอุตุฯและต้องพร้อมช่วยเหลือประชาชนทุกโอกาสทั้งแล้งทั้งท่วม  อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมชลฯให้เจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจกับประชาชน เกษตรกรในการทำการเกษตรเน้นใช้น้ำฝนให้มาก  โดยเขื่อนจะกักเก็บน้ำให้มากที่สุดเนื่องจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศมีปริมาณน้ำน้อย ณ  วันที่  14 ก.ค.2564 พบว่ายังสามารถรับน้ำได้กว่า 42,400  ล้าน ลบ.ม.

แบ่งเป็นภาคเหนือสามารถรับน้ำได้17,770 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถรับน้ำได้ 5,540 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลางรับน้ำ 1,470  ล้านลบ.ม. ตะวันออกรับได้1,490  ล้านลบ.ม. ตะวันตกรับได้12,000 ล้านลบ.ม.  และภาคใต้รับได้ 3,940 ล้าน ลบ.ม.


ปัจจุบันมีฝนตกแล้วในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นผลดีต่อภาคการเกษตร ทั้งนี้ ได้กำชับทุกพื้นที่เฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือ กรณีน้ำป่าไหลหลากหรือเกิดอุทกภัย โดยทางกรมชลประทาน ได้มีการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำล้นตลิ่ง ได้กำหนดคน และจัดสรรเครื่องจักรเครื่องมือไว้แล้ว พร้อมดำเนินการในทุกพื้นที่“ ดร.ทวีศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ กรมยังได้วางแนวปฏิบัติสอดคล้องกับการคาดการณ์สถานการณ์ฝนของประเทศที่กรมอุตุฯโดยเฉพาะการคาดการณ์การเกิดพายุประมาณ 2-3 ลูกในช่วง ส.ค.-ก.ย. ที่จะผ่านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคเหนือ

ทั้งนี้ให้นำข้อห่วงใยของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน  รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ห่วงใยประชาชนซึ่งกำชับการบริหารน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และกรณีระบายน้ำต้องระวังพื้นที่ท้ายน้ำและริมตลิ่งด้วย    ขณะเดียวกันก็ต้องสำรองน้ำให้ได้มากที่สุดเพื่อใช้ในปีต่อไปรวมถึงเน้นการทำงานเชิงรุกและประสานกับพื้นที่เพื่อให้ทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุด

162632050169

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ( 14 ก.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 33,643 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การ 9,713 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 19 สามารถรับน้ำได้อีกรวม 42,423 ล้าน ลบ.ม.

โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,451 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การ 766 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 4 ในขณะที่มีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วทั้งประเทศรวม 10.44 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 63 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 5.11 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ64 ของแผนฯ