"ประยุทธ์"หลบพิษโควิด  ถอยการเมือง ดันทีมหมอนำ

"ประยุทธ์"หลบพิษโควิด  ถอยการเมือง ดันทีมหมอนำ

พล.อ.ประยุทธ์ ถอยยอมฝ่ายการเมือง คืนอำนาจให้ทีมแพทย์นำ เปิดทางให้กระทรวงสาธารณสุขออกแสดงบทบาท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน 

การบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ผิดพลาด ทำให้ช่วงขวบเดือนที่ผ่านมา กระแสกดดันให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง หรือประกาศยุบสภา มีมากจนท่วมโซเชียลมีเดีย คนหลากหลายวงการ ทั้งเซเลบ-ไม่เซเลบ ออกมาร่วมขับไล่ “ประยุทธ์”

จากเดิมกระแสต่อต้านจะพุ่งเป้าไปที่ตัวของ “หมอหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข แต่ผลจากการรวบอำนาจไปบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 เองเกือบหมด ทำให้เป้าถูกล็อกไปที่ตัวของ “ประยุทธ์” เอง

การบริหารสไตล์ “ประยุทธ์” ถูกสะท้อนความผิดพลาดจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยมองว่า รัฐบาลไทยผ่านการระบาดระลอกแรกมาได้ แต่รัฐบาลเชื่อมั่นในตัวเองสูงเกินไปว่าจะสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในระดับต่ำได้ตลอดไป

“เมื่อรัฐบาลผิดพลาดในการควบคุมโรคและการบริหารจัดการวัคซีน ประเทศก็กลับเข้าสู่วิกฤติด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง” ทีดีอาร์ไอ ระบุ

เห็นได้ว่าเกือบทุกภาคส่วนฉายภาพความผิดพลาดของ “ประยุทธ์-รัฐบาล” ได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะแผนการบริหารจัดการวัคซีนที่ “ประยุทธ์-อนุทิน” เลือกแทงม้าตัวเดียว ไม่กระจายความเสี่ยงด้านวัคซีน มั่นใจว่าวัคซีนที่เลือกให้เป็นวัคซีนหลัก จะมีประสิทธิภาพมากพอ และมีกำลังผลิตได้ทันตามออเดอร์ที่สั่งจองไว้

ทว่าวัคซีนหลัก 2 ยี่ห้อ กลับไม่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ “ซิโนแวค” ถูกวิจารณ์ว่ามีปัญหาด้านประสิทธิภาพ ไม่เชื่อมั่นว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้มากพอ จนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว

ขณะเดียวกันวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ คู่สัญญาของรัฐบาล ก็ไม่สามารถจัดส่งให้รัฐบาลไทยได้ทันตามกำหนดและไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ แม้จะเร่งกำลังการผลิตขึ้นมา แต่ก็ต้องจัดส่งวัคซีนบางส่วนให้กับต่างประเทศ ตามคำสั่งซื้อที่มีอยู่

เมื่อแผนทุกอย่างที่วางเอาไว้พลาดเป้า การระบาดระลอก 3 และระลอก 4 มาจากโควิด-19 กลายพันธุ์ แถมเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้อย่างสายพันธุ์อัลฟ่า-เดลตา ทำให้ยากที่จะรับมือ เนื่องจากสัดส่วนที่ประชาชนได้รับการฉีควัคซีนยังน้อยอยู่มาก

ที่สำคัญวัคซีนหลักที่ใช้ฉีดอยู่ในระยะแรกคือ “ซิโนแวค” จึงทำให้ “ประชาชน” ขาดความเชื่อมั่นในการบริหารงานของ “พล.อ.ประยุทธ์” อย่างรุนแรง จึงเกิดปฏิกิริยาสะท้อนผ่านโซเชียลมีเดีย

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังพลาด ที่แสดงท่าทีทองไม่รู้ร้อน ทั้งที่ภัยจะถึงตัว เมื่อให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างสนุกสนาม ทั้งที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่มาของคำว่า “นะจ๊ะ” ที่ถูกนำมาทำเป็นมีมเสียดสี “ผู้นำประเทศ”

ช็อตต่อมา นายกฯประยุทธ์ยังปฏิเสธที่จะตอบคำถามสื่อมวลชน ระหว่างร่วมเปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ที่ถามตรงๆ ว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ทำสถิติสูงสุดรายวัน แต่ผู้บริหารประเทศกลับลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ทำให้ภาพจังหวะที่นายกฯ เดินหนีคำถามจากสื่อมวลชน ถูกนำมาตั้งคำถามถึงวุฒิภาวะของ “ผู้นำประเทศ”

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องกักตัวเนื่องจากอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยทำงานที่บ้านพักภายใน ร.1 รอ. และเจตนาโพสต์ภาพนั่งโต๊ะทำงาน โดยพยายามสื่อสารว่า ทำงานโดยการปิดทองหลังพระ แต่กลับถูกกระแสโจมตีมากกว่าเสียงชื่นชม เพราะคนทำงานปิดทองหลังเขาไม่พูดกัน

เมื่อการสื่อสารที่ผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์บวกรวมกับการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ล้มเหลวทั้งระบบ จึงไม่แปลกที่เสียงเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงเริ่มดังไปทั้งประเทศ

ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังโชคดี ่ที่การชุมนุมบนท้องถนนมีข้อจำกัดของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 อยู่ “มวลชน” ที่ออกมาเดินบนถนน เพื่อเรียกร้องให้ลาออก-ยุบสภา จึงมีค่อนข้างน้อย ไม่มีพลังมากพอที่จะกดดันโดยตรงได้

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเริ่มรู้ตัวแล้วว่าอาจถูกต้อนให้จนมุม จึงต้องหลบฉาก ปรับบทบาทของตัวเองจากที่ยึดอำนาจบริหารจัดการเกือบทั้งหมด กลับไปผ่อนภาระแบ่งงานให้ผู้รับผิดชอบโดยตรงดูแล

จึงเห็นภาพของ “นายแพทย์” แห่งกระทรวงสาธารณสุข ออกมาแถลงข่าวให้ข้อมูลด้านการแพทย์เกี่ยวกับแผนการบริหารจัดการวัคซีน การดูแลตัวเองอยู่ที่บ้าน เป็นต้น

โดยเฉพาะการปรับสูตรการฉีดวัคซีน ที่อนุมัติให้ฉีด “ซิโนแวค” เข็มแรก ฉีด “แอสตร้าเซเนก้า” เข็มสอง ว่ากันว่าแผนดังกล่าว “ทีมแพทย์” ไม่ได้แจ้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค.รู้แนวทางก่อนที่จะมีมติด้วยซ้ำ เพราะเป็นแผนที่กระทรวงสาธารณสุข ประเมินแล้วว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ด้านวัคซีน

เนื่องจากวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า ไม่มีทางจัดส่งได้ครบ 63 ล้านโดสภายในปีนี้อย่างแน่นอน การปรับสูตรฉีดวัคซีนจึงจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด นี่จึงเป็นคำตอบว่าเหตุใด “ประยุทธ์-รัฐบาล” จึงอนุมัติงบประมาณสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมอีก

จากนี้ ต้องติดตามดูว่าแผนการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถอยยอมฝ่ายการเมือง คืนอำนาจให้ทีมแพทย์นำ เปิดทางให้กระทรวงสาธารณสุขออกแสดงบทบาท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน จะได้ผลในการกู้วิกฤติให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้หรือไม่