ส่อง ‘บก.ลายจุด’ นักกลยุทธ์ ‘คาร์ม็อบ’

ส่อง ‘บก.ลายจุด’  นักกลยุทธ์ ‘คาร์ม็อบ’

เมื่อถึงวันดีเดย์ 18 ก.ค.2564 ทั้ง “ม็อบคน” และ “คาร์ม็อบ” อาจสร้างความปั่นป่วนไปทั้งเมืองหลวง และอาจส่งผลสะเทือนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

 จับสัญญาณการแสดงออกผ่านโซเชียลของคนไทยหลากหลายกลุ่ม ที่มีต่อรัฐบาลประยุทธ์ในมหาวิกฤตโควิด นักวิเคราะห์การเมือง คงต้องใช้คำว่า สถานการณ์ “สุกงอม” แล้ว สำหรับการเคลื่อนไหวบนท้องถนน

ด้วยเหตุนี้ อานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มราษฎร จึงตัดสินใจเปิดยุทธการไล่ประยุทธ์ ชนิดบวกเป็นบวก

 “ความจริงวันนี้ ถ้าไม่หยุดประยุทธ์ สถานการณ์จะเลวร้ายขึ้นไปอีก 18 กรกฎานี้ ขอแรงทุกคนอีกครั้ง ออกไปไล่รัฐบาลประยุทธ์อย่างพร้อมเพรียง ไล่แบบไล่จริงจัง”

แอดมินเพจเยาวชนปลดแอก ก็ขานรับ “..18 กรกฎาคมนี้ ถึงเวลาทวงคืนอนาคต ทุกความสูญเสีย หยาดเหงื่อ หยดน้ำตา และเลือดทุกหยด จะต้องได้รับความยุติธรรม ถึงเวลาลุกขึ้นสู้”

ก่อนจะถึงวันที่ “ม็อบสามนิ้ว” เคลื่อนทัพ วันเสาร์ที่ 10 ก.ค.2564 “บก.ลายจุด” หรือ สมบัติ บุญงามอนงค์ จะอุ่นเครื่อง “คาร์ม็อบ” กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “กดแตรไล่ประยุทธ์”

สำหรับเสาร์นี้ คณะไทยไม่ทน ไม่จัดกิจกรรม เพราะจตุพร พรหมพันธุ์ ได้โทรศัพท์หา “บก.ลายจุด” ฝากฝังให้สานต่อภารกิจไล่ประยุทธ์ และชาวคณะไทยไม่ทน ก็จะมาร่วมคาร์ม็อบด้วย

 กว่าสิบปีมานี้ ชื่อ “หนูหริ่ง” หรือ “บก.ลายจุด” จะถูกบันทึกไว้ในทำเนียบนักเคลื่อนไหวมวลชน ที่ชอบออกแบบการประท้วงเผด็จการ ตามแนวทางการต่อสู้สันติวิธี

 “บก.ลายจุด” ต่อต้านเผด็จการทหาร มาแต่สมัยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ กระทั่งเกิดรัฐประหาร 2549 เขาได้นำพามิตรสหาย จัดกิจกรรมต้านเผด็จการเป็นกลุ่มแรกๆ เมื่อขบวนการประชาชน ขยับเป็น “ม็อบ” ลงสู่ท้องถนน บก.ลายจุด ก็ถอยออกมา

 ปี 2553 หลายคนคงจำกิจกรรม “วันอาทิตย์สีแดง” ได้ดี หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ “บก.ลายจุด” ในบทบาทแกนนอน ได้เปิดปฏิบัติการ “นัดกินแมค” ที่สี่แยกราชประสงค์ พร้อมกับยกป้าย “ที่นี่มีคนตาย”

 กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ครั้งนั้น ได้ปลุกให้คนเสื้อแดงกล้าแสดงตัวตนมากขึ้น เพราะหลังสลายการชุมนุม คนเสื้อแดงตกอยู่ในสภาวะระส่ำระสาย แกนนำถูกจับ มีคนเจ็บคนตาย

 เมื่อกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “ม็อบสามนิ้ว” ออกมาจัดกิจกรรม และเคลื่อนขบวนลงถนน ช่วงเวลานั้น ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “ยุทธวิธี” และการแสวงหา “แนวร่วม”

 โดยเฉพาะการเคลื่อนม็อบรีเด็ม (ม็อบไม่มีแกนนำ) ที่มีการปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชนบ่อยครั้ง จึงมีเสียงสะท้อนจากนักกิจกรรมรุ่นใหญ่ว่า ควรหลีกเลี่ยงการทำม็อบไร้แกนนำ

 ช่วงนั้น บก.ลายจุด ให้สัมภาษณ์สื่อว่า “เราคงอยากจะเห็นม็อบที่ไม่มีความรุนแรง ไม่มีการหยาบคาย แต่สุดท้ายมันก็จะมีสิ่งเหล่านี้หลุดออกมาเสมอ แต่ผมไม่คิดว่านั่นเป็นภาพใหญ่จริงๆ ไม่ว่าจะสีไหนด้วยนะ มันไม่ใช่ภาพใหญ่”

บก.ลายจุดเชื่อว่า พื้นที่การต่อสู้ที่แท้จริงไม่ใช่บนถนน สนามต่อสู้ที่แท้จริงคือการรับรู้และวิธีคิด ความเข้าใจและระบบคุณค่าทางการเมือง ส่วนปฏิบัติการการชุมนุมเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งที่จะเรียกร้องทำให้เกิดความสนใจเพื่อสื่อสารกับสังคม

“ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ที่ตื่นตัวทางการเมือง ยังอยู่ในอารมณ์อยากเอาชนะ ยังมีแบบนี้เยอะ พอเราต่อสู้เราจะไม่ยึดหลักการ และไม่สนใจวิธีการ”

บก.ลายจุด ยึดหลักการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ใช้อารมณ์ขัน ความสนุก ลดความตึงเครียด ด้วยเหตุนี้ เขาจึงออกแบบ “คาร์ม็อบ” กิจกรรมกดแตรไล่ประยุทธ์ ในสถานการณ์การระบาดของโควิด

เนื่องจาก บก.ลายจุด เห็นการชุมนุมของกลุ่มไทยไม่ทน ของจตุพร ที่มีคนเข้าร่วมน้อย สาเหตุอาจมาจากคนกลัวโควิด เขาจึงเลือกเคลื่อน “รถ” แทน “คน”

กิจกรรม “คาร์ม็อบ” อุ่นเครื่องของ บก.ลายจุด(สมบัติทัวร์) เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว ได้ปลุกให้คนชั้นกลางกล้าเข้าร่วมขบวนสมบัติทัวร์มากขึ้น

คาร์ม็อบอาจเปรียบเทียบกับการเคลื่อน “คน” นับหมื่นนับแสนไม่ได้ แต่กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์แบบนี้ มีพลังและสร้างความตื่นตัวได้

เมื่อถึงวันดีเดย์ 18 ก.ค.2564 ทั้ง “ม็อบคน” และ “คาร์ม็อบ” อาจสร้างความปั่นป่วนไปทั้งเมืองหลวง และอาจส่งผลสะเทือนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง