“คมนาคม” นัดถกไตรภาคี ไฮสปีดเวียงจันทน์-คุนหมิง

“คมนาคม” นัดถกไตรภาคี ไฮสปีดเวียงจันทน์-คุนหมิง

รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ภายใต้ความร่วมมือ ด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ถือเป็นโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงสายแรกของไทย อีกทั้งยังเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการเดินทางและการขนส่งเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาเซียน และสาธารณรัฐประชาชนจีน

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ฉายภาพถึงความคืบหน้าโครงการดังกล่าว หลังร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือ ด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน ครั้งที่ 29 ผ่านระบบประชุมทางไกล ร่วมกับนนิ่ง จี๋เจ๋อ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เมื่อเร็วๆนี้ว่า โครงยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เสริมสร้าง ความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน

จากการหารือครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เสนอให้มีการประชุมร่วมไตรภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทย สปป.ลาว และจีน เกี่ยวกับการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างหนองคาย - เวียงจันทร์ เกิดการเดินทางอย่างสะดวก โดยหลังจากนี้จะมีการหารือร่วมไตรภาคีทุกเดือน”

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เผยถึงรายละเอียดของโครงการนี้ว่า โครงการก่อสร้างระยะแรก ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา มีระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท แบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 14 สัญญา ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 สัญญา คือ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง – ปางอโศก อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 สัญญา คือ สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก ลงนามในสัญญาก่อสร้างแล้ว 10 สัญญา อยู่ระหว่างพิจารณา 1 สัญญา คือ สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า เหลือรอประมูล 1 สัญญา คือ สัญญา 4-1 งานโยธา ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง

  162600107068

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีการปิดแคมป์ก่อสร้าง และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ทำให้เอกชนผู้รับเหมางานโยธา ขอเลื่อนการรับมอบหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ (NTP) ออกไปก่อน เนื่องจากยังไม่สามารถเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้างได้ อีกทั้งหลายสัญญาที่เริ่มงานก่อสร้างแล้วก็จำเป็นต้องหยุดชะงัก

รวมไปถึงยังมีสัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30 กม. ราคากลาง 11,063 ล้านบาท ยังไม่สามารถประกาศผลการประมูลได้เนื่องจากติดปัญหาการฟ้องร้องจากเอกชน เหตุ ร.ฟ.ท.ตัดสิทธิ์บริษัท บีพีเอ็นจี จำกัด เพราะไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ ทำให้งานก่อสร้างช่วงนี้ต้องล่าช้าออกไป

ส่วนความคืบหน้าของการดำเนินการช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง เนื่องจากเป็นงานโยธาที่ต้องใช้ร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ต้องใช้ทางวิ่งและโครงสร้างร่วม จึงต้องรอความชัดเจนของสัญญา 4-1 งานโยธา ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ที่ทับซ้อนกับไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน และต้องมีการปรับแบบก่อสร้างโครงสร้างใหม่ ภาพรวมจึงคาดว่าโครงการอาจจะต้องเลื่อนเปิดเล็กน้อยจากกำหนดเดิมที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2568

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าหากไฮสปีดเทรนไทย - จีน เปิดให้บริการ ผลศึกษาคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารที่จะเดินทางโดยใช้รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ– นครราชสีมา ในปีแรกที่จะเปิดให้บริการ คาดว่ามีราว 5.3 พันคนต่อวัน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นกว่า 1.6 หมื่นคนต่อวันในปี 2574

ส่วนผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจของโครงการประเมินอยู่ที่ 11.68% โดยผลประโยชน์ทางตรงที่จะเกิดขึ้น คือ การประหยัดเวลาในการเดินทาง ประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ ประหยัดจากการกําจัดมลพิษ ลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ ส่วนผลประโยชน์ทางอ้อม จะเกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้เกิดการกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากส่วนกลางไปยังพื้นที่ส่วนภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเมืองอย่างก้าวกระโดด

โดยเฉพาะต่อระบบเศรษฐกิจของเมืองในพื้นที่โครงการ และเมื่อโครงข่ายมีความสมบูรณ์ทั้งระบบตลอดแนวเส้นทาง กรุงเทพฯ - หนองคาย เชื่อมต่อไปยังเวียงจันทน์ สปป.ลาว และสิ้นสุดที่คุนหมิง จีน จะเกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับจีน และส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน