ศบค. ตั้งทีม CCRT เคลื่อนที่เร็วเบ็ดเสร็จ ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน

ศบค. ตั้งทีม CCRT เคลื่อนที่เร็วเบ็ดเสร็จ ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน

ศบค. ตั้งทีม CCRT เคลื่อนที่เร็วเบ็ดเสร็จ 200 ทีม ทั่วกรุง ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชน พร้อมติดตามรักษาแบบ Home Isolation พร้อมเตือนประชาชนใช้ Antigen Test Kit หากผลเป็นลบแต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ควรตรวจซ้ำใน 5-7 วัน เหตุการอ่านค่าไม่แม่นยำหากเชื้อต่ำ

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 64 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า ที่ประชุมในวันนี้ มีการพูดคุยถึงแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด -19 เชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งรองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้เสนอสถานการณ์ล่าสุดพบว่าประชาชนยังคงมีความต้องการเตียงสูงมาก ซึ่งในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการพูดคุยถึงการทำ Home Isolation และ Community Isolation ซึ่งหลังจากนี้ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ด้วยอัตราผู้ติดเชื้อจำนวนมากมีผู้ป่วยระดับสีเหลืองและสีแดงที่มีความต้องการเตียงอย่างเร่งด่วนเป็นจำนวนมาก จึงขอสงวนเตียงที่เหลือเพื่อรองรับผู้ที่มีความรุนแรงเข้าโรงพยาบาล เพราะฉะนั้นในระดับชุมชนจะมีการจัดทีมเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จ หรือ CCRT หรือ Primary Care จำนวน 200 ทีม ซึ่งจะมีบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรฝ่ายความมั่นคง บุคลากรของเขต ทั้ง 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งจะมีหน้าที่ค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน เพื่อคัดกรองแยกผู้ป่วยออกจากคนปกติได้อย่างรวดเร็ว ให้การรักษาเบื้องต้น ให้ยา หากผู้ป่วยนั้นมีความต้องการที่จะต้องดูแลรักษา ก็จะมีการจัดสรรให้แยกกับที่บ้านหักมีอาการอยู่ในกลุ่มสีเขียว หากมีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน จะให้อยู่ในสถานที่พักคอยในชุมชน หรือโรงพยาบาลสนามชุมชน และจะมีการติดตามเป็นระยะเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออาการที่อาจจะแย่ลงจะมีการส่งต่อประสานงานให้ได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยถึงการใช้ แอนติเจน Test หรือที่อาจเรียกกันว่า rapid Test ซึ่งทางการแพทย์มักจะใช้ในขณะที่จำเป็นฉุกเฉิน และรอนานไม่ได้ แต่ด้วยข้อจำกัดการตรวจในลักษณะนี้มีความแม่นยำต่ำ ถึงไม่แนะนำให้นำมาใช้ก่อนหน้านี้ แต่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป มีความต้องการการตรวจที่มากขึ้น การติดเชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หากต้องรอผลการติดเชื้อนาน 1-2 วัน อาจทำให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงมีการหารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนในการนำและ rapid Test ที่มีมาตรฐานที่ยอมรับได้มาหารือกัน โดยในวันนี้เวลา 13:30 น ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะมีการแถลงนโยบายหรือทิศทางการใช้ rapid test โดยหลักการหากเริ่มติดเชื้อหรือติดเชื้อ หรือมีเชื้อไม่มาก ผลตรวจอาจออกมาเป็นลบ แต่ขอประชาชนอย่านิ่งนอนใจ จะต้องมีการเฝ้าระวังอาการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในรายที่มีประวัติสัมผัสผู้ที่มีการติดเชื้อยืนยันก่อนหน้านี้ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีการสัมผัสเสียงสูง และระหว่างที่เฝ้ารออาการจะต้องมีการแยกกักตัวเอง โดยสาธารณสุขแนะนำให้ตรวจซ้ำในวันที่ 5-7 โดยหากเป็นผู้ติดเชื้อ 5-7 วันปริมาณเชื้อจะมีจำนวนมาก การตรวจโดยวิธี antigen Test Kit ตรวจแล้วก็จะตรวจแล้วได้ผลแม่นยำมากกว่า ส่วนผู้ที่ตรวจแล้วผลเป็นบวกตั้งแต่ครั้งแรกขอให้เข้าระบบ ติดต่อไปยัง 1330 และนำไปสู่การตรวจด้วยวิธีมาตรฐานเพื่อยืนยันการติดเชื้อ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ปลอดภัย

ขณะที่รายงานการฉีดวัคซีนประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2564 มีการฉีดเพิ่มขึ้น 100,025 โดส ทำให้ยอดรวม อยู่ที่ 12,569,213 โดส ซึ่งจากที่ผ่านมาในการกำหนดมาตรการจากนี้ทางศบค.ขอความร่วมมือให้หน่วยฉีดวัคซีนทั้งกทมและปริมณฑล เร่งระดมการฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยง 7 โรค ซึ่งมีรายงานว่าสถานีกลางบางซื่อจะจัดให้มีการฉีดบุคคลทั่วไป โดยที่ผ่านมากทมมีการระดมฉีดกว่า 6000 รายต่อวันเป็นอย่างต่ำ ในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่ม 7 กลุ่มโรคเสี่ยง และจะมีการเพิ่มจำนวนให้เร็วขึ้นและครอบคลุมกลุ่มผู้ติดเชื้อให้มากขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้

ส่วนการฉีดวัคซีนครบแล้ว อาจมีความเสี่ยงในการเป็นผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงเสียชีวิต นั้น แพทย์หญิงอภิสมัยระบุว่า ในทางสาธารณสุขระบุว่า ยังมีความเป็นไปได้ โดยมีข้อมูลจากทางสหรัฐอเมริกา มีรายงานใน Los Angeles มีจำนวนประชากรฉีดวัคซีนไปแล้ว 4.5 ล้านคน ครบทั้ง 2 เข็ม ซึ่งอัตราการติดเชื้อยังมีอยู่ แต่พบว่าเป็นจำนวนที่ติดเชื้อค่อนข้างต่ำ แล้วพบกันเสียชีวิต 20 คนหรือ 0.004 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นข้อมูลระบุว่าแม้ว่าการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส แต่ยังสามารถเป็นผู้ติดเชื้อผู้แพร่เชื้อ และอาจมีอาการทรุดลงป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ซึ่งจากรายงานระบุว่ากลุ่มผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เป็นกลุ่มผู้เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ซึ่งจำเป็นต้องกดภูมิคุ้มกัน หรือคนไข้ที่อยู่ในดงเชื้อระบาดกันอย่างรุนแรง

ขณะที่รายงานความคืบหน้าโครงการภูเก็ต sandbox ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตจะต้องใช้มาตรการคัดกรองเข้าพื้นที่เดียวกัน ตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 3491/2564 ซึ่งต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสอย่างน้อย 14 วัน เป็นผู้หายป่วยจากโรค โควิด -19 มาแล้วไม่เกิน 90 วัน ได้รับการตรวจเชื้อ covid19 ด้วยวิธี แอนติเจน Test หรือ RT-PCR ต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นหมอชนะและยินยอมใช้แชร์โลเคชั่นตลอดเวลาที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ต ต้องแสดงเอกสารหลักฐานขั้นต้นต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อก่อนเข้าจังหวัดภูเก็ต สังเกตอาการด้วยตนเอง ตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคหากพบอาการป่วยหรือสงสัยว่ามีอาการป่วยโควิด -19 ให้พบแพทย์โดยด่วน

โดยในช่วงท้ายแพทย์หญิงอภิสมัยระบุว่า การใช้มาตรการเข้มข้นจะเริ่มในวันนี้และใช้ไปอีก 2 สัปดาห์ ซึ่งคาดหวังว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อหรือผู้เสียชีวิตน่าจะมีแนวโน้มในทางที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตามก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนและให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรฝ่ายความมั่นคง ที่พยายามให้มาตรการที่ออกมานั้นใช้อย่างมีประสิทธิภาพ